ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เปิดศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่ นำเทคโนโลยีอัจฉริยะ ยกระดับท่าเทียบเรือชุด D สู่ Smart Port


ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเรือชั้นนำในประเทศไทย เปิดศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่ (Visitor Center) บริเวณท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น เทคโนโลยีควบคุมระบบจากระยะไกล, บริการติดตามสถานะออนไลน์, แอพพลิเคชั่น UBI, การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, บล็อกเชน, รถบรรทุกไร้คนขับ และเทคโนโลยีควบคุมการผ่านเข้าออกอัตโนมัติ เข้ามาใช้ทำงานภายในท่าเรือ เพื่อให้การทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว มีศักยภาพการบริหารจัดการท่าเรือยกระดับท่าเทียบเรือชุด D สู่ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เปิดศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่

สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ท่าเทียบเรือชุด D เป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ท่าเทียบเรือมีศักยภาพที่ทันสมัยยกระดับสู่ท่าเทียบเรือระดับ Flagship เช่น การนำเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ (Remote Control Technology) นำเข้ามาใช้ในท่าเรือแหลมฉบังเป็นครั้งแรก ซึ่งเทคโนโลยีนี้พัฒนาเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านประสิทธิภาพของท่าเรือแหลมฉบังมากมาย เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงานที่สะดวกสบาย สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตมากขึ้น และมีความถูกต้องแม่นยำ

สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ
สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ

พร้อมกันนี้มีการใช้เทคโนโลยีบริการติดตามสถานะออนไลน์ (Online E-tracking Services) ช่วยให้ผู้ใช้ได้ทราบกำหนดการของเรือขนส่งสินค้าเข้าเทียบท่าหรือออกจากท่า รวมถึงการติดตามการขนส่งตู้สินค้า สามารถวางแผนเคลื่อนย้ายเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าล่วงหน้าก่อนที่เรือขนส่งจะมาถึง อีกทั้งยังอัพเดทสถานะของการขนส่งสินค้า รายงานการขนส่งสินค้าให้ลูกค้าได้รับทราบ ลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลสถานะของตู้สินค้าและตารางเรือแบบออนไลน์ได้ที่ https://etracking.hutchisonport.co.th, แอพพลิเคชั่น UBI (UBI Application) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นรุ่นแรกของฮัทชิสัน พอร์ท ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลตารางเวลาเรือเทียบท่า การติดตามสถานะตู้สินค้าผ่านการเข้าออกท่าเทียบเรือ ใบกำกับผ่านเข้าและออกประตู การแจ้งเตือนสถานะของตู้สินค้า และอื่น ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานโดยตรง ทั้งนี้ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับท่าเรือได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกสถานที่ และทุกเวลาโดยง่าย โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากระบบ iOS และ Android และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions) เพื่อยกระดับของการให้บริการและประสิทธิภาพของกระบวนการชำระเงินให้ง่ายขึ้น มีบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ eBilling และ ePayment ผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกเชื่อมต่อกับระบบประตูอัตโนมัติของท่าเทียบเรือเพื่อให้กระบวนการชำระเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นพร้อม eServices ที่พร้อมให้บริการทุกวันสำหรับการเรียกเก็บเงินและการชำระเงินในท่าเทียบเรือ ซึ่งนำมาใช้ในเดือนธันวาคมนี้

เทคโนโลยีอัจฉริยะ ในท่าเทียบเรือชุด D ในอนาคต

เตรียมนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในท่าเทียบเรือชุด D ในอนาคต

สำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จะนำมาใช้ในอนาคต เช่น เทคโนโลยีสำหรับโครงการเครือข่ายการขนส่งระดับโลก (Global Shipping Business Network : GSBN) ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาให้บริการแก่สายเดินเรือ และผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และถูกต้องแม่นยำ, เทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับ (Autonomous Truck) ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำมาทดลองใช้ในการปฏิบัติในท่าเทียบเรือชุด D เพื่อขนส่งตู้สินค้าระหว่างหน้าท่าและลานตู้สินค้า เทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับติดตั้งด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ (LIDAR-Light Detection and Rage) มาพร้อมเซ็นเซอร์ กล้องตรวจจับ และจีพีเอส ถูกควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการสำหรับท่าเทียบเรือแบบครบวงจร nGen ประจำที่จุดตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยของลานในท่าเรือ และป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาในบริเวณท่าเทียบเรือ เบื้องต้นจะนำมาทดสอบและทดลองใช้งานในเฟสแรก 6 คันในเดือนมกราคม 2563 จากนั้นจะทยอยนำมาใช้ตามจำนวนที่เหมาะสมตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยีควบคุมการผ่านเข้าออกอัตโนมัติ (Gate Automation) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการนำระบบ RFID (Radio Frequency Identification) มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลสินค้า ยานพาหนะ และบุคคล พนักงานขับรถสามารถดำเนินการด้วยตนเองผ่านทางตู้หน้าประตูหรือทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเชื่อมต่อระบบ RFID ที่ได้บันทึกข้อมูลเลขทะเบียนรถและเลขประจำตัวของพนักงานขับรถไว้แล้ว วิธีการนี้จะช่วยลดระยะเวลาของกระบวนการผ่านเข้าออก ที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญท่าเทียบเรือชุด D นี้จะเป็นท่าเทียบเรือชุดแรกที่จะนำระบบ 5 G มาใช้จากนี้ต่อไป

ท่าเทียบเรือชุด D

ท่าเทียบเรือชุด D เฟสแรกเสร็จสมบูรณ์แล้ว 50% คาดขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือของบริษัทฯ 25 ล้านทีอียู

สตีเว่น แอชเวิร์ธ กล่าวถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด D ว่า ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุด D เฟสแรกเสร็จสมบูรณ์แล้วประมาณ 50% และเปิดให้บริการแล้วด้วยความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Super Post Panamax Quay Cranes) จำนวน 6 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Cranes) จำนวน 20 คัน ทั้งหมดติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติการระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบจากศูนย์บริการผู้เยี่ยมชม (Visitor Center) ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งใหม่ บริเวณท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบัง

สำหรับพื้นที่ที่เหลือที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2566 เมื่อก่อสร้างแล้วจะทำให้ท่าเทียบเรือชุด D ของฮัทชิสัน พอร์ทมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี ช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือแหลมฉบังได้อีกประมาณ 40% สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู โดยในปี พ.ศ. 2562 นี้คาดว่า ฮัทชิสัน พอร์ทประเทศไทยจะสามารถขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือของบริษัทฯ ได้ประมาณ 25 ล้านทีอียู และตั้งเป้าว่าในปลายปี พ.ศ. 2563 จะสามารถขนถ่ายสินค้าได้ 30 ล้านทีอียู

ชี้สงครามการค้าจีนและสหรัฐอเมริกาส่งผลการดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือ

สตีเว่น แอชเวิร์ธ กล่าวว่า ปัญหาปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือ คือ สงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากลูกค้าของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยต่างก็ร่วมทำธุรกิจการค้ากับทั้งสองประเทศนี้ ทำให้บางช่วงที่เกิดกรณีพิพาทขึ้นจะทำให้ลูกค้าชะลอการขนถ่ายและส่งสินค้าสู่ทั้งสองประเทศนี้ ทำให้รายได้ของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยในขณะนั้นลดลงแต่ไม่ถึงกับลดลงอย่างฉับพลันเหมือนหลาย ๆ ธุรกิจ เนื่องจากมีการประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปปรับใช้ที่ท่าเทียบเรือชุด A และ C ของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เพื่อยกระดับให้มีศักยภาพที่ทันสมัยขึ้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างของระบบเป็น Manual ซึ่งถูกกำหนดและวางไว้ตามแบบของการก่อสร้างท่าเรือในอดีต บริษัทฯ จึงพยายามที่จะมุ่งมั่นและพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D ด้วยระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ให้ทันสมัยและล้ำหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชื่อมต่อการค้าการเดินเรือไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศอื่น ๆได้อย่างสะดวกมากขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save