สภาวิศวกร แนะ 6 แนวทางให้ภาครัฐแก้ปัญหาระเบิดและเพลิงไหม้ระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม เตรียมจับมือวสท .ลงพื้นที่หากสถานการณ์ดีขึ้น


จากกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติก ในพื้นที่ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เวลาประมาณ 03.30 น. ซึ่งพบว่าเกิดเพลิงไหม้ตัวอาคารโรงงานอย่างรุนแรง และมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ ด้วยขนาดของโรงงานที่มีสารเคมีกว่า 2,000 ตัน จึงก่อให้เกิดกลุ่มควันพุ่งสูงต่อเนื่องนานนับกว่า 25 ชั่วโมงและยังไม่มีท่าทีจะสงบลง แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบข้างรัศมีประมาณ 500 เมตร ได้รับความเสียหายจำนวนมากนั้น

Cr ภาพ : fb วรวิทย์ สิมารักษ์
Cr ภาพ : fb วรวิทย์ สิมารักษ์

ทั้งนี้ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก คือ สไตรีนมอนอเมอร์ (Styrene Monomer) เป็นของเหลวไฮโดรคาร์บอนประเภทสารอะโรมาติก ที่อุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส สามารถติดไฟได้ง่าย จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์อะโรมาติกที่ระเหยง่าย เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงหรือเปราะบางอย่าง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางเดินหายใจ ดังนั้น หากถูกเผาไหม้จะเกิดควันดำหนาแน่นกว่าสารอินทรีย์ทั่วไป สำหรับการรั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต

สภาวิศวกร ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลควบคุม ส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดกรณีภัยพิบัติ เหตุเพลิงไม้ อุบัติภัย ที่เกี่ยวข้องกับทางวิศวกรรมด้วยหลักการทางวิศวกรรมที่ถูกต้องเพื่อลดความสูญเสีย รวมทั้งให้คำแนะนำและพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับภาครัฐ ภายใต้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมในหลากมิติ ได้ระดมความเห็นจากวิศวกรผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ทั้งวิศวกรรมโยธาและผังเมือง วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกันเสนอ 6  ข้อเสนอแนวทางแก่ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว กรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงได้ในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุระเบิดเพลิงไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตเม็ดโฟมและเม็ดพลาสติก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เวลาประมาณ 03.30 น. ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศโดยรอบ   สภาวิศวกร จึงได้ระดมความเห็นจากวิศวกรผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ทั้งวิศวกรรมโยธาและผังเมือง วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ยื่น 6  ข้อเสนอแก่ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว กรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงได้ในอนาคต โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเหตุต่อเนื่อง เพราะถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถควบคุมเหตุการณ์ดังกล่าวได้ แต่พื้นที่เกิดเหตุยังเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพราะเหตุจากอุบัติภัยของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศโดยรอบ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสาธารณภัยด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

2.ต้องติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศ หลังเกิดเหตุต้องรายงานคุณภาพอากาศและปริมาณสารพิษโดยละเอียด ทั้งค่าฝุ่น PM2.5 PM 10 ค่าไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความเสี่ยงอันตรายของสารพิษตกค้างในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. ได้ทำการพัฒนาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อม  Big Data ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผลเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต

3.ต้องจัดทำบัญชีฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นปัจจุบันอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการใช้พื้นที่ทับซ้อนระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ เป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่สีแดง มีการถือครองสารเคมีอันตรายร้ายแรงในปริมาณมาก ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น หากมีฐานข้อมูลดังกล่าว จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ตลอดจนการวางแผนอพยพประชาชนได้อย่างทันท่วงที

4.ต้องมีผังโครงสร้างโรงงานโดยละเอียด การมีผังอาคารโรงงานในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบถึงข้อมูลของโรงงานโดยละเอียด ทั้งโครงสร้างอาคาร เส้นทางภายในโรงงาน ระบบการวางท่อ บริเวณจัดเก็บสารเคมีอันตรายร้ายแรง ฯลฯ และสามารถนำมาใช้ในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการลงพื้นที่ในการระงับเหตุหรือบรรเทาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตของทีมนักผจญเพลิง รวมถึงทรัพย์สินของผู้ประกอบการ

5.ต้องมีนโยบายบริหารจัดการให้กับโรงงานอย่างเป็นธรรม สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ในต่างประเทศมีการจัดวาระประชุมเฉพาะ เพื่อหารือเรื่องการวางนโยบายแก้ไขปัญหาการจัดสรรพื้นที่ระหว่างโรงงานและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถใช้ทั้งมาตรการผลักดันและส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมย้ายออกจากพื้นที่ชุมชน แต่รัฐจำเป็นต้องมีข้อเสนอต่อโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรม เช่น การลดภาษีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในกรณีที่มีการซื้อ-ขาย ฯลฯ หากโรงงานอุตสาหกรรมยังคงต้องการอยู่ในพื้นที่ชุมชน  ก็ต้องพร้อมรับกับกฎเกณฑ์ในการกำกับการประกอบอุตสาหกรรมของภาครัฐ

6.จัดอบรมให้ความรู้นักผจญเพลิง จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ตอกย้ำเรื่องมาตรฐานการควบคุมเพลิงได้เป็นอย่างดี นักผจญเพลิงจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีอย่างถูกต้อง ดังนั้น สภาวิศวกรเห็นควรจัดอบรมแก่นักผจญเพลิงทั้งในระดับท้องถิ่นและผู้สนใจให้เรียนรู้ถึงหลักการดับเพลิงที่ถูกต้อง และเข้าใจถึงอันตรายและความรุนแรงของสารเคมีต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

“ในอนาคตหากสถานการณ์ในพื้นที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สภาวิศวกร พร้อมด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงวิศวกรอาสา เตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์เชิงโครงสร้างตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ และให้ความรู้ด้านความปลอดภัยของอาคารที่พักอาศัยแก่ภาคประชาชนเป็นลำดับต่อไป  ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

กรณีที่ภาคประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างบ้านที่เสี่ยงอันตราย สามารถติดต่อสายด่วน สภาวิศวกร 1303 เพื่อขอข้อแนะนำในการตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น 

                ก่อนหน้านี้ ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โพสต์ลงเฟซบุ๊ค สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถึงกรณีอุบัติเหตุเพลิงไหม้และเกิดการระเบิดของโรงงานผลิตโฟมพอลิสไตรีน (Expanded Polystyrene Foam, EPS foam) ในซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ พร้อม เสนอมาตรการ 5 ข้อที่ต้องทำ เพื่อเมืองไทยปลอดภัยจากภัยพิบัติ ได้แก่

  1. การกำหนดพื้นที่เสี่ยง ที่มีโรงงานทำสารเคมี หรือบรรจุสารเคมีในกทม. หรือแนวที่ท่อแก๊สพาดผ่าน ให้ชาวบ้านได้รับรู้รับทราบ และได้พึงระวัง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ได้มีการป้องกันตน และการเตรียมการอพยพได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งหน่วยงานดับเพลิงของกทม. และจังหวัดปริมณฑลในพื้นที่เสี่ยง ที่มีโรงงานเคมี จะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีแก่นักดับเพลิง ให้พร้อม!
  2. อาจถึงจุดเปลี่ยน ที่โรงงานอันตราย ควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง แน่นอนโรงงานเขาอาจมาก่อน ชุมชนเมืองขยายตามมาเอง… แต่รัฐและเมือง ในต่างประเทศ ได้เสนอความช่วยเหลือทางภาษีและอื่นๆ หากโรงงานเต็มใจย้าย (ที่จริง ขายที่ก็กำไรอภิมหาศาล แล้วนำกำไรไปขยายโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้!)
  3. สำนักงานเขต หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องขึ้นทะเบียนโรงงานทุกประเภท เพื่อจำแนกประเภทเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย (ทุกโรงงานมีความเสี่ยง) เพื่อตรวจสอบ ประเมินทุก 6 เดือน และให้โรงงานส่งรายงานการประเมินตนเอง แบบนี้ได้ความกระตือรือร้น ความเสี่ยงต่อชาวบ้าน ลดน้อยลงทันที!
  4. ต้องรายงานมลพิษ และสารก่อมะเร็งในอากาศ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประชาชนได้ป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว เพราะสารอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดจากเพลิงไหม้เม็ดพลาสติก อันตรายถึงชีวิต
  5. ถึงเวลาพัฒนานวัตกรรม การควบคุมเพลิงสารพิษ เพราะในอดีตเกิดความสูญเสียของนักดับเพลิงจำนวนมาก เพราะฉีดน้ำช่วยลดความร้อนเท่านั้น มิได้ผลยับยั้งเพลิงจากสารเคมี แต่ต้องใช้โฟมดับเพลิง ระเบิดในกทม.และปริมณฑลแบบนี้ เราเจอมาตั้งแต่เด็ก ไม่อยากให้ลูกหลานเรา ต้องพบเจอต่อๆไป

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save