เนคเทค – สศอ.- มูลนิธิสยามกัมมาจล จัด Workshop หนุนการพัฒนาผลงาน โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี’67 เสริมทักษะและความเข้าใจด้าน IoT


ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สศอ.) กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลงาน โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “พัฒนา Young Smart IoTTechnician” เพื่อเสริมทักษะและความเข้าใจเทคโนโลยีด้าน (Internet of Things : IoT)  ให้กับอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา 19 ทีมจาก 12 สถาบัน

 

ดร. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษา โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศ ความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาของประเทศ มีความยินดีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ต่างร่วมมือกันดำเนินงานส่งเสริมทักษะของเยาวชนสายอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ กระทรวงศึกษาธิการ คือ 1.ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 2. เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการเรียนรู้วิชาชีพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของคนทุกช่วงวัย 3.เสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพ การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ  4.การยกระดับคุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต และเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับสากล 5.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น และ6.พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

​          สำหรับประโยชน์และสิ่งที่นักศึกษาอาชีวะและอาจารย์ผู้สอนที่เข้าร่วมในโครงการต่อกล้าอาชีวะ” ปีพ.ศ.2567 ภายใต้แนวคิด “พัฒนา Young Smart IoT Technician” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 คือ จะได้ทักษะการแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การเพิ่มองค์ความรู้ทาง IoT ให้ได้ทราบข้อมูลการทำงานจริงของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่จะนำมาบรรยายภายในงาน รวมทั้งจะได้นำผลสำเร็จของโครงการนี้ไปต่อยอดนำไปบรรจุในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการกำลังเตรียมการปรับปรุงหลักสูตรและเตรียมบุคลากรให้เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์กำลังแรงงานด้านอาชีวะในประเทศ

 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทค มีผู้เชี่ยวชาญที่สำเร็จการศึกษามาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากสามารถที่จะร่วมทำงานกับทุกภาคส่วนในการดำเนินต่อยอดโครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ซึ่งเป็นโครงการเสริมองค์ความรู้จากหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษา เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆและพัฒนาองค์ความรู้เดิมให้มีองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น  เพื่อที่ผู้เข้าร่วมจะได้นำไปใช้พัฒนาทักษะให้มีความเชี่ยวชาญพร้อมทำงานในตลาดแรงงานจริงเมื่อสำเร็จการศึกษารวมทั้งอาจารย์ที่เข้าร่วมจะได้นำไปพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาการเรียนการสอนต่อไป นอกจากนี้ เนคเทค ยังได้เริ่มนำร่องด้วยการพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ช่วยในพัฒนาทักษะนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ทางด้านเทคโนโลยี IoTตามโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องการให้ทันยุคเทคโนโลยีดิจัลมากยิ่งขึ้น ได้แก่ Productivity OEE Production Line Monitoring และWarehouse Management เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้สัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังจะได้รับการพัฒนาทักษะสร้างกำลังคน สร้าง Startup ที่พร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานจริงร่วมทำงานกับแรงงานเดิมและเทคโนโลยีเครื่องจักรเดิมผสมผสานกับการนำองค์ความรู้สมัยใหม่ ทั้ง Big Data, AI และอื่นๆไปใช้ให้เกิดผลประโยชน์ ช่วยให้การทำงานมีศักยภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงานและช่วยพัฒนาประเทศให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้าน Soft Skills และแนวคิดแบบ Entrepreneur จากผู้เชี่ยวชาญตลอดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลงานในโครงการฯ

 

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “พัฒนา Young Smart IoT Technician” ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 มีอาจารย์และนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา สมัครเข้าร่วมโครงการ 36 ทีม จากสถาบันอาชีวศึกษา 25 สถาบัน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ และคัดเลือกเหลือ 19 ทีม จาก 12 สถาบัน ใน 10 จังหวัด เข้าร่วมรับฟังองค์ความรู้และร่วมทำ Workshop กับผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจกว่า 50 คน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทั้งอาจารย์และนักศึกษามีทักษะและความเข้าใจ เทคโนโลยีด้าน IoT ทั้งทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่ออุปกรณ์กับระบบอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเลือก IoT Platform ได้เหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์ พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีมแก่นักศึกษาและอาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ช เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริงและที่สำคัญจะได้มีกำลังคนด้านอาชีวศึกษาที่ตรงกับงานมากขึ้น

 

ดร.สุรพงษ์  เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า โครงการต่อกล้าอาชีวะมีเป้าหมายสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560 – 2579 มีภารกิจในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับเทคโนโลยี (ปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ) รวมทั้งพัฒนาครูอาจารย์ให้มีองค์ความรู้เพิ่มเติม โดยการฝึกอบรมวิชาชีพจากการโครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ นอกจากทางเทคนิคแล้วเรื่องการเรียนรู้ศัพท์เทคโนโลยีภาษาอังกฤษสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องนอกห้องเรียนนำมาแก้โจทย์ต่างๆ ช่วยฝึกทำงานเป็นทีม แก้ปัญหาเป็น และฝึกทักษะอาชีพให้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาตามที่ตลาดแรงงานต้องการโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานไทย สร้างแรงงานที่มีคุณภาพตามตลาดแรงงานและสถานประกอบการต้องการ สร้างนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยคนไทย รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระให้มีคุณภาพมีศักยภาพแข่งขันตามมาตรฐานในระดับสากลและขยายโอกาสทางการศึกษาทางวิชาชีพให้กับทุกๆคน

 

 

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย โดยให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องจึงได้ร่วมมือกับ เนคเทค ดำเนินกิจกรรม โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ซึ่งมีแผนการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลในระดับอาชีวศึกษา สร้างกลุ่ม Young Smart Technician สำหรับนักเรียน นักศึกษา และพัฒนาครูให้เป็น Technician Coaching Teacher ให้มีคุณภาพรองรับความต้องการของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

 

กมลทิพย์ เตชนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลและบริหารระบบดิจิตอลและเทคโนโลยีสนับสนุนการผลิต บริษัท สยามคูโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานในปัจจุบัน หากนักศึกษาที่จบใหม่ทุกๆระดับจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องมีองค์ความรู้ เช่น ทักษะการออกแบบและธุรกิจดิจิทัล ทักษะสร้างสรรค์หรือการคิดวิเคราะห์ ทักษะวิเคราะห์ข้อมูลแลข่าวสาร ทักษะข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและทักษะการทำงานเป็นทีมให้ประสบผลสำเร็จร่วมกัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในการบริหารต้นทุนการผลิตควบคุมต้นทุนให้อยู่ในกรอบการดำเนินงาน ช่วยในการบริหารคลัง ช่วยวิเคราะห์และประมวลผลจำนวนข้อมูลจำนวนมากที่เข้ามาในแต่ละแผนกงานและช่วยในพัฒนาศักยภาพการผลิตในปัจจุบันและในอนาคต เช่น Machine Learning , AI, IoT และโซลูชันต่างๆ เป็นต้น

สำหรับโครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” เป็นโครงการที่ช่วยอบรมเชิงปฏิบัติการสนับสนุนเสริมศักยภาพและเพิ่มองค์ความรู้การเรียนการสอนของนักศึกษาอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมให้มีมากยิ่งขึ้น

 

 

ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาทั้ง 19 ทีมจาก 12 สถาบัน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาท และชุดอุปกรณ์สื่อการสอน Rasbery Pie จำนวน 2 ชุด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการเรียนการสอนวิทยาลัยต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save