สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร คัดค้านก่อสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม – วิถีชีวิตริมน้ำ


สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร คัดค้านก่อสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม - วิถีชีวิตริมน้ำ

สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อพัฒนาพื้นที่สองฝั่งใช้เป็นเส้นทางสัญจร สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการนำร่องก่อสร้างโครงการทั้งสองฝั่งในช่วงแรก จากบริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้าระยะทางรวม 12.45 กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ให้ข่าวพร้อมเดินหน้าสร้างทางเลียบเจ้าพระยาเฟสแรก จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสนทันที หากได้รับจัดสรรงบ 800 ล้านบาท จากงบทั้งหมดกว่า 8,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ประมาณ 5 เดือน และใช้เวลาก่อสร้าง 540 วัน

จากการศึกษาและระดมความคิดเห็นของหลายฝ่ายๆ ที่ได้รับผลกระทบ พบว่าหากดำเนินการก่อสร้างต่อไปแล้วจะส่งผลกระทบต่อสาธารณชน สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำของประชาชนโดยรวมและสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติในอนาคต อีกทั้งการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวยังเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร แถลงจุดยืน 5 ข้อ คัดค้านการดำเนินโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

อัชชพล ดุสิตนานนท์
อัชชพล ดุสิตนานนท์ (ที่3จากซ้าย) นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตามที่ นิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของรัฐบาลพร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ระบุว่ากรุงเทพมหานครพร้อมเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตรทันทีที่ได้รับจัดสรรงบจากรัฐบาล โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้วนั้น แต่ในข้อเท็จจริงยังมีองค์กรและภาคประชาสังคมได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะสมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมนักผังเมืองไทย, สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม, สมาคมอิโคโมสไทย, กรีนพีซ (ประเทศไทย), มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน, มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์, มูลนิธิสุขภาพไทย, มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่, มูลนิธิครีเอทีฟดิสทริก, มูลนิธิเด็ก, สภาองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย, สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม, สถาบันอาศรมศิลป์, เครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำ, เครือข่ายมักกะสัน, เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม, เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายศิลปินรักษ์แม่น้ำ, เครือข่ายเอิร์ธเดย์, ประชาคมบางลำพู, กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ, กลุ่มครีเอทีฟ มุฟว์, กลุ่มบีกทรีส์, กลุ่มคนรักษ์ตลาดน้อย, กลุ่มคนรักษ์เจ้าพระยา, กลุ่มคุ้งบางกระเจ้า, กลุ่มบางกอกริเวอร์, กลุ่มปั้นเมือง, ศูนย์เบาะแสปกป้องศิลปวัฒนธรรม, บางกอก ฟอรั่ม, เดอะแจม แฟคทอรี่, ทอม โพธิสิทธิ์ สตูดิโอ และชุมชนมัสยิดบางอ้อ ซึ่งได้แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด ด้วยเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่โปร่งใส หากดำเนินการก่อสร้างต่อไปจะสร้างความเสียหายมากกว่าสร้างประโยชน์

อีกทั้งการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวและขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งยุติโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตามอำนาจกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำทั้งสองฝั่งคับแคบ รวม 20 เมตร
  3. แม่น้ำเจ้าพระยาควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นตัวขวางกั้นการเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน
  4. การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติพฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง การตกตะกอนในลำน้ำจนถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งกรุงเทพมหานครควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วน รอบด้านก่อนดำเนินการลงเสาเข็มโครงการอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต
  5. ล่าสุดจากการที่กรุงเทพมหานครตัดพื้นที่บางส่วนของโครงการดังออก จากเดิมที่วางแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แม้แต่จากทางภาครัฐเอง ตามที่กรุงเทพมหานครกล่าวอ้าง

“สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร จะผนึกกำลังคัดค้านจนกว่าจะมีการยุติโครงการดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรจากนี้นั้น ต้องศึกษาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ผังเมืองและอื่นในเครือข่ายเองและหากต้องขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญมาร่วมคัดค้านด้วยก็จะดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา ไม่เป็นปฎิปักษ์ต่อกรุงเทพมหานครและต่อรัฐบาล แต่ที่ต้องออกมาคัดค้านเพราะอยากเห็นความสงบเรียบร้อยในสังคมและความโปร่งใสในการดำเนินโครงการภาครัฐต่าง ๆที่จะไม่กระทบและก่อปัญหาต่าง ๆตามมาในอนาคต เพราะหลายๆโครงการภาครัฐที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการล้วนแต่ส่งผลกระทบตามมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยที่จะถูกวัฒนธรรมต่างชาติกลืนกินเฉกเช่นปัจจุบัน” อัชชพล กล่าว

ส.ศิวรักษ์
ส.ศิวรักษ์ (ที่2 จากขวา) นักคิดและนักประวัติศาสตร์

นักวิชาการผนึกกำลังภาคประชาชนเดินหน้าคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดและนักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนที่จัดทำโครงการไล่รื้อชุมชน ไล่ที่อยู่ของประชาชนโดยเฉพาะชุมชนเก่าแก่ริมน้ำที่มีวิถีชีวิต มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและความเป็นอยู่จากสมัยรุ่งเรืองจากรุ่นสู่รุ่น แต่สำหรับประเทศไทยมีการไล่รื้อและทำลายชุมชนไปทั่ว หากต้องการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ อันที่จริงควรมีแนวทางการศึกษาอย่างเปิดเผย ให้คนในชุมชนที่เป็นตัวแทนชุมชนจริงๆเข้าไปร่วมทำการศึกษาแผนการดำเนินโครงการรอบด้าน
“อย่าอ้างการลงพื้นที่ไม่กี่ครั้งแล้วมาตัดสินใจทำโครงการต่าง ๆเลย เพราะทำไม่ได้ ควรหยุดดำเนินโครงการเหล่านี้เสีย อย่าไปทำลายชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านตาดำๆ ที่เขาไม่มีทางสู้ อย่าสร้างอนุสาวรีย์สิ่งก่อสร้างความอับอายจากโครงการต่าง ๆอีกเลย ทางที่ดีควรยุติโครงการจะได้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆตามมาในอนาคต” ส.ศิวรักษ์ กล่าว

ด้า นรศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย กล่าวว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้ชุมชนขาดความเป็นส่วนตัว ทำให้แม่น้ำถูกทำลายมากขึ้น ทั้งๆที่ปัจจุบันก็ถูกทำลายมาตลอดเวลาแล้ว ผลกระทบด้านการระบายน้ำที่ไม่ชัดเจนว่าโครงสร้างนั้นจะไม่ขัดขวางการระบายน้ำได้จริงหรือไม่ ซึ่งวิถีชีวิตคนๆหนึ่งผูกพันกับแม่น้ำมายาวนานตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันอยู่มาเป็นเวลาหลายๆร้อยปี คุณจะไปทำให้วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนเพื่ออะไร อีกทั้งการที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามาใช้พื้นที่มาทำกิจกรรมบริเวณโครงการทั้งการเดินเล่น การขี่จักรยาน แน่นอนว่าในอนาคตจะต้องมีคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ เข้ามาในพื้นที่ยากที่จะควบคุมได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็จะลดลงเพราะไม่มีใครการันตีได้ว่าจุดที่จะสร้างโครงการนี้จะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมหรือทำกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม อีกทั้ง การดูแลเรื่องภัยพิบัติมีแผนรองรับเวลาเกิดน้ำหลากมากน้อยแค่ไหน

“จริง ๆแล้วหากจะพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ควรเลือกเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งด้านความงามและการเข้าถึงของประชาชนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทัศนียภาพ วัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่หลายๆชุมชนหรือจะไปร่วมพัฒนากับภาคเอกชนที่มีพื้นที่ที่พัฒนาอยู่แล้วก็จะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนและชุมชนมากนัก ที่สำคัญโครงการดังกล่าวนี้มีการพูดกันมายาวนานตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาแล้วก็เงียบไประยะหนึ่ง แต่มาเร่งรัดเอาช่วงระยะหลังๆ ทั้ง ๆที่ไม่มีแผนแม่บทหรือหน่วยงานอื่น ๆเชื่อมโยงทำแผนรองรับเมื่อโครงการดังกล่าวนี้แล้วเสร็จแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ระบบกล้องวงจรปิดการนำมาติดตั้งหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ การว่าจ้างพนักงานดูพื้นที่ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2563 ก็ไม่มีบรรจุเอาไว้ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของบ้านและเป็นคนได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้มีการนำร่องดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

จึงอยากเสนอให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครยุติโครงการดังกล่าวทันที แล้วไปดำเนินการก่อสร้างโครงการอื่นๆที่เป็นใกล้เคียงกันที่เป็นประโยชน์ต่อองค์รวมของคนในสังคมในประเทศจะดีกว่า และที่สำคัญอยากให้คำนึงถึงงบประมาณในการดำเนินการดำเนินโครงการที่มาจากภาษีประชาชน ควรนำไปดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อเสียงค้านค้านจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษี อยากให้ระลึกไว้เสมอว่าเจ้าพระยาเป็นของคนไทยทุกคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง” รศ.ดร.พนิต กล่าว

คัดค้านก่อสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

เผยโครงการนี้ไม่มีแบบแผน ไม่มีที่มาที่ไปคนในพื้นที่ยังไม่ทราบรายละเอียด

ขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้อยากจะเรียกว่าเป็นโครงการลูกไม่มีพ่อ เพราะไม่มีแบบแผน ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีหน่วยงานอื่นใดมาร่วมดำเนินการ 5 ปีที่ผ่านมามีการพูดคุยว่าจะก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่ก็เงียบไป และมีกระแสคัดค้าน ในระยะหลังๆ เริ่มมีกระแสจะดำเนินก่อสร้างโดยมอบหมายให้สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งทำการศึกษาผลกระทบรอบด้าน แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญๆที่ทำการศึกษาโดยละเอียดให้สาธารณชนทราบ และไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจ

“การที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งนำร่องโครงการดังกล่าวจะอ้างว่าได้ลงพื้นที่ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆในการสอบถามความคิดเห็น ลงพื้นที่ พิจารณาความเดือดร้อนต่าง ๆรอบด้าน มีข้อมูลต่าง ๆมาประกอบมากมายนั้น แต่ประชาชนที่เข้ามาร่วมกันคัดค้านในวันนี้ต่างยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเข้าไปสอบถามหรือขอความคิดเห็นเลย ทั้งๆที่หลายๆคนมีที่อยู่อาศัย มีญาติพี่น้องและคนรู้จักอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว อันที่จริงอย่าไปโทษกรุงเทพมหานครเลยในการดำเนินโครงการนี้อยากให้โทษรัฐบาล เพราะโครงการต่างๆนี้กรุงเทพมหานครเป็นเพียงเสนอโครงการแต่คนที่อนุมัติโครงการคือรัฐบาลทั้งสิ้น อย่าให้ต้องเป็นบาปติดเมืองเหมือนอย่างโครงการโฮปเวลล์อีกเลย” ขวัญสรวง กล่าว

ชี้โครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเตรียมทำข้อโต้แย้งยื่นศาลปกครองม.ค.ปีหน้า

ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง กล่าวว่า สมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายได้ยื่นเอกสารเพื่อฟ้องภาครัฐ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา, กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการพัฒนาก่อสร้างโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลปกครองได้รับเรื่องและส่งเอกสารไปยังทางผู้ถูกฟ้อง คือกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ผู้ถูกฟ้องได้ทำเอกสารโต้แย้งมา พร้อมทั้งขอให้ทางผู้ฟ้องร้องคือสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายทำข้อโต้แย้งคัดค้านในประเด็นต่างๆ ซึ่งสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่าย กำลังปรึกษาหารือกับทีมกฎหมายในประเด็นต่างๆที่ทางกรุงเทพมหานครโต้แย้งมา แล้วจะดำเนินการจัดทำข้อโต้แย้งคัดค้านไปตามกระบวนการข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่อย่างเท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมความงดงามของประวัติศาสตร์วิถีชีวิตริมน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ให้ชนรุ่นหลัง คาดว่าจะจัดทำข้อโต้แย้งคัดค้านยื่นไปยังศาลปกครองภายในกลางเดือนมกราคม 2563


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save