ก.พลังงานเผยปี’67 เดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ ให้ประชาชนใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรม


พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี พ.ศ. 2566 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ “ปีแห่งการขับเคลื่อนพลังงานไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า” โดยการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2566 เป็นช่วงคาบเกี่ยวของ 2 รัฐบาล แต่ทั้ง 2 รัฐบาลก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการกำชับการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการผลิต

สำหรับการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2567 ได้เตรียมนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ซึ่งจะมุ่งการแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้มานาน ให้มีความเหมาะสม ทันสถานการณ์ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ ให้ประชาชนใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และที่สำคัญ การดำเนินการจะวางรากฐานไว้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเท่าเทียม

               พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2566 เป็นช่วงคาบเกี่ยวของ 2 รัฐบาล แต่ทั้ง 2 รัฐบาลก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการกำชับการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการผลิต นอกจากนั้น ได้มีการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา) ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสามารถลดลงได้

สำหรับนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนพลังงานไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า  3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานมีความมั่นคง บริหารจัดการพลังงานอย่างเป็นธรรมและส่งเสริมพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2567 ได้เตรียมนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ซึ่งจะมุ่งแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้มานาน ให้มีความเหมาะสม ทันสถานการณ์ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ ให้ประชาชนใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และที่สำคัญ การดำเนินการจะวางรากฐานไว้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเท่าเทียม

                “ในปี พ.ศ. 2567 กระทรวงพลังงานจะดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับนี้ที่เหมาะสมตลอดปีนี้ ทั้งค่าไฟฟ้าที่เริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนทรงตัว เพราะจะมีปริมาณก๊าซในแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซลต้องอยู่ระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ราคา LPG และ NGV จะดูแลให้อยู่ระดับนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันในปีนี้จะเดินหน้า รื้อ ลด ปลด สร้าง เต็มรูปแบบ ควบคู่การดูแลราคาพลังงาน คาดว่ากฎหมายหลายฉบับที่ปรับแก้ หรือยกร่างใหม่จะชัดเจนทั้งหมด เช่นประเด็นโครงสร้างราคาน้ำมัน ปัจจุบันประกอบด้วยราคาหน้าโรงกลั่นของฝั่งเอกชน บวกฝั่งรัฐคือภาษีต่างๆ บวกส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกองทุนอุดหนุน ซึ่งฝั่งรัฐกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100% ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการหารือกับกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยในระดับรัฐมนตรีเพื่อเป็นนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างถาวร” พีระพันธุ์ กล่าว

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกรทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และ อิสราเอล – กลุ่มฮามาสที่มีความยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด ล้วนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชน กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว ในส่วนของการช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ปี พ.ศ. 2566 ได้ใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งตรึงราคาค่าไฟฟ้า การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และ NGV นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี พ.ศ.2566 มีการใช้เม็ดเงินลงทุนในภาคพลังงานไปแล้วกว่า 178,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วน

สำหรับการดำเนินงานในปี พ.ศ.2567 กระทรวงพลังงานจะดำเนินงานเพื่อทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานรักษาระดับราคาขายปลีกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาด รวมทั้งศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างราคาค่า Ft ให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน ส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop โดยจะร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบ Solar Rooftop มาเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบให้แก่หน่วยงานและขายไฟฟ้าที่ผลิตได้กับหน่วยงาน ส่งเสริมนำเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงาน มองหาแนวทางในการจัดหา Green Hydrogen รองรับการใช้งานในอนาคตและแผนปฏิบัติงานเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายมีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าและหัวจ่ายชาร์จเร็วเริ่มขึ้นให้ได้ประมาณ 1,000 หัวจ่าย

วรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานปี พ.ศ.2566 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมทั้งจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมเข้าระบบ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง และการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G2/61 อย่างราบรื่น สำหรับในปี พ.ศ.2567 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังคงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการเร่งรัดการลงทุนและให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องของแหล่งในประทศ โดยจะเร่งรัดการลงทุนให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้ เตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25)  รวมทั้งวางแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) ทั้งด้านเทคนิค กฎหมาย มาตรการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน  ตลอดจนมีความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 และแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ.2567 ของกรมธุรกิจพลังงานโดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ไม่เกิน 10 ppm) เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป มีการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมัน โดยปี พ.ศ.2567 มีแผนจัดทำมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าและกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้ง EV Charging Station รวมถึงการลงนาม MOU ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมแผนลดชนิดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ให้เหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (B7) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 (น้ำมันทางเลือก) เริ่ม 1 พฤษภาคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน มีการพัฒนาระบบ Stockpile และ e-Fuelcard และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Safety e-Trade และ e-License และระบบสำรองข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินงานในรูปแบบ e-Service รวมทั้ง มีแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี พ.ศ. 2566 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยประชาชนกว่า 10,000 ครัวเรือน การติดตั้งและซ่อมแซมโซลาร์เซลล์สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ช่วยเหลือชุมชนกว่า 7,200 ครัวเรือน การเดินหน้าใช้กฎหมาย BEC เต็มตัว และที่สำคัญ พพ.ได้เปิดอาคารใหม่ Net Zero Energy Building อาคารสำนักงานราชการใหญ่ที่สุดในไทย

ในปี พ.ศ.2567 พพ. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ได้เข้าถึงพลังงานสะอาดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแบบครบวงจรมากขึ้น เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO)สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา สนพ. ได้เร่งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566–2580 (ร่างแผนพลังงานชาติ ) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ในภาคพลังงาน ภายในปี 2050 โดยร่างแผน NEP ประกอบด้วยแผนย่อย 5 แผนคือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งในปี พ.ศ.2567 จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผน ร่างแผนพลังงานชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอร่างแผนพลังงานชาติ ต่อ กพช. และ ครม. เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้แผนงานในปี พ.ศ.2567 ของ สนพ. ยังมีเรื่อง การนำเสนอแนวทางการเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะมีโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระยะทดลอง-นำร่อง พ.ศ. 2567 – 2568 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกลไกการแข่งขันที่สะท้อนต้นทุนทางด้านราคาแทนการอุดหนุนทางด้านราคา และเปิดโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ทางด้านพลังงานเกิดขึ้น และภาครัฐสามารถใช้เป็นกลไกให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คมกฤช ตันตะวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานในปี พ.ศ.กกพ. มุ่งเน้นการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายการประกอบกิจการพลังงานภายใต้แผนปฏิบัติการการกำกับกิจการระยะที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ.2566-2573 โดยสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ส่งเสริมการให้บริการไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมเป็นธรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กำกับอัตราค่าบริการที่เหมาะสมเป็นธรรม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงาน เช่น กำหนดอัตราค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority และกำกับดูแลค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ เป็นต้น รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน เช่น คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก และสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านคุ้มครองผู้ใช้พลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริหารจัดการกองทนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าตามมาตรการ 93 (3) รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 94 (4)

สำหรับการดำเนินงานใน ปี พ.ศ.2567 กกพ. ยังคงมุ่งมั่นทำงานกำกับดูแลกิจการด้านพลังงานตามกรอบกฎหมายและนโยบายพลังงานภาครัฐเพื่อ ไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวสูงขึ้น ปรับเปลี่ยนการใช้ภาคพลังงานขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้า (EV) พัฒนากฎระเบียบรองรับการซื้อไฟฟ้ารูปแบบธุรกิจใหม่และปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save