กรมควบคุมโรค จับมือ สภากาชาดไทย และ เนคเทค พัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนให้คนไร้สัญชาติในไทย เข้าถึงบริการสาธารณสุข


สภากาชาดไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค  และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมชีวมิติ (Biometrics) และการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นำร่องขยายผลใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร พร้อมนำเทคโนโลยีระบุตัวตนไปใช้งานในพื้นที่ชายแดน ใช้ในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่ไม่ทราบชื่อ สัญชาติในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่เสี่ยงโรคภัยระบาดในอนาคตทั่วประเทศ

เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนและ
มีเอกสารประจำตนประมาณ 2.7 ล้านคน แต่ยังมีบุคคลที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตนจำนวนหนึ่งที่อาศัยในประเทศไทย ได้แก่ แรงงานที่เข้ามาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดน ตลอดจนกลุ่มคนไร้บ้านอีกด้วย เมื่อเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องหรือต้องรับวัคซีนป้องกันโรค บุคคลผู้ไม่มีเอกสาร
ระบุตัวตนเหล่านี้เป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้น้อย ส่งผลให้การควบคุมและป้องกันโรคทำได้ยากและอาจมีผลกระทบต่อประชาชนไทย เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือโรคระบาดมักจะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก บุคคลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีชื่อหรือข้อมูลในฐานข้อมูล ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมชีวมิติ ระบบการจดจำลายม่านตาและการจดจำใบหน้า (Iris and Face Recognition) โดยใช้ชื่อว่า ระบบ Thai Red Cross Biometric Authentication System หรือ TRCBAS มาใช้เป็นระบบการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน เพื่อสร้างมาตรฐานการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ที่แม่นยำมีคุณภาพในระดับประเทศเพื่อสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว รวมทั้งยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นอีกด้วย

“ในส่วนของสภากาชาดไทย นอกจากจะเป็นหน่วยงานร่วมพัฒนาระบบเทคโนโลยี TRCBAS แล้ว ยังยินดีสนับสนุนเชิงนโยบาย และในระยะแรกยินดีสนับสนุน กล้องถ่ายภาพม่านตาและใบหน้า วัสดุอุปกรณ์ จำนวน 130 ชุด ให้กรมควบคุมโรคนำไปใช้ใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานครและบุคลากรอื่นๆ ที่จำเป็นที่จะนำไปใช้นอกเหนือจากพื้นที่นำร่อง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในยกระดับบริการด้านสาธารณสุขและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย” เตช  กล่าว

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของ COVID- 19 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้เรียนรู้และเห็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องภายใต้ภารกิจการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตน ปัญหาที่พบคือ มีความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารประวัติการได้รับวัคซีน ซึ่งจะส่งผลต่อความครอบคลุมและการดูแลสุขภาพของกลุ่มประชากรดังกล่าว ด้วยเหตุนี้กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทยและเนคเทคจึงได้ร่วมกันทำโครงการนำเทคโนโลยีการระบุตัวบุคคลด้วยใบหน้าในกลุ่มประชากรข้ามชาติในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรข้ามชาติอาศัยเป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานครซึ่งมีปัญหาระบาด COVID-19 อย่างหนัก เพื่อให้การระบุตัวตนของบุคคลนั้นๆ สามารถรับบริการสุขภาพ ตรวจพบเชื้อได้รวดเร็วที่เหมาะสมเป็นไปตามคำแนะนำทางการแพทย์  ทำให้ประวัติการรับวัคซีนมีความสมบูรณ์มากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นำร่องใช้เทคโนโลยีระบุตัวบุคคลดังกล่าว

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการขยายผลการดำเนินงานจากเดิม โดยมุ่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการสแกนม่านตาที่มีความเที่ยงตรงมากขึ้น เบื้องต้นในระยะแรกจะดำเนินการตรวจและเก็บข้อมูลประชากรข้ามชาติ ใน 5 จังหวัด และนำข้อมูลมาเก็บประมวลผลไว้ ในช่วงเวลาที่ประชากรข้ามชาติมีการเคลื่อนย้ายกลับประเทศเขาหรือเข้ากลับมาในประเทศไทยจะได้มีฐานข้อมูลไว้เปรียบเทียบอัตลักษณ์บุคคลในการนำไปให้บริการทางด้านสาธารณสุข เช่น การรับวัคซีนป้องกันโรคระบาดต่างๆ วัคซีน HPV เข้ารับการรักษาโรคอื่นๆในโรงพยาบาลในประเทศไทยเพื่อ เพิ่มความสะดวกและเกิดความแม่นยำในกระบวนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ลดความการเกิดข้อผิดพลาดในการระบุตัวตน ขณะเข้ารับบริการทางการแพทย์ในกลุ่มประชากรดังกล่าว จากผลการดำเนินการในระยะแรกนี้ จะมีการผลักดันต่อไปในพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนประเทศไทยที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงงานป้องกันควบคุมโรคอื่นๆ ต่อไป

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนคเทค พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมชีวมิติ (Biometrics) และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาโปรแกรมการระบุตัวตนทั้งรูปแบบการจดจำลายม่านตา (Iris Recognition) และการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ให้สามารถระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามหลักการมนุษยธรรมสากล พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ไปสู่แนวปฏิบัติ ให้แก่บุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลาง และในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ช่วง COVID- 19 ระบาดอย่างหนักตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย หน่วยงานภาคีเครือข่าย และเนคเทค ได้ร่วมออกหน่วยนำระบบบริการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า ลงพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัยสงครามข้ามแดนมายังประเทศไทย แรงงานต่างด้าวไร้สัญชาติ หรือไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยการสู้รบพื้นที่ต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID- 19 โดยเก็บข้อมูลกว่า 8,000 คน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2566 ได้มีการขยายผลเป็นการเก็บข้อมูลม่านตาเพื่อใช้ยืนยันตัวบุคคลเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีโดยนักวิจัยของเนคเทค สวทช. และได้นำไปทดลองใช้ในศูนย์อพยพที่จังหวัดราชบุรี โดยมีความถูกต้องสูงถึง 97% แสดงจากอัตราการปฏิเสธผิดที่ 3% และคาดกว่าจะสามารถพัฒนาอัลกอรึทึมให้ได้ระดับความแม่นยำที่ระดับ 99% ในปี พ.ศ.2566 นี้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการย้ายถิ่นฐาน หรือย้ายไปทำงานในที่ใด ก็สามารถอำนวยความสะดวกในการสืบค้นประวัติได้ง่าย ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนในอนาคตนั้น เนคเทคจะนำกล้องที่หน่วยงานคิดค้นขึ้นมาเองร่วมกับนักวิจัยและเครือข่ายมาร่วมใช้ในการระบุตัวตน เพื่อลดค่าใช้จ่ายการสั่งซื้อกล้องที่มีราคาแพงมาใช้ในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีระบุตัวตนทั้งคนไร้สัญชาติในประเทศไทยและระบุตัวตนของคนไทยในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save