กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมลงนามสนับสนุนเงินทุนในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและการปลูกข้าวตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในการผลิตข้าว รวมทั้งนำเสนอเทคโนโลยีการทำนายั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตข้าวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว และการส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจ “Thai Rice NAMA” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต -ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการ Thai Rice NAMA เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำนาจากวิธีแบบดั้งเดิมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทาน ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ดังนั้นหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบจึงได้ร่วมกับนักวิชาการทุกภาคส่วนและภาคเอกชนช่วยกันหาแนวทางและจัดทำโครงการต่างๆขึ้น ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับการทำนาในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อร่วมกันช่วยลดผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้ดีและกระตุ้นให้เกษตรกรรวมตัวกัน เพื่อลดต้นทุนในการทำเกษตรกรรม โดยโครงการดังกล่าวได้นำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังว่าการดำเนินโครงการ Thai Rice Nama จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือที่เรียกว่า “ข้าวลดโลกร้อน” ซึ่งจะเป็นรูปแบบเพื่อการขยายผลในการปลูกข้าวของประเทศไทยในภูมิภาคอื่นๆต่อไป” วิศิษฐ์ กล่าว
กรมการข้าวนำเทคโนโลยี 4ป. สนับสนุนการทำนาลดโลกร้อน
กฤต อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรมีเศษฟางที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซัง ส่งผลให้เกษตรกร ส่วนใหญ่ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่าง ๆ จนทำให้ฟางถูกเผาทิ้ง อย่างน่าเสียดาย ซึ่งการเผาฟางอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลภาวะ และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเพื่อให้การทำนาในปัจจุบันสอดคล้องกับการรักษาสิ่งสิ่งแวดล้อม ทางกรมการข้าวจึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสนับสนุนในการทำนา ตามหลักเทคโนโลยี 4 ป. ได้แก่ ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เปียกสลับแห้ง ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และแปรสภาพฟางและตอซังข้าว โดยเน้นส่งเสริมการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ซึ่งการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการปฏิบัติเทคโนโลยีอื่น เช่น ลดการใช้น้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและข้าวได้รับปุ๋ย สม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนาจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนโครงการ Thai Rice NAMA
พงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการ Thai Rice NAMA เป็นโครงการที่เกษตรกร ชาวนาผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการสนับสนุนทางการเงินผ่านทาง ธ.ก.ส. เพื่อนำไปใช้ตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย ด้วยการเสนอมาตรการสนับสนุนทางการเงิน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเลือกสมัคร หากได้รับการอนุมัติ จะได้รับเงินอุดหนุน 50% พร้อมกับเงินทุนหมุนเวียนอีก 50% รวมสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อไร่ และ2.สำหรับผู้ให้บริการทางการเกษตร เพื่อจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling: LLL) โดยให้เงินอุดหนุนถึง 50% ของราคาชุดอุปกรณ์แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ผู้ที่สนใจร่วมเป็นผู้ให้บริการปรับ LLL ยังสามารถขอรับการอบรมที่โครงการฯ จัดให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“หวังว่ามาตรการสนับสนุน คนละครึ่ง เพื่อการเกษตรชุดนี้ จะช่วยให้ทั้งเกษตรกรและผู้ให้บริการทางการเกษตร ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคการผลิตข้าวของไทยสามารถผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ทันกับการทำนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปพร้อมๆกับการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมของโลก” พงษ์พันธ์ กล่าว
GIZ ให้ทุนสนับสนุนโครงการ Thai Rice NAMA 300 ล้านบาท
ไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย กล่าวว่า GIZ ภูมิใจที่ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 300 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการ Thai Rice NAMA เพื่อสนับสนุนพันธมิตรภาคเกษตรของไทย ให้รู้จักการทำนาที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรและผู้ให้บริการทางการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ ในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปปรับใช้และสอนเกษตรกรชาวนารุ่นต่อๆไปเพื่อให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่ควบคู่ไปกับการทำนาด้วย
ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสำหรับเกษตรกรไทย
ชลัด ระวังคณันท์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โชคชัยจักรกลการเกษตร จำกัด กล่าวว่า
เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตรถไถเดินตาม ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรมีการพัฒนาไปตามยุคสมัย ทางบริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรแต่ราคาก็ยังสูงและเกษตรกรก็ยังไม่เปิดใจยอมรับมากนัก แต่เมื่อได้ร่วมมือกับ GIZ ทำให้เกิดแนวทางการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลการเกษตรสัญชาติไทยที่เหมาะสมกับเกษตรกร เช่น เครื่องจักรสำหรับไถปรับหน้าดินและเครื่องจักรสำหรับอัดฟางข้าวที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นต้น และได้สาธิตให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯได้เห็นการทำงานจริงในแต่ละพื้นที่ที่เข้าร่วม ทำให้เกษตรกรยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรจึงหันมาเลือกซื้อเครื่องจักรกลของบริษัทฯ มากขึ้น