TDRI แนะรัฐเน้นเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจาก COVID-19 ระลอกใหม่


การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลกับประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งความกังวลจากการติดเชื้อและความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมาว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงนโยบายการช่วยเหลือจากทางภาครัฐได้ค่อนข้างยากและไม่ทั่วถึง ดังนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงได้ทำการศึกษา ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน Economic and Social Monitor เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อประมวลผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะที่จะให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือภาครัฐผ่านนโยบายต่าง ๆเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ๆ

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อ COVID-19 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลกับประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งความกังวลจากการติดเชื้อและความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมา ซึ่งการระบาดระลอกใหม่นี้มีความต่างในหลายด้านจากระลอกแรก เริ่มจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่า กระจายไปหลายจังหวัดกว่า แต่ด้านมาตรการจำกัดการระบาดกลับมีความเข้มงวดน้อยกว่าทั้งในแง่จำนวนมาตรการและขนาดของพื้นที่ควบคุม และคาดว่าอาจจะผ่อนคลายเร็วกว่า อีกทั้งประชาชนน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่กับการระบาดที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์เลยเหมือนเช่นการควบคุมในระลอกแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่มีแหล่งที่มาจากแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและมีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศตนเอง เช่น เมียนมา และนำเชื้อเข้ามาประเทศไทย ทำให้ยากลำบากในการตรวจสอบและคุมเข้มเพราะไม่สามารถป้องกันด่านชายแดนธรรมชาติได้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ อีกทั้งแรงงานต่างชาตินี้มีจำนวนมากและอยู่กันอย่างแออัด เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อระหว่างกันเองและไปสู่คนไทย คาดว่าการระบาดระลอกใหม่คงไม่หมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนรอบแรก

ทัวร์ต่างประเทศ -ธุรกิจสายป่านสั้น อาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

จากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่นี้คาดว่าน่าจะมีระยะเวลานานกว่ารอบแรก ดังนั้นภาครัฐจึงต้องมีมาตรการควบคุมต่อเนื่อง แต่จะไม่คุมเข้มอย่างระลอกแรก ซึ่งจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จะเห็นได้จากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล มีขนาดเล็กกว่าระลอกแรก ประกอบกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขการส่งออกที่ค่อนข้างดีตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจึงน่าจะน้อยกว่าระลอกแรกค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามแม้ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคจะดูดีกว่าระลอกแรก แต่หากเจาะจงไปที่บางภาคเศรษฐกิจและบางกลุ่มประชากร ยังน่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น เช่น ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เคยฟื้นตัวเลย เช่น การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด และไม่มั่นคง เมื่อถูกกระทบอีกระลอกก็อาจทำให้ไม่สามารถรักษากิจการได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเนื่องไปถึงคนที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวนี้ ส่วนในภาคอื่นๆ ที่สถานการณ์ดีกว่าภาคการท่องเที่ยว แต่ก็มีกิจการขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยที่สายป่านสั้น และเคยมีความหวังจะได้กลับมาทำธุรกิจหลังการระบาดระลอกแรกสงบลง ก็อาจเริ่มถอดใจและปิดกิจการในที่สุด ผลกระทบน่าจะเป็นลูกโซ่ไปสู่คนทำงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกเช่นกัน

ชี้กลุ่มคนเปราะบางกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ – สังคม

ดร. สมชัย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประมาณการผลกระทบการระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ ว่า จะกระทบแรงงานจำนวน 4.7 ล้านคน แบ่งเป็น 1.1 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะตกงาน และอีก 3.6 ล้านคนมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า เงินออมโดยรวมที่เคยเพิ่มขึ้นหลังการระบาดระลอกแรก มีแนวโน้มลดลงท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจแสดงถึงความสามารถในการรองรับผลกระทบน้อยลงสำหรับประชาชนบางกลุ่ม สำหรับผลทางเศรษฐกิจที่ลากยาวและรุนแรงสำหรับคนบางกลุ่ม จะส่งผลกระทบด้านสังคมที่จะตามมาอีกหลากหลาย
โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการศึกษาก่อนหน้าพบว่า กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นตั้งแต่ระลอกแรก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หารายได้หลักในครอบครัวกลุ่มเปราะบางมักทำงานนอกระบบ ขาดความมั่นคงของการทำงานและรายได้อยู่แล้วก่อนเกิดการระบาด จึงมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกกระทบแรงในแง่การสูญเสียรายได้

นอกจากนี้ผลกระทบทางด้านสังคมก็ถูกกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่น เช่น เด็กในครอบครัวยากจนมีความสามารถในการเรียนรู้ออนไลน์น้อยกว่าเด็กฐานะดี ผู้ปกครองก็มีความพร้อมและความสามารถในการเรียนร่วมกับลูกน้อยกว่า คนแก่ที่มีโรคประจำตัวในครอบครัวเปราะบางก็เข้าถึงบริการทางการแพทย์ลดลงมากกว่า เป็นต้น

แนะภาครัฐเร่งเยียวยากลุ่มเปราะบาง ที่อ่วมจาก COVID-19

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการแก้ปัญหา COVID-19 สำหรับกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย

1. ควรเร่งศึกษาผลกระทบทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดระลอกสอง ทั้งความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ, ทางเลือกของเขาเหล่านั้นในการปรับตัวว่ามีมากน้อยอย่างไร, มาตรการของภาครัฐอะไรบ้างที่ช่วยเขาได้ รวมทั้งมาตรการอะไรที่อาจช่วยเขาได้แต่เขาไม่ได้หรือยังไม่ได้ และเพราะเหตุใดจึงไม่ได้หรือได้ช้า เป็นต้น

2.รัฐบาล “ต้อง” มีมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดแผลเป็น โดยควรเป็นมาตรการที่หลากหลาย เพิ่มเติมจากการให้เป็นเงิน เช่น การดูแลให้เข้าถึงบริการภาครัฐด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน, การดูแลสุขภาพ, การช่วยดูแลบุตรหลานให้เรียนรู้ออนไลน์ได้มากขึ้นและการเข้าถึงบริการเหล่านี้ต้องเป็นไปโดยไม่ตกหล่น หรือควรเข้าถึงมากขึ้นกว่าในภาวะปกติ ซึ่งการป้องกันการตกหล่นอาจใช้ทั้งกลไกภาครัฐบาลกลาง, รัฐบาลท้องถิ่น, ชุมชน, ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปในการแจ้งให้ภาครัฐทราบกรณีพบเห็นกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือและเยียวยา

3.ควรมีมาตรการเฝ้าระวัง (monitoring) การเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง แผลเป็น
หมายถึง กิจการหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แบบต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีโอกาสฟื้นตัวแม้การระบาดจะหายไป เช่น เจ้าของกิจการขนาดเล็กที่สิ้นเนื้อประดาตัว, ไม่มีเงินทุนจะเริ่มกิจการใหม่และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างถาวรและไม่มีโอกาสได้รับการจ้างงานใหม่ เป็นต้น คาดว่ากลุ่มเหล่านี้จะทับซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่กล่าวถึง และเมื่อพบแผลเป็นเหล่านี้แล้ว ต้องเร่งออกมาตรการในการบรรเทาความทุกข์ร้อนและประคับประคองให้เขาสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและฟื้นฟูทางสังคมควบคู่กันไป

4.รัฐอาจควรพิจารณาให้วัคซีนกับกลุ่มเปราะบางเร็วกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเหตุผลว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงจากการขาดรายได้ได้มากนัก การได้รับวัคซีนก่อนจะมีผลทำให้ความเสี่ยงนี้ลดน้อยลง

5.ในระยะยาว ประเทศไทยต้องทำการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคม (social protection) ที่คำนึงถึงการได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องและรุนแรงของกลุ่มเปราะบางและผู้ที่จะกลายเป็นแผลเป็นจากการระบาด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องการการออกแบบที่เหมาะสม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save