Economic Review & Weekly Update with Global Markets


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.60 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันพฤหัสฯ ที่ 11 เมษายน)

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง (แกว่งตัวในกรอบ 36.33-36.87 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นบ้างของราคาทองคำ โดยเฉพาะในช่วงตลาดกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ในจังหวะที่เงินบาทได้อ่อนค่าทดสอบโซน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องจนทะลุโซนดังกล่าวไปได้ใกล้ และยังคงแกว่งตัว sideways ในช่วง 36.70 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรง

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตา สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินในระยะสั้น นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง BOE และ BOJ ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ และ ญี่ปุ่น

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ฝั่งสหรัฐฯผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งต้องจับตาว่า โทนการสื่อสารของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ว่าโดยรวมมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะการสื่อสารมีความ Hawkish มากขึ้นหรือไม่ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงระยะสั้นนี้ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็ดูจะชะลอตัวลงได้ช้ากว่าที่เฟดต้องการ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2024 โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน และกลุ่มเทคฯ อาทิ ASML, TSMC เป็นต้น
  • ฝั่งยุโรปผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ CPI ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่ BOE จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายน โดยหากผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสราว 83% ที่ BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนสิงหาคม) ซึ่งอาจเร็วกว่าเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้
  • ฝั่งเอเชียผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมผลของราคาอาหารสดและพลังงาน Core-Core CPI ยังคงอยู่ในระดับสูงเกิน 3% ก็อาจทำให้ BOJ ยังมีโอกาสทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOJ จะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ (ในการประชุมเดือนกรกฎาคม และ ตุลาคม) นอกจากนี้ ควรจับตาการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ของทางการญี่ปุ่น หลังค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเกือบแตะระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทางการญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่แถวโซน 151-152 เยนต่อดอลลาร์ แล้วว่า ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าเกินปัจจัยพื้นฐานมาพอสมควร โดยหากทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินจริง เราคาดว่าอาจทำให้เงินเยนสามารถแข็งค่าหลุดระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ ได้ แต่เรามองว่า ทางการญี่ปุ่นอาจรอจังหวะให้ โมเมนตัมของเงินดอลลาร์พลิกกลับมาเป็นฝั่งอ่อนค่าลง หรือ มีปัจจัยเข้ามาสนับสนุนให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้
  • ฝั่งไทยเราคาดว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 6.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจกระทบค่าเงินบาทได้พอสมควร ซึ่งจะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบ และราคาทองคำ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ โดยเฉพาะแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ตราบใดที่ตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ โฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็สามารถกดดันเงินบาทได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ราคาพลังงาน ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) ในตะวันออกกลาง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways แต่หากตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้ นอกจากนี้ ต้องจับตาทิศทางเงินปอนด์อังกฤษและเงินเยนญี่ปุ่น ในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษและญี่ปุ่น

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.45-37.00 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.85 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์                        

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save