นายกวปท .แนะวิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ ก่อนถูก Disrupt ในงานเสวนา “เมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย”


นายกวปท .แนะวิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ ก่อนถูก Disrupt ในงานเสวนา “เมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย”

กรุงเทพฯ : สภาวิศวกร (COE) ระดมผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางราง สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเสวนา “โครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย” ชี้โครงการเมกะโปรเจ็กต์เป็นโอกาสของวิศวกรไทยในการยกระดับศักยภาพปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบราง พร้อมเสนอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมทั้งขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง การผลิตแก่วิศวกรไทย และสนับสนุนการใช้วัสดุชิ้นส่วน (Local Content) ในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยี-นำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ด้านนายกวปท .แนะวิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ทั้ง Reskill และ Retrain พร้อมพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (CPD) มิฉะนั้นอาจถูก Disrupt

สภาวิศวกร

ดร. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ

ภายในงานเสวนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ดร. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดเสวนา ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก โดยมีผู้วิศวกร และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังเสวนาจำนวนมาก

ดร. ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร

ดร. ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Project) ของภาครัฐ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในระยะเร่งด่วน 8 ปี (พ.ศ. 2558-2565) เพื่อพัฒนาด้านการขนส่งทางถนน ระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ มีจำนวนถึง 44 โครงการ วงเงิน 1.974 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการด้านระบบราง อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 993 กิโลเมตร ในเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น โครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน 252 กม. และ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway)
3 เส้นทาง ในสายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี โครงการลงทุนขนาดใหญ่รถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบิน อู่ตะเภา โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ EEC โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แต่ที่ผ่านมา กลับพบข้อจำกัดในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม ทั้งในขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง และการผลิตแก่วิศวกรไทย ส่งผลให้ประเทศไทย มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนำเข้าสิ่งก่อสร้างจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

งานเสวนา “เมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย”
จากซ้าย ดร. ประเสริฐ ตปนียางกูร ศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ จุลเทพ จิตะสมบัติ วัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร อังสุรัสมิ์ อารีกุล
และดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง

เพื่อส่งเสริมให้วิศวกรและช่างเทคนิคชาวไทยเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งสนับสนุนการใช้วัสดุชิ้นส่วนที่บริษัทไทยสามารถผลิตได้เข้ามาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ตลอดจนสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่กับการศึกษาวิจัยและพัฒนา สู่หนทางลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ สภาวิศวกร จึงได้จัดงานเสวนา ในหัวข้อ “โครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย” ขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการเสวนาจำนวนมาก อาทิ จุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย อังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิศวกรและ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) และศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน กรมการขนส่งทางราง

ศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เงินลงทุนโครงการ Mega Project ของภาครัฐ วงเงิน 1.974 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนทางด้านระบบราง 1.2 ล้านล้านบาท โดยแผน 8 ปี ทางด้านระบบรางมีทั้งหมด 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้า 20% ภายใน 3 ปี และโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -โคราช ดำเนินการแล้ว ในอนาคตจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -พิษณุโลก และโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับรูปแบบขบวนรถให้ลดลง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากญี่ปุ่นมองเป็นโครงการของไทยยินดีให้การสนับสนุนแหล่งเงินกู้

ปัจจุบันมีวิศวกรที่จบทางด้านระบบรางโดยตรง ประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาเลือก นอกจากนี้มีหลักสูตรปวช.ด้านรางมีการเรียน 2 ปี โดยเรียนในไทย 1 ปีและฝึกอบรมทางด้านโยธา ก่อสร้าง และระบบรางที่จีน 1 ปี บางหลักสูตรใช้เวลา 1.5 ปี ได้ใบประกาศนียบัตร 2 แห่งทั้งจากไทยและจีน ขณะนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมด้านรางโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลากว่าจะผลิตบุคลากรมาป้อนตลาด

ในอนาคตอันใกล้นี้ กรมการขนส่งทางราง จะเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อให้วว. ช่วยทดสอบโบกี้ ระบบราง ในส่วนของระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการทดสอบ ส่วนวัสดุ ให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ( MTEC) สวทช.ทดสอบ รวมทั้งมาตรฐาน เป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

จุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงของรฟท. รับขนส่งคนแถบปริมณฑลให้เดินทางเข้าเมืองสะดวกสบาย เป็นการกระจายโครงข่ายของรฟท.. ในส่วนของรถไฟฟ้าความเร็วสูง ได้ระบุในข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR : Term of Reference ) ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมจากจีนให้สถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานวิจัยชั้นนำของไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพวิศวกรไทย รวมทั้งด้าน Operation และการบำรุงรักษา ซึ่งรฟท.ฝึกอบรมด้าน Operation และการบำรุงรักษา โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และงานและวิจัยพัฒนาจากจีน ตามที่ระบุไว้ในสัญญา 2.3 ซึ่งปัจจุบันจบแค่ตรงนี้ ทั้งนี้ยังขาดในส่วนของการผลิตและการวิจัยและพัฒนา จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐช่วยผลักดันในส่วนนี้ด้วย

ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) กล่าวว่า หากเป็นโครงการขนาดเล็ก เชื่อมั่นว่าวิศวกรไทย และผู้ประกอบการก่อสร้างไทย สามารถทำได้ทุกอย่าง ซึ่งเป็นไปตามกฎ กติกาที่สภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กำหนดไว้ แต่ขณะนี้มีโครงการขนาดใหญ่ระดับ Mega Project เกิดขึ้นมากมายหลายโครงการ เช่น ถนนไฮเวย์ อุโมงค์ สะพาน สนามบิน และท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งบางโครงการ หรือเทคโนโลยีบางอย่างยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับวิศวกรไทย ทำให้โครงการมีความซับซ้อนกว่าเดิม หากวิศวกรไทยไม่ปรับตัวอาจจะถูก Disrupt ได้

จากข้อมูลในปีพ.ศ.2558 มีจำนวนวิศวกรไทย 2 แสนคน ใน 7 สาขา หากจำแนกถึงจำนวนสามัญวิศวกรและวุฒิวิศวกรแล้วยังมีไม่เพียงพอ และไม่มีปรับจำนวนให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอาเซียน วิศวกรไทยเมื่อเทียบกับวิศวกรสิงคโปร์ ทักษะความเชี่ยวชาญยังห่างไกลอีกหลายเท่า ในส่วนของ Charge Rate ของจีนกับไทยต่างกันถึง 5 เท่า ไทยได้แสนบาทต้นๆ แต่จีนได้ 5 แสนบาท

“ทั้งนี้ต้องอาศัยสามเสาหลัก ประกอบด้วย สภาวิศวกร ซึ่งดูแลปริมาณและคุณภาพของวิศวกร วสท. ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน (Coding) ต่าง ๆ และสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้องทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ พร้อมปรับตัวอัพเดทเทคโนโลยี คุณภาพ ยึดตามกติกาที่วางไว้ โดยเพิ่มจำนวน License Engineer Reskill และ Retrain ที่สำคัญวิศวกรไทยต้องพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Professional Development :CPD) เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป” นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) กล่าว

อังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สภาวิศวกรอบรมจีน 227 คน ในทางกลับกันวิศวกรจีนได้อบรมและให้ความรู้ด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูงแก่วิศวกรไทยด้วยหรือไม่ อีกทั้งขอบข่ายการทำงานของวิศวกรจีนที่ผ่านการอบรม สามารถทำงานได้แค่ไหน ภาระความรับผิดชอบเทียบเท่าวิศวกรไทยทั้งแพ่งและอาญาหรือไม่ ในโครงการ Mega Project เช่นงานโครงสร้างทั้งหมด ถ้าหากเป็นของความเร็วรถไฟฟ้า มั่นใจว่าวิศวกรโยธาไทยสามารถคำนวณได้ ยกเว้นรางและตัวรถ ซึ่งต้องซื้อจากต่างประเทศ หากใน TOR ระบุให้มีบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ 5-6 รายร่วมด้วย ก็จะเป็นเรื่องดีที่ไม่ได้ผูกขายรายใดเพียงรายเดียว

ในงานก่อสร้างไม่ได้มีเฉพาะวิศวกร ยังมี Safety ผู้ดูแลสิ่งแวดล้อม โฟร์แมน Operator สิ่งที่เราต้องพัฒนาความรู้วิศวกร สถาปนิก โฟร์แมน ซึ่งมีความต้องการในโครงการ Mega Project จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่จบวิศวกรจะไปเรียนต่อสาขาอื่น ๆ ไม่ได้ทำงานด้านวิศวกรรม อีกทั้งงานวิศวกรรม จะต้องออกไปตากแดด ตากฝน ทำให้มีวิศวกรทำงานทางด้านนี้น้อย ทำอย่างไรจะจูงใจให้วิศวกรไทยหันมาประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด และมูลค่าโครงการสูง

อังสุรัสมิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการ Mega Project ในเขต EEC เฉพาะ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง มูลค่าโคร
งการ 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างสูง เนื่องจากเปิดเฉพาะใน EEC ในเรื่องนี้ สมาคมฯ ต้องคอยตอบคำถามสมาชิกว่าเหตุใดโครงการ Mega Project จึงไม่กระจายไปตามภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภาคใต้ เหนือ บ้าง

วัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิศวกรและ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะกรรมการสภาวิศวกร สภาวิศวกรจะต้องสนับสนุนวิศวกรไทยและผลิตวิศวกรรองรับงานในอนาคตมากมาย ในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา รัฐบาลได้ยกเว้นให้วิศวกรจีนไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 45, 47,49 แห่ง พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 กรณีการควบคุมการประกอบวิชาชีพ โดยเปิดโอกาสให้วิศวกรจากจีนสามารถจดทะเบียนได้ พร้อมมอบหมายให้สภาวิศวกรช่วยประสานในเรื่องจัดหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม ที่ผ่านมามีวิศวกรจีนที่ผ่านอบรม 3 รุ่น รวมทั้งสิ้น 227 คน

หากต้องดําเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45
นอกจากนี้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 59 และมาตรา 54 และ 55 เปิดโอกาสให้คนต่างด้าวมาทำงานในไทยได้ และได้รับยกเว้นหลายเรื่อง อีกทั้งกฎหมายนี้มีผลระยะยาว EEC หากวิศวกรได้รับใบอนุญาตในประเทศตัวเองแล้วเข้ามาทำงานในไทย โดยไม่ต้องมาขึ้นทะเบียนที่ไทย เบื้องต้นส่งผลกระทบต่อวิศวกรไทย เพราะเราไม่มีความรู้เพียงพอ ทั้งนี้จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้วิศวกรไทยด้วย

“ในข้อกฎหมายของสภาวิศวกร วิศวกรไทยที่เซ็นรับรองแบบ จะเป็นผู้รับผิดชอบ หากวิศวกรต่างชาติทำงานเสร็จแล้ว กลับประเทศ หากภายหลังงานเสียหาย จะตามตัวมารับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้สภาวิศวกรจะต้องดูแลและวางมาตรการป้องกันในเรื่องนี้ ” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิศวกร กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save