ไบโอเทค เปิดศูนย์ “TBRC” คลังจุลินทรีย์ชั้นนำระดับอาเซียน ใช้เป็นต้นน้ำรองรับงานวิจัยและอุตสาหกรรม


ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิด ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC)  ซึ่งเป็นคลังเก็บรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมีจุลินทรีย์ 96,729 สายพันธุ์ มากกว่า 4,300 สปีชีส์ เพื่อเป็นต้นน้ำในการเก็บจุลินทรีย์ ให้บริการฝากและให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุ คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ วิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์ การเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ รวมถึงให้การอบรมด้านการเก็บรักษาและจัดการคลังจุลินทรีย์แก่ผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ทำให้ประเทศเกิดความเข้มแข็งในการนำทรัพยากรจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านงานวิจัยและด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ลดการนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศ สร้างศักยภาพผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

 

ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  กล่าวว่า ไบโอเทคจัดตั้งศูนย์จุลินทรีย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และได้พัฒนาเรื่อยมาจนเกิดเป็นศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อเป็นศูนย์ชีววัสดุชั้นนำในอาเซียนเพื่อจัดเก็บจุลินทรีย์  ซึ่งเป็นต้นน้ำใกล้ตัวที่มีศักยภาพภายในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคเท่านั้น แต่เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อดีสำหรับนำไปต่อยอดใช้ในงานวิจัย งานอุตสาหกรรมและส่วนอื่นๆ เชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการชีววัสดุที่ทันสมัยและเป็นไปตามกฎระเบียบนานาชาติเข้ากับงานวิจัยและนวัตกรรม ด้วยภารกิจในการเป็นศูนย์กลางการรวบรวมชีววัสดุและข้อมูล โดยใช้ระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ชีววัสดุอย่างสูงสุด ด้วยผลงานวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีศักยภาพและให้ความปลอดภัยในการตัดต่อจุลินทรีย์ และใช้จุลินทรีย์ก่อให้เกิดประโยชน์องค์รวมสำหรับนำไปใช้ด้านต่างๆ

 

ไบโอเทคยังเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงการตรวจสอบการใช้จุลินทรีย์ในภาคเอกชน หากเกิดกรณีใช้ผิดหลักการเมื่อเกิดความเสี่ยงในการผิดกฎหมาย จะก่อให้เกิดผลกระทบในสังคม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องผลกระทบนั้นๆ สามารถที่จะส่งผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของที่เกิดจากการนำจุลินทรีย์ไปใช้เป็นส่วนผสม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหาร ยาและเวชภัณฑ์และพืชผลภาคการเกษตรที่ใช้สารจากเชื้อจุลินทรีย์ส่งนำตรวจที่ศูนย์จุลินทรีย์ ไบโอเทคได้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ชีววัสดุอย่างยั่งยืนเป็นไปตามกฎระเบียบนานาชาติ รวมถึงสร้างความร่วมมือระดับประเทศและนานาชาติด้านการวิจัยเกี่ยวกับชีววัสดุ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านการเก็บรักษาและบริหารจัดการชีววัสดุ ทำให้ TBRC มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางจัดการชีววัสดุของประเทศที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

ดร.ชาญวิทย์ สุริยฉัตรกุล หัวหน้าทีมวิจัยความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) กล่าวว่า TBRC เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรักษา ให้บริการและบริหารจัดการทรัพยากรจุลินทรีย์ ชีววัสดุ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เกิดการใช้ประโยชน์ โดยจุลินทรีย์และชีววัสดุที่เก็บรักษามี 96,729 สายพันธุ์ มากกว่า 4,300 สปีชีส์ ประกอบด้วย แบคทีเรีย รา ยีสต์ ไวรัส และโปรโตซัว  ซึ่งพร้อมนำมาวิจัยต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและในระดับสากล เพราะที่ศูนย์ TBRC นี้มีจุลินทรีย์มากที่สุดในอาเซียน มีจุลินทรีย์ที่หายากและมีคุณค่าต่อการนำไปใช้ในอนุกรมต่อยอดการวิจัย และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านงานวิจัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

 

ศูนย์ TBRC มีบริการหลัก ได้แก่ รับฝากและให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุ คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ วิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์ การเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ รวมถึงให้การอบรมด้านการเก็บรักษาและจัดการคลังจุลินทรีย์ ซึ่ง TBRC มีระบบการเก็บรักษาจุลินทรีย์ตามมาตรฐานระดับสากล ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9001:2015 โดยเก็บรักษาในสภาพแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -80 องศาเซลเซียส และในถังไนโตรเจนเหลว และการเก็บรักษาแบบแห้งในหลอดแก้วสุญญากาศ ที่สามารถเก็บรักษาจุลินทรีย์ให้มีชีวิตรอดได้นานกว่า 20 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์กลุ่มต่างๆ จะกำหนดขั้นตอน วิธีการจัดเก็บ วิธีการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่จัดเก็บและให้บริการมีความถูกต้อง รอดชีวิต และปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการไปยังกลุ่มนักวิจัย หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีบริการผสมสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการเพื่อช่วยสนับสนุนการใช้งานตามหมวดหมู่อุตสาหกรรมต่างๆ ภาคการเกษตร ควบคุมศัตรูพืช เร่งผลผลิตให้เจริญเติบโตและภาคการศึกษาที่จะนำไปทำการทดลองสำหรับใช้สอนนิสิตนักศึกษา โดยไม่ขัดต่อกฎหมายในประเทศไทยและในต่างประเทศเพื่อนำจุลินทรีย์ที่ผสมสายพันธุ์ได้ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยของไบโอเทค นักวิจัยของ สวทช.ที่เกี่ยวข้องและนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยคิดค่าบริการและระยะเวลาการทำการวิจัยระบุตามสัญญาบันทึกข้อตกลงที่ทำงานวิจัยจุลินทรีย์ร่วมกัน

 

ดร.สุภาวดี อิงศรีสว่าง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์และชีวสารสนเทศ กล่าวว่า  TBRC ดำเนินงานโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อค้นหาจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ๆ ของโลกและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดย TBRC ร่วมงานกับพันธมิตรในการทำวิจัยร่วมกัน โดยเน้นการทำงานด้านต่าง ประกอบด้วย  1.เทคโนโลยีการตรวจหาติดตามดีเอ็นเอชุมชนจุลินทรีย์ (Microbiome Analysis) เพื่อวิเคราะห์ความหลากหลายของชุมชนจุลินทรีย์และบทบาทของจุลินทรีย์ ในการประเมินสถานภาพสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรม 2. ชีวสารสนเทศและฐานข้อมูลจุลินทรีย์ เพื่อวิเคราะห์บ่งชี้ชนิดจุลินทรีย์และความสัมพันธ์เชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์ระดับยีนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และ 3. การค้นหาและปลดล็อกศักยภาพของจุลินทรีย์จากคลัง TBRC เพื่อให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในคลัง TBRC มีความพร้อมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้มากที่สุด

 

นอกจากนี้ศูนย์ TBRC ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) บนโลกนี้ด้วย โดยดูแลทรัพยากรจุลินทรีย์ในระดับสกุลมากกว่า 1,500 สกุล (genus) และระดับชนิดมากกว่า 4,300 ชนิด (species) และยังนับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจ BCG  (Bio-Circular-Green  Economy)  สนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ การขึ้นทะเบียนจุลินทรีย์เพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นแหล่ง Bioresources หรือแหล่งรวมข้อมูลพันธุกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีภาคเอกชนและผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการและประโยชน์เพื่อต่อยอดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก เป็นหนึ่งในฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและยารักษาโรค อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การใช้จุลินทรีย์ในกลุ่มราควบคุมแมลงศัตรูพืช

ดร.สุภาวดี กล่าวถึงการใช้ประโยชน์คลังจุลินทรีย์ TBRC ว่า ที่ผ่านมา มีทั้งผู้ใช้บริการ คือนักวิจัยของไบโอเทค และหน่วยงานภายนอก เช่น องค์กรรัฐและภาคเอกชน ตัวอย่างการศึกษาวิจัยที่ทำโดยนักวิจัยไบโอเทคเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น จุลินทรีย์ที่ผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอาหารสัตว์ เช่น เชื้อราสายพันธุ์แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus spp.) หรือจุลินทรีย์สำหรับควบคุมศัตรูพืช เช่น เชื้อราสายพันธุ์ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)  นอกจากนี้หน่วยงานภายนอกมีการใช้บริการงานบริการเทคนิคต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ โดย สวทช. มีบริการที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ต้องการให้มากขึ้นในระดับกึ่งอุตสาหกรรมในโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Bioprocessing Facility) หรือ BBF เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมครบวงจร ช่วยลดการนำเข้าจุลินทรีย์ที่ราคาแพงในบางชนิดจากต่างประเทศสำหรับกลุ่มภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้ปีละจำนวนมาก

 

ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  กล่าวว่า  มีการนำจุลินทรีย์จาก TBRC ใช้ในด้านต่างๆ เช่น เอนไซม์ ENZEase ซึ่งใช้ในการลอกแป้ง (desizing) และกำจัดแว็กซ์ (scouring) ในขั้นตอนเดียว ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและสารเคมีในกระบวนการผลิตสิ่งทอ การใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการปรับปรุงยีสต์ผลิตเอทานอลให้สามารถผลิตสารคาโรทีนอยด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ การใช้จุลินทรีย์และเอนไซม์ในการเร่งปฏิกิริยาการผลิตน้ำตาลฟังก์ชั่น ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น ไซลิทอล ซึ่งใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารพรีไบโอติก จากชีวมวลทางการเกษตร และการใช้จุลินทรีย์ในกลุ่มรา เช่น บิววาเรีย และเมตาไรเซียม เป็นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช รวมถึงการผลิตสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีโครงสร้างเฉพาะจากจุลินทรีย์ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดสิทธิ์ให้ภาคเอกชนแล้ว และมีหลายงานวิจัยอยู่ระหว่างขยายขนาดการผลิตร่วมกับภาคเอกชนในภาคการเกษตรนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save