กรมควบคุมโรค ใช้แอพพลิเคชั่น “DDC-Care” ของ สวทช. ติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อ COVID-19


กรมควบคุมโรค ใช้แอพพลิเคชั่น “DDC-Care” ของ สวทช. ติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อ COVID-19
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาแอพพลิเคชั่น DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ และเริ่มใช้งานจริงที่สถาบันบำราศนราดูรแห่งแรก เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา

กรุงเทพฯ – 23 เมษายน 2563: ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 โดยตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวน 2,839 ราย เสียชีวิต 50 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563) ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือในการเฝ้าระวังผู้มีความเสี่ยงไม่ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า DDC-Care เป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งจะต้องกักตนเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่น DDC-Care 2.กลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาตรวจ ซึ่่งผลตรวจออกเป็น Positive และกลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ญาติที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่น DDC-Care เพื่อติดตามประเมินสุขภาพตลอด 14 วัน และต้องรายงานสุขภาพทุกวัน

“โดยเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค จะทำการส่งลิงค์ผ่านทาง SMS ซึ่งจะต้องมีการสมัครและ Login เข้าไปใช้งาน กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะต้องรายงานสุขภาพให้กับกรมควบคุมโรคได้ทราบในทุกวัน ปัจจุบันได้ส่งแอพพลิเคชั่นให้กับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง จำนวน 1,305 ราย และมีผู้ที่ความเสี่ยงมากกว่า 495 ราย ได้รายงานผลของสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบันในระบบ Dashboard ซึ่งแอพพลิเคชั่น DDC-Care นี้รองรับ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษและจีน” ดร.จุฬารัตน์ กล่าว

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค ได้นำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วที่สถาบันบำราศนราดูร และในส่วนภูมิภาค สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ได้ดำเนินการระดับจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2563 ได้แก่ สคร. 2 ประกอบด้วยจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย, สคร. 8 ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี และบึงกาฬ

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมุ่งป้องกันสุขภาพของประชาชน ลดการแพร่ระบาด ลดความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และอาจรวมไปถึงเรื่องความมั่นคงของประเทศด้วย โดยกรมควบคุมโรคให้ความสำคัญเรื่องการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือผู้ที่สัมผัสจากตัวผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำถือเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดที่จะช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

หน้าแสดงผลการเฝ้าระวังผู้มีความเสี่ยง (สำหรับเจ้าหน้าที่) ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย.63

“ในส่วนการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ในอดีตเราใช้วิธีการส่งบุคลากรเข้าไปตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงถึงที่พักอาศัย เพื่อสอบถามอาการและตรวจสอบว่ามีการเดินทางออกนอกที่พักหรือไม่ ซึ่งมีข้อเสียคือไม่สามารถทำได้หลาย ๆ ครั้งใน 1 วัน การมีแอพพลิเคชั่น DDC-Care ถือว่าช่วยได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสื่อสารทั้ง 2 ทาง โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถสอบถามข้อมูลและแจ้งอาการกับเจ้าหน้าที่เวลาใดก็ได้ ส่วนเจ้าหน้าที่เองก็สามารถติดตามและเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

สถานะการรายงานสุขภาพ (สำหรับเจ้าหน้าที่) ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย. 63.

สำหรับ DDC-Care เป็นอีกหนึ่งผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือทางการแพทย์ แม้ว่าในปัจจุบันการระบาดของไวรัส COVID-19 จะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบในเร็ววัน แต่เหตุระบาดในครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทุกหน่วยงานในประเทศพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีเข้ามาช่วยเหลือด้านระบบสาธารณสุขอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้การระบาดจบได้โดยเร็ว และเพื่อให้คนในประเทศกลับมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกันได้อย่างปกติสุขอีกครั้งหนึ่ง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save