วสท. จัดเสวนาระดมสมองหาแนวทางการแก้ไขป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำรอบด้าน


วสท. จัดเสวนาระดมสมองหาแนวทางการแก้ไขป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำรอบด้าน

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส จัดเสวนา เรื่อง “วิกฤตน้ำ วิกฤติประชา…หาทางแก้อย่างไร” โดยระดมสมองจากนักวิชาการ วิศวกรด้านน้ำ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขป้องกัน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ สู่การวางแผนที่มีประสิทธิภาพทั้งในระยะกลางและระยะยาวอย่างรอบด้าน

วสท. ระดมสมองหาแนวทางแก้ไขป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำรอบด้าน

มนูญ อารยะศิริ

มนูญ อารยะศิริ ประธานคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วิกฤตการเกิดน้ำท่วม น้ำแล้งของประเทศไทยที่ผ่านมาสะท้อนถึงความไม่สมดุลทางธรรมชาติ และจุดอ่อนของกลไกการเฝ้าระวังและการเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน โดยข้อมูล ณ วันเกิดวิกฤตต่างจากการคาดการณ์ทำให้การส่งความช่วยเหลือล่าช้า หรือไม่ทันสถานการณ์ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ที่เกิดพายุฝนตกรุนแรง ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้อุปโภค-บริโภค ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในหลายพื้นที่

วสท.ในฐานะที่หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้งมาโดยตลอดรวมทั้งการให้คำแนะนำเชิงวิชาการตามหลักวิศวกรที่เกี่ยวข้องแก่รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชนเพื่อนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปบูรณาการให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง และวิกฤตปัญหาอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาที่ก่อตั้ง วสท.มาเพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยวิกฤตต่าง ๆนั้นกลับมาดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข จึงได้จัดเสวนา เรื่อง “วิกฤตน้ำ วิกฤตประชา…หาทางแก้อย่างไร” โดยระดมสมองจากนักวิชาการ วิศวกรด้านน้ำ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขป้องกัน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ สู่การวางแผนที่มีประสิทธิภาพทั้งในระยะกลางและระยะยาวรอบด้านเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติใช้รับมือวิกฤตปัญหาในอนาคตต่อไป

ปราโมทย์ ไม้กลัด
ปราโมทย์ ไม้กลัด (กลาง) อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และที่ปรึกษาคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วสท.

แนะให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงคุณค่าน้ำ และจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม ช่วยประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และที่ปรึกษาคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่กายภาพของประเทศในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการบริหารจัดการพื้นที่จึงต้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อนำมาจัดทำแผนจัดการเรื่องลุ่มน้ำเล็ก ลุ่มน้ำกลาง และลุ่มน้ำใหญ่ทุกประเภทรอบด้าน โดยใช้บุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในด้านน้ำในแต่ละลุ่มน้ำและต้องมีพื้นที่รับน้ำ ทำแก้มลิงตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาปริมาณน้ำที่จะไหลสู่พื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่แก้มลิงจะได้นำน้ำที่กักเก็บนี้ไปใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดูแลด้านน้ำมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการน้ำมักจะกระทำเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งแล้ว ก็ไม่ทราบชัดว่าเพราะเหตุใด แต่จะต้องหาทางแก้ไขให้ได้ โดยเฉพาะการให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมรู้ถึงคุณค่าของน้ำอย่างถ่องแท้ ไม่ควรเห็นแก่ตัวในการเป็นพื้นที่รับน้ำและไม่เห็นแก่ตัวในการยอมให้พื้นที่แล้งได้รับน้ำไปใช้ประโยชน์ในการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร และต้องเป็นธรรมในการจัดการน้ำให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงแหล่งน้ำ และต้องให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำอย่างเท่าเทียมกันด้วย ทั้งการลงพื้นที่ช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ การเตรียมที่พักส่วนกลางให้ประชาชนได้พักอาศัยยามเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ การฟื้นฟูหลังเกิดน้ำท่วม รวมทั้งการจ่ายค่าชดเชยต้องกระทำอย่างโปร่งใสและยุติธรรม อีกทั้งการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ภาครัฐควรให้ความใส่ใจและสนใจลงพื้นที่ช่วยเหลือและดูแลอย่างทั่วถึง อย่าคิดว่าพื้นที่ที่ร้องเรียนรอได้หรือยังไม่ถึงเวลาเกิดปัญหายังไม่ต้องเข้าให้การช่วยเหลือ ควรตระหนักในเรื่องภัยธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องยากที่ใครหรือหน่วยงานใดจะคาดเดาได้ จึงต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หาแนวทางการแก้ไขป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำรอบด้าน

อิทธิพลของพายุฝนและเป็นพื้นที่รวมแม่น้ำสายหลัก รับมือแก้ปัญหายาก-ล่าช้า

สัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุโพดุลและคาจิกิในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดพายุฝนตกกระหน่ำรุนแรงตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทยมากกว่าพื้นที่ในภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 17 ปี นอกจากเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุฝนทั้งสองแล้ว ยังเกิดจากการที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รวมแม่น้ำสายหลักทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี รองรับน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงมีภาวะสะสมของปริมาณน้ำจำนวนมากทำให้การระบายน้ำจากแม่น้ำโขงทำได้ยากและล่าช้า ส่งผลให้มวลน้ำที่ไหลลงมาสู่พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีท่วมขังส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นเวลานาน แม้ว่าจะมีการประกาศเตือนจากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลป้องกันภัยพิบัติ ทั้งจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ แต่การป้องกันและรับมือยังทำได้ค่อนข้างล่าช้าและยาก การคาดการณ์ในแต่ละวันแต่ละพื้นที่ยังทำได้ไม่ครอบคลุมและละเอียดเพียงพอ อีกทั้งพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานียังไม่เคยเจอวิกฤตฝนตกน้ำท่วมอย่างในครั้งนี้มาก่อน การเข้าให้คำแนะนำ การช่วยเหลือจากทุก ๆ หน่วยงานจึงค่อนข้างที่จะติดขัดและยากมาก โดยเฉพาะการคาดการณ์ปริมาณน้ำของกรมชลประทานเพราะค่าเฉลี่ยที่คาดไว้กับปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำ คูคลองต่าง ๆ นั้นมาล้นตลิ่งเกิดการท่วมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้แล้วประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะเรียนรู้และนำไปปรับใช้ชีวิตในปีต่อ ๆ ไปหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมขึ้นอีก

“อยากแนะนำให้ภาครัฐถอดบทเรียนการเกิดวิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้วนำไปประเมินการทำงานหาแนวทางรับมือในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งหากเรียนรู้ก็จะพบว่าการรับมือพายุฝนในแต่ละพื้นที่ในแต่ละปีแม้จะทำได้ยากและประเมินได้ยากว่าพื้นที่ไหนจะเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่อื่น ๆ และอิทธิพลของพายุที่จะเกิดขึ้นมีความรุนแรงและจะสร้างปัญหาได้มากน้อยแค่ไหนนั้น จึงต้องจัดทำฐานข้อมูลเป็นรายจังหวัด ทั้งช่วงระยะเวลาที่มักจะเกิดพายุฝน ช่วงเวลาเกิดน้ำแล้ง แล้วเร่งหาแนวทางรับมือป้องกัน ที่สำคัญต้องบูรณาการทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำทุก ๆ หน่วยงาน เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศซึ่งต้องช่วยกันทุก ๆ ภาคส่วนการทำงานจึงจะเกิดประโยชน์องค์รวมแก่พื้นที่ที่ประสบภัยและประเทศต่อไป” สัญญา กล่าว

เสนอให้มีเครื่องมือและเทคโนโลยี ช่วยทำงานด้านน้ำอย่างเป็นระบบ

มงคล หลักเมือง ผู้อำนวยการศูนย์เมขลา กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การป้องกันน้ำในพื้นที่กรมชลประทานนั้นเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ดีอยู่แล้ว ในส่วนนอกพื้นที่กรมชลประทานที่มักจะเกิดปัญหาและเป็นตัวเร่งทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสียนั้น ยังยากที่จะคาดการณ์และจัดทำฐานข้อมูลเนื่องจากพื้นที่กว้างในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสียซ้ำซาก และการจัดทำข้อมูลยังขาดบุคลากรที่ชำนาญรวมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัยหรือเครื่องมือที่พร้อมใช้งานยังมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้บุคลากรในการลงพื้นที่ทำฐานข้อมูล จึงอยากให้หน่วยงานที่มีเครื่องมือมาร่วมทำงานด้านน้ำให้มากขึ้น เช่น ร่วมกันคิดค้นเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน แล้วนำไปติดตั้งแสดงให้เห็นชัดเจน รวมทั้งการออกประกาศแจ้งเตือนทุกช่องทาง ผ่านผู้นำชุมชน ทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือช่องทางอื่น ๆ รวมทั้งระดมบุคลากร อาสาสมัครต่าง ๆ ลงพื้นที่นำเครื่องมือวัดปริมาณน้ำไปติดตั้งยังจุดเสี่ยง คูคลองที่มีปริมาณน้ำ เป็นต้น

“ที่สำคัญงบประมาณในการดำเนินการเรื่องน้ำควรเร่งนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และเรื่องน้ำในทุก ๆ ด้านอย่างเร่งด่วน” มงคล กล่าว

แนะประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำตามพื้นที่ต้องมีความชัดเจนและบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิต การใช้ชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ และต้องสร้างความเข้าใจในการจัดการพื้นที่อย่างง่ายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ ไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางแหล่งน้ำทุกประเภท เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน รวมทั้งต้องมีการวางแผนดำเนินการด้านแก้ปัญหารับมือน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียอย่างมีเอกภาพโดยผลักดันให้มีองค์กร กฎหมาย และนโยบายขับเคลื่อน มีระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผน มีแผนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และมีการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานรอบด้าน พร้อมทั้งให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน ระดับหมู่บ้านของแต่ละชุมชนด้วยเพราะประชาชนในพื้นที่ย่อมรู้ปัญหาดีกว่าคนนอกพื้นที่ที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือ เช่น เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน พื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการเก็บรักษาความชุ่มชื้น การดูดซับน้ำ การชะลอการไหลของน้ำ การขุดคูคลองทางไหลของน้ำ การสร้างเขื่อนและการสร้างฝาย เป็นต้น

“เมื่อส่วนราชการได้ข้อมูลจากประชาชนในแต่ละพื้นที่แล้วควรเร่งนำไปวิเคราะห์ หาแนวทางป้องกัน แก้ไข รวมทั้งแผนการให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้เหมือนทุก ๆ ครั้งที่มีวิกฤตที่ผ่านมา เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายและจะไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องวิกฤตน้ำ” สุวัฒน์ กล่าว

หาแนวทางการแก้ไขป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำรอบด้าน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save