รองผอ.สถาบันบำราศนราดูร เผยมี 6 กลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่


รองผอ.สถาบันบำราศนราดูร เผยมี 6 กลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันบำราศนราดูร จัดเสวนา ในหัวข้อ “ความร้ายแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ ในภาวะการระบาดของ COVID-19” เพื่อเป็นความรู้และแนวทางในการดูแลรักษาป้องกันจากไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝนในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี โดยเผยว่า มี 6 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่จะมีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย พร้อมแนะช่วงฤดูฝนควรรักษาสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงและฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันทุก ๆ ปี

วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่มักจะระบาดในหน้าฝนและมีหลายสายพันธุ์ตามสถานการณ์ในแต่ละปี ที่พบในประเทศไทยจะมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ A, สายพันธุ์ B และสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีอยู่ ซึ่งจะมีความน่าวิตกกังวลมากหากเชื้อไข้หวัดใหญ่ระบาดในที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะทั้งเชื้อและอาการของไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 จะมีอาการไข้ 38-40 องศาเซลเซียส, อาการไอ, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ร่างกายอ่อนเพลีย และมีภาวะโรคแทรกซ้อนที่คล้ายกัน คือมีโรคปอดอักเสบ

โดยการรักษาและวินิจฉัยโรคของแพทย์จะวินิจฉัยแยกโรคทั้ง 2 นั้นค่อนข้างยาก และต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยโดยนำเชื้อจากในโพรงจมูกและในบริเวณปากลำคอไปพิสูจน์เชื้อโรคในห้องปฏิบัติการ แต่หากผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการอาจจะวินิจฉัยเบื้องต้นจากการเฝ้าสังเกตอาการภายนอก ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่พบส่วนใหญ่จะมีน้ำมูกมาก แต่ผู้ป่วย COVID-19 จะมีน้ำมูกน้อย แต่หากจะให้มีความชัดเจนมากขึ้นต้องอาศัยการเช็คประวัติและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และมีการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นเมื่อมีการไอหรือจาม การสัมผัสทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้มีความสามารถในแพร่การเชื้อจาก 1 คนไปสู่ 2 คนในระยะเวลาที่เชื้อฟักตัว

อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับอัตราการเสียชีวิตของไข้หวัดใหญ่ในทั่วโลกอยู่ที่ 1-2% ส่วนในประเทศไทยจากสถิติไข้หวัดใหญ่ย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562 พบว่าช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดมากที่สุดในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน แต่ในปี พ.ศ. 2563 จากการสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สูงในเดือนมกราคม และลดลงมาโดยหลังจากเดือนเมษายน แต่ก็ยังสูงกว่า COVID-19 ถึง 33 เท่า เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทุกคนมีความใส่ใจในการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อ, ให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวัง, การคัดกรองโรคอย่างเข้มแข็ง แต่หากเชื้อ COVID-19 ยังมีผู้ติดเชื้อและยังไม่มีวัคซีนที่รักษาได้ เชื้ออาจจะระบาดเข้าสู่ช่วงหน้าฝนและผสมผสานระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ทำให้การรักษาและเฝ้าระวังต้องมีการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อร่วมกันทั้งไข้หวัดใหญ่และCOVID-19 ซึ่งต้องมีการรักษาและใช้ยาทั้ง 2 โรคพร้อมกันให้เร็วที่สุด เพราะคนไข้อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นได้

6 กลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่

สำหรับ 6 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่จะมีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น โรคปอดอักเสบรุนแรง ถุงลมโป่งพอง ไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง หลอดเลือดในสมองสูง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

แนะวิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่

นพ.วีรวัฒน์ แนะวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งสามารถทำได้ง่ายโดยต้องดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และฉีดวัคซีนประจำปีที่มีสายพันธุ์ A 3 สายพันธุ์และสายพันธุ์ B 4 สายพันธุ์ โดยการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่แต่ละสายพันธ์ได้ประมาณ 40-60% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีและภาวะเชื้อโรคอุบัติใหม่ในอนาคตประกอบ

ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศไทยนั้นทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดให้มีบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และการรับยาต้านไวรัส เพราะสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย บรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ และลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่คนรอบข้าง ส่วนการตรวจเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยในขณะนี้หากประชาชนไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอาการตามที่ภาครัฐกำหนดหากอยากจะตรวจเชื้อต้องชำระค่าตรวจเองในราคาประมาณ 2,000-6,000 บาท ในอนาคตจะมีราคาที่ลดลงหรือเปิดบริการตรวจฟรีนั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ แต่ในขณะนี้ในภาวะที่ยังเสี่ยงรอบด้านอยากแนะนำให้ทุกคนควรหลีกเลี่ยงสัมผัสกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ ไอจามรุนแรง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุแห่งโรคขึ้นก็เป็นได้

นอกจากนี้ควรเพิ่มการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองมากยิ่งขึ้นในช่วง COVID-19 ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงที่ทางราชการเป็นผู้รักษานั้นทางสถานพยาบาล โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะตรวจสอบประวัติการรักษาไข้หวัดใหญ่ของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างเคร่งครัดเนื่องจากคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่จะกลับมาเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อีก แต่คนที่ติดเชื้อ COVID-19 ยังไม่มีข้อมูลยืนยันประกอบที่แน่ชัดว่าจะกลับมาติดเชื้อ COVID-19 ครั้งที่ 2 อีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ คงต้องเก็บผลสำรวจข้อมูลมาศึกษาเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ต้องมีการทำการตรวจสอบอย่างรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง

ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 ชนิดในไทปัจจุบันยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 3 ชนิดในประเทศไทยและต้องได้รับการสั่งจากแพทย์เจ้าของไข้ให้นำยาต้านไวรัสชนิดใดไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละคนตามอาการ ได้แก่ 1. บาลอกซาเวียร์ ช่วยลดเชื้อไวรัสใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรรับประทานครั้งเดียว ประมาณ 2-4 เม็ด ตามน้ำหนักตัวและแพทย์ระบุ สำหรับอาการข้างเคียงและข้อควรระวัง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หลอดลมอักเสบ เป็นต้น 2. โอเซลทามิเวียร์ ช่วยลดเชื้อไวรัสใน 72 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรรับประทานวันละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 5 วัน สำหรับอาการข้างเคียงและข้อควรระวัง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ประสาทหลอน เป็นต้น และ 3. ซานามิเวียร์ ชนิดสูดพ่น ช่วยลดเชื้อไวรัสใน 96 ชั่วโมง และต้องพ่นวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 5 วัน สำหรับอาการข้างเคียงและข้อควรระวัง คือ ไซนัสอักเสบ มึนงง มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้น โดยการรักษาผู้ป่วยที่จะให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยควรรับประทานยาที่ได้ไปใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และหากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการภาวะแทรกซ้อน และรักษาโดยเร่งด่วน

ความคืบหน้าการพัฒนายาต้านไวรัสและวัคซีน COVID-19

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่าในขณะนี้หลาย ๆ ประเทศกำลังคิดค้นและวิจัยพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสชนิดนี้อยู่ แต่ก็เริ่มมีความหวังที่พบว่าในประเทศญี่ปุ่นได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ และใช้รักษา COVID-19 เป็นประเทศแรก และประเทศไทยได้นำเข้ายาชนิดนี้เข้ามาใช้รักษา COVID-19 ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ส่วนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และยาต้านไวรัสบาลอกซาเวียร์ ที่คาดว่าจะมีโอกาสนำมาใช้เป็นยาต้านไวรัส COVID-19 ในอนาคตได้ด้วยนั้น ในอยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษาวิจัยว่าจะมีผลต่อการรักษา COVID -19 อย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันยาทั้ง 2 ตัวนี้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้รักษา COVID -19

อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 ได้เนื่องจากทุกๆฝ่ายช่วยเหลือกันและอาจจะมีมาตรการผ่อนปรนจากภาครัฐให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งการเดินทาง การทำงาน และการเปิดห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ แต่ก็ไม่ควรประมาท ขอให้เฝ้าระวังและดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและแนะนำคนรอบข้างให้ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด สวมใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร ไม่ไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง และต้องพบแพทย์โดยเร็วหากมีความเสี่ยงว่าตนเองจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 เพื่อที่แพทย์จะได้รักษาอาการโดยเร็วไม่ให้ลุกลามแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save