เนคเทค จับมือพันธมิตร จัดแข่งขัน “IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0” ปีที่ 2 เสริมทักษะด้าน IIoT ให้นร.อาชีวศึกษาใน EEC


สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด  (มหาชน) จัดการแข่งขัน “IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมทักษะ ด้าน Industrial Internet of Things (IIoT)  ให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

การแข่งขัน “IoT Hackathon 2022 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เสริมทักษะด้าน IIoT ให้นรอาชีวศึกษา

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)  กล่าวว่า การจัดการแข่งขัน “IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0” จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้ที่นอกเหนือจากห้องเรียนจากผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกันจัดงานมาร่วมถ่ายทอดให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันนำไปใช้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองหลังจากได้เข้าร่วมการแข่งขันสามารถนำไปใช้สร้างอาชีพ ตอบโจทย์ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย และเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยตามแนวนโยบายภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง ผ่านการนำงานวิจัยพัฒนาไปสู่การลงทุน ในรูปแบบการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น โรงงานต้นแบบ สนามทดสอบ และการเตรียมพร้อมด้านกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย  ผ่านการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ  

“การจัดเวทีแข่งขันในครั้งแรกที่ผ่านมานักศึกษาอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดศึกษาต่อและนำไปใช้ในการทำงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาในพื้นที่ EECi นี้จะเป็นโมเดลให้พื้นที่อื่นๆนำไปใช้พัฒนาในพื้นที่อื่นๆเพื่อเสริมสร้างให้กำลังคนด้านอาชีวศึกษาของประเทศไทยแข็งแกร่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป” ดร.เจนกฤษณ์ กล่าว

 

เนคเทคเผยโครงการฯ ปีแรก ได้รับผลตอบรับที่ดี เดินหน้าสานต่อโครงการฯ ปีที่2

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า การแข่งขัน IoT Hackathon Gen R จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2564 เพื่อเสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) สำหรับเด็กอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยมีนักเรียนผ่านการอบรมของโครงการฯ กว่า 100 คน และมีนักเรียน 38 คน ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามเงื่อนไขและเข้าร่วมแข่งขันมาร่วมทำการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยนอกเหนือจากการได้ใช้ในห้องเรียน ซึ่งหลังจบการแข่งขัน ทางโครงการฯ ได้สนับสนุนให้ได้ฝึกงานยังสถานประกอบการต่างๆ และจากการติดตามผล พบว่านักเรียนอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 50% ได้รับการตอบรับที่ดี และได้รับเข้าทำงานยังโรงงานต่อ สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย

สำหรับการแข่งขันในปี พ.ศ.2565นี้ เนคเทค สวทช. ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน   สนับสนุนการดำเนินโครงการทั้งด้านการให้ทุนสนับสนุนจาก EEC  และความเอื้อเฟื้อในการจัดกิจกรรมจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด  (มหาชน)  ประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 16 แห่ง สถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC   ดำเนินงานในโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทักษะเตรียมกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม 

โดยได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ ภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Industrial IoT ให้ครูและนักเรียนของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC   ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร Internet of Things (IoT) ทั้งแบบ Online และ Onsite ให้อาจารย์ที่สนใจ เพื่อมาช่วยสอนในโครงการฯ และได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในโครงการฯ ให้สอดรับการความต้องการจากสถานประกอบการจริง หรือที่เรียกว่าสร้างกำลังคนให้ตรงกับงานให้มากที่สุด

“เนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับอาจารย์ส่วนหนึ่งจากวิทยาลัยที่เคยเข้ารับการอบรมในปีที่แล้ว ปรับปรุงหลักสูตรการอบรม IoT และ IIoT ให้มีความเข้มข้นขึ้นตอบรับความต้องการจากสถานประกอบการที่รับนักศึกษารุ่นที่แล้วเข้าไปฝึกงาน เช่น การบรรจุเนื้อหาการประยุกต์ที่ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC นี้ เช่น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control นอกจากนี้ยังเสริมเรื่องการใช้งาน Application Programming Interface (API) เพื่อไม่ให้นักศึกษาได้รับเฉพาะทักษะ Technician เท่านั้น แต่ยังได้ทักษะของ Developer ติดตัวไปด้วย เพื่อเข้าไปช่วยในการเชื่อมระหว่าง OT และ IT ของโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาเป็น Factory 4.0 พร้อมต่อยอดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R ในธีม Data Analytics for Factory 4.0 กิจกรรมวัดผลและเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายก่อนแยกย้ายกันไปฝึกงานจริงในสถานที่ต่างๆ” ดร.ชัย กล่าว

 

เผยโครงการฯ ปีที่ 2 มีนักเรียน 103 คน  จาก 8 วิทยาลัยเข้าร่วมอบรมพัฒนาทักษะด้าน IIoT แบบเข้มข้น

ในส่วนของนักเรียนที่เข้าร่วมในครั้งที่ 2 นี้ตั้งแต่เปิดรับสมัครนักเรียนจากสถาบันอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วุฒิการศึกษา (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ในเขตพื้นที่  EEC ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564   มีนักเรียนจำนวน 103 คน  จาก 8 วิทยาลัยเข้าร่วมอบรมพัฒนาทักษะด้าน IIoT แบบเข้มข้น โดยใช้ชุดอบรม I – Kit จัดในรูปแบบ Online เป็นระยะเวลา 8  วัน  หลังจากนั้น ได้มีการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเพียง 45 คน ให้เข้ารับการอบรมต่อเนื่อง อีก 5 วัน เพื่อเรียนรู้ทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยใช้ชุดอบรม   I2 – Starter Kit  และจัดวัดผลผู้เรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่จัดอบรม ผ่านการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0  ในหัวข้อ “Data Analytics for Factory 4.0”  ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน พ.ศ. 2565  โดยผู้แข่งขันจะได้ตัวอย่างข้อมูลจริงจากโรงงาน  นำมาวิเคราะห์และสร้าง Dashboard และสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มใดๆ ตามความเหมาะสมที่สามารถนำข้อมูลมาสร้างรายงาน    เพื่อชิงรางวัลรวม 70,000 บาท แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท รองชนะเลิศ 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 10,000 บาท และชมเชย 2 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท ตามลำดับ

“ในอนาคตหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการฯนี้จะต่อยอดสร้างเครือข่ายขยายต่อไปยังทุกๆพื้นที่ที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม มีสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาและภาคเอกชนอื่นๆที่ต้องการให้เกิดการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์การทำงานในภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น”  ดร.ชัย กล่าว

  

มูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด  (มหาชน) กล่าวว่า ทางมูลนิธิสยามกัมมาจล มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC ให้มีความรู้ความสามารถพร้อมเข้าสู่การทำงานจริงและศึกษาต่อในอนาคตในระดับที่สูงขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนที่เข้าร่วมจะนำความรู้ตลอดจนทักษะที่เพิ่มพูนจากการอบรมจากโครงการฯดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาผลงาน พัฒนาตนเอง ถ่ายทอดสู่คนอื่นๆสร้างความเข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป

 

นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดการเรียน – การทำงานจริง

ปิยพล ธนวาส นักเรียนอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า จากการเข้าร่วมการแข่งขันได้เรียนรู้ว่าตัวเองชอบและถนัดด้านอะไร ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและได้ใช้เครื่องมือหลายๆอย่างที่ไม่มีในห้องเรียน หลังจากจบจากโครงการฯนี้แล้วจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเรียน ใช้ในการทำงานจริง ต้องพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไปเพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่รู้อีกมาก สำหรับความคาดหวังในผลการแข่งขันในครั้งนี้ แม้ไม่ได้รางวัลแต่ได้ประสบการณ์ที่ได้ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว

 

ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงาน

ชนนาต สิทธิสาร นักเรียนอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 2 วิทยาลัยสารพัดช่างระยอง กล่าวว่า ขอบคุณโอกาสดีๆที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯนี้ ได้เจอเพื่อนๆ ต่างสถาบัน ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ต่างๆ มากมาย หลังจากจบโครงการฯ แล้วจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงาน ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

ส่วนความคาดหวังในรางวัลจากโครงการฯนี้ หากได้ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่หากไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ นี้เป็นสิ่งดีมากแล้ว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save