สกสว. ทดสอบความแข็งแรงเครื่องบินทะเลนามพระราชทาน “ชลากาศยาน” ตามมาตรฐาน CAAT ก่อนผลิตใช้จริงในเชิงพาณิชย์


สกสว. ทดสอบความแข็งแรงเครื่องบินทะเลนามพระราชทาน “ชลากาศยาน” ตามมาตรฐาน CAAT ก่อนผลิตใช้จริงในเชิงพาณิชย์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทดสอบความแข็งแรงของเครื่องบินทะเล NAX-5 ซึ่งได้รับพระราชทานนามเรียกขานว่า “ชลากาศยาน” หวังจดทะเบียนเพื่อขอรับการรับรองความสมควรเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผลิตเชิงพาณิชย์ โดยมีบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด กระทรวงกลาโหม รับถ่ายทอดองค์ความรู้

ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์

ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ รองผู้อำนวยการภารกิจการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเครื่องบินทะเล 2 ที่นั่ง เพื่อรองรับมาตรฐานความสมควรเดินอากาศ ณ บริษัท สไปลน์เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด จ.ปทุมธานี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย ชินวรรัตน์ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน – อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้บรรยายมาตรฐานการทดสอบ วิธีการทดสอบ และเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ

สกสว.ให้ทุนวิจัยต่อยอดสร้าง NAX-5 หลังสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเล NAX-2 สำเร็จเป็นลำแรกของไทย

จากความสำเร็จในการจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเลขนาด 2 ที่นั่ง (พิเศษ) ลำแรกของประเทศไทย แบบปีกชั้นเดียว ลำตัวใช้วัสดุคอมโพสิตที่ผลิตในประเทศ (NAX-2) โดยทีมวิจัยจากกองทัพเรือนำโดย พล.ร.ท.สมหมาย ปราการสมุทร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักกองทุนส่งเสริมงานวิจัย (สกว.) หรือ สกสว. ในปัจจุบัน เพื่อนำไปใช้งานกับองค์กรภาครัฐ ปัจจุบัน NAX-2 ได้ผ่านการทดสอบการบินมาแล้วกว่า 200 ชั่วโมง สามารถวิ่งขึ้น-ลงในพื้นน้ำและพื้นบกได้อย่างสมบูรณ์ โดยนำมาใช้ในการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ตามภารกิจของกองทัพเรือและใช้ในการฝึกการปฏิบัติให้กับหน่วยราชการ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) มีมติบูรณาการผลงานวิจัยเครื่องบินทะเลสู่การใช้งานจริง เพื่อสร้างความมั่นคงทางทะเลและสนับสนุนการท่องเที่ยว นำไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบ-สร้างเครื่องบินทะเล 2 ที่นั่ง และทดสอบตามมาตรฐานเพื่อการรองรับความสมควรเดินอากาศ (NAX-5)” เพื่อต่อยอดงานวิจัยเดิมเพื่อให้เกิดการรับรองมาตรฐานและนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยกองทัพเรืออนุมัติหลักการให้บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด วิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตเครื่องบินทะเล

“ชลากาศยาน” เครื่องบินทะเล NAX-5

เครื่องบินทะเล NAX-5 ได้รับพระราชทานนามว่า “ชลากาศยาน”

รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว ผู้ประสานงานชุดโครงการ “อุตสาหกรรมความมั่นคงและเทคโนโลยีอวกาศ” กล่าวว่า เครื่องบินทะเล NAX-5 ได้รับพระราชทานนามเรียกขานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ชลากาศยาน” โดย NAX-5 สร้างตามมาตรฐานและมีคุณสมบัติวิ่งขึ้น-ลงในพื้นน้ำและพื้นบกได้ จุน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุด 145 ลิตร ใช้ระบบการเติมน้ำมันตามมาตรฐาน เครื่องยนต์มีความสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 15 – 20 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้น้ำมันออกเทน 91/95 สามารถบินได้นาน 4 ชั่วโมง ที่ความเร็วเดินทาง 153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีพิสัยบินไกลสุด 300 นอติคอลไมล์ ที่รัศมีปฏิบัติการ 120 นอติคอลไมล์ มีเพดานบิน 10,000 ฟุต วิ่งขึ้นสูงสุด 1,400 ปอนด์ และรับภาระทางอากาศพลศาสตร์ได้ -2 ถึง +4 เท่าของน้ำหนักเครื่องบิน

ปัจจุบันเครื่องบินทะเล NAX-5 สามารถทำการบินทดสอบภาคอากาศ ในการบินครั้งแรกที่สนามบินอู่ตะเภาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงต่อยอดเพื่อให้มีความสมบูรณ์ในความปลอดภัยของโครงสร้าง และสามารถทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยในการบินภาคอากาศจนจบตามมาตรฐานการบิน AC 90-89B ซึ่งจะนำไปสู่การจดทะเบียนเพื่อขอรับการรับรองความสมควรเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT)

เครื่องบินทะเล NAX-5 สร้างและทดสอบตามมาตรฐาน ASTM F-2245

รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย ชินวรรัตน์

รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย ชินวรรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) หัวหน้าโครงการ NAX-5 กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรฐานการบินสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับมีอยู่ 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานระบบอเมริกาเหนือ Federal Aviation Administration (FAA) และมาตรฐานระบบยุโรป European Union Aviation Safety Agency (EASA) สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานทั้งสองแบบ การบินพลเรือนทั่วไป โดยเฉพาะในส่วนเครื่องบินแบบ Light Sport Aircraft ได้กำหนดให้ใช้มาตรฐาน ASTM F-2245 : StandardSpecification for Design and Performance of a Light Sport Airplane ซึ่งมี 8 หัวข้อสำคัญ มากำกับกระบวนการสร้างและทดสอบเครื่องบิน ทั้งในส่วนความแข็งแรงโครงสร้างเครื่องบิน ตลอดจนการทดสอบระบบเครื่องบินทั้งหมดในภาคพื้นและภาคอากาศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบิน ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการบินพลเรือนทั่วไป

การออกแบบเครื่องบินทะเล NAX-5

การออกแบบเครื่องบินทะเล NAX-5 ซึ่งเป็น Light Sport Aircraft กำหนดให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักไม่เกิน 650 กิโลกรัม โดยใช้วัสดุประเภท Composite 90% ซึ่งผลิตในประเทศ ที่เหลือเป็นส่วนประกอบอื่นๆ การออกแบบ เริ่มจาก Detail Design โดยทดสอบโมเดลทุกชิ้นส่วนที่สร้างขึ้นมา ให้สามารถสร้าง Mock up ลำโครงสร้างขนานคู่กับลำจริงได้ เพื่อทดสอบรายละเอียดโครงสร้างของ Mock up ว่าแข็งแรงจริง เพื่อให้มั่นใจว่าชิ้นส่วนทุกชิ้นส่วนปลอดภัยได้ตามมาตรฐานจริง

“จากนั้นจึงผลิตออกมาเป็น Prototype และ Final Design ในที่สุด แล้วทำการ Flight Test จำนวน 36 ชั่วโมงบิน เป็น
Aging Data จนถึงขั้นตอนสุดท้าย Approve Final จึงจะสามารถไปจดทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ ในอนาคต บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด วิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานแต่ละซีรีส์ของมาตรฐาน ASTM F-2245” รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย กล่าว

เครื่องบินทะเล NAX-5

ปัจจุบันเครื่องบินทะเล NAX-5 ยังไม่ประสบผลสำเร็จสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเครื่องบิน ในส่วนจุดต่อของปีก และระบบ Landing Gear ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASTM F-2245 พร้อมทั้งพัฒนาสมรรถนะการขึ้น-ลง บนผิวน้ำของเครื่องบินทะเลให้มีความปลอดภัย ซึ่งใช้เวลาราว 1-3 เดือน ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้โครงการล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน

เครื่องบินทะเล NAX-5

เผยตลาด Light Sport Aircraft ใหญ่มากมี Demand จากทั้งรัฐและเอกชน

รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย กล่าวว่า เทรนด์ความต้องการใช้เครื่องบินทะเล โดยเฉพาะ Light Sport Aircraft ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก ปัจจุบันมีการผลิต 300 ลำ หากไทยสามารถผลิตใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยต้นทุนการผลิต NAX -5 อยู่ที่ลำละ 5 ล้านบาท ขณะที่เครื่องบินทะเล 2 ที่นั่งทั่วไปราคาลำละ 10 ล้านบาทขึ้นไป คาดว่าตลาดในไทยน่าจะเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากเป็นที่ต้องการใช้ในภารกิจภาครัฐ ทั้งการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ตามภารกิจของกองทัพเรือ และใช้ในภารกิจของหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น ขนน้ำและดับไฟป่า เป็นต้น รวมทั้งความต้องการของภาคเอกชน โดยเฉพาะเศรษฐีที่นิยมขับเครื่องบินขนาดเล็ก

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน – อวกาศ มจพ.

ที่สำคัญ มจพ.โดย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน – อวกาศ มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้าการบิน โดยเปิดการเรียนการสอนมา 15- 20 ปี สามารถผลิตเครื่องบินต้นแบบได้ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ทำให้มีองค์ความรู้ด้านอากาศพลศาสตร์ ปัจจุบัน Lab มจพ.มีซอฟต์แวร์ สามารถทำ Structure และ Aero Dynamic ได้ ประกอบกับได้บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด วิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตเครื่องบินทะเล ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องบินทะเล เพื่อใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันเป็นแสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก


Author : สุรีย์พร วงศ์ศรีตระกูล


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save