หอการค้าไทย-จีนชี้เศรษฐกิจไทย Q1/2566 พบความท้าทายหนี้ครัวเรือน และหนี้เสีย – อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ส่งออกชะลอตัว และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน


ณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล  ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน   กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดทำ “โครงการดัชนีความเชื่อมั่น หอการค้าไทย-จีน”  โดยทำการสำรวจความเห็นในรูปแบบออนไลน์ไปยังคณะกรรมการหอการค้าไทย-จีน  เครือข่ายสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีนและสมาคมธุรกิจต่างๆ กว่า 72 สมาคม  ตลอดจนกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเจ้าของกิจการ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจยาวนาน มีความใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคเอกชนจีน และชาวจีนโพ้นทะเล

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน

สำหรับแบบสอบถาม ครั้งนี้ มี 16 ข้อ  แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ  ส่วนแรก  เป็นประเด็นคำถามเฉพาะกิจหรือเหตุการณ์ มี 7 คำถาม   และส่วนที่สอง เป็นคำถามประจำ ประกอบด้วย ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีน / ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย  และ /  ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน  รวม 9 คำถาม

ผลจากการสำรวจพบว่าประเด็นความท้าทายที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทยในปี 2566  มี 4 เรื่องด้วยกันได้แก่ “ปัจจัยภายในประเทศ  คือ  1) หนี้ครัวเรือน  และ หนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน / และ “ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ” อีก 3 เรื่อง คือ (2) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน / 3) การส่งออกที่ชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่  / และ4) การรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน

           ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการส่งออกที่ชะลอตัวนั้น สอดคล้องกับการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 นี้  หดตัว 6.1% (หรือ -6.1%) โดยเดือนตุลาคมเดือนเดียว หดตัว 8.5%  (หรือ -8.5%) เป็นการหดตัวต่อเนื่องกัน 5 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัวได้แก่  ยางพารา / เม็ดพลาสติก/  และรถยนต์  อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ยังขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง / ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง/ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น

           หากพิจารณาภาพรวมการค้าผ่านแดนไทย-จีน  เฉพาะที่ขนส่งสินค้าโดยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว  นั้น พบว่ามีมูลค่า 11,000 ล้านบาท หรือ 5.3% ของมูลค่าการค้าผ่านแดนไทย-จีน ทั้งหมด   โดยสินค้าจีน มีมูลค่า 9,400 ล้านบาท ได้แก่ ปุ๋ย /รถยนต์/ อุปกรณ์ทางการแพทย์ //  ส่วนสินค้าไทย มีมูลค่า 1,500 ล้านบาท ได้แก่ ผลไม้ /คอมพิวเตอร์/ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

จากการที่ทางการจีนประกาศเปิดให้บริการ “จุดตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าที่ด่านรถไฟโม่ฮาน” ตั้งแต่วันที่ 3

ธันวาคม 2565  จะทำให้การส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยไปยังประเทศจีน สะดวกรวดเร็ว และค่าบริการโลจิสติกส์ ลดลงด้วย

      สำหรับประเด็นการรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนนั้น  ในปี 2565 นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย 10 ล้านคน ตามเป้าหมายที่วางไว้  จากการสำรวจพบว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นทั้งตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และ ยังคงเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

          อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ จำนวนเที่ยวบินที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขประเด็นนี้เป็นการเร่งด่วน ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า มีนักท่องเที่ยวบางประเทศเหมาลำท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเฉพาะตนเอง เช่น นักท่องเที่ยวรัสเซีย  นักท่องเที่ยวแคนาดา เป็นต้น

             “ส่วนการรอคอยนักท่องเที่ยวจีน  จากการผ่อนคลาย “มาตรการ ซีโร่โควิด (Zero COVID)” ของจีน และการเร่งรัดฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนจีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ //  รวมถึงการที่จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬา “เอเชี่ยนเกมส์” ซึ่งในปี 2566  ที่เมืองหางโจว ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-วันที่ 8 ตุลาคม 2566 นั้น คาดว่าประเทศจีนกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวจีนเดินทางได้” ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ด้านรศ.ดร.ชโยดม  สรรพศรี   อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า  การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในครั้งนี้ ได้มีการสำรวจจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน จำนวน 200 คน  ระหว่างวันที่ 24 พ.ย. ถึง 1 ธันวาคม 2565 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ดังนี้

ประเด็นแรกของการสำรวจคือ เรื่องความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2566 พบว่าความท้าทายที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ปัญหาของเงินเฟ้อที่ส่งผลไปถึงการใช้นโยบายทางการเงินในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ที่กระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งทั้งสองประเด็นมีความสำคัญมากกว่าราคาของพลังงานเพราะแนวโน้มปรับตัวลดลง อีกด้านคือ ความท้าทายที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ประกอบด้วย 4 เรื่อง  คือ ปัจจัยในประเทศ คือ 1) หนี้ครัวเรือน และหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ คือ 2) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (3) การส่งออกที่ชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังไม่ฟื้นเต็มที่  และ 4) การรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ (โดยรอนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นสำคัญ)

 

หากพิจารณาถึงเงื่อนไขประการใดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็วในปี 2566 พบว่ามี 2 ปัจจัยหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศทั้งสิ้น​คือ การกลับมาเยือนไทยอย่างมีนัยยะสำคัญของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และ ความสำเร็จที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนโดยตรงใน “อุตสาหกรรมใหม่”  และผู้ตอบการสำรวจยังให้ความสำคัญต่อปัจจัยในประเทศอีก 2 ด้าน (แม้ว่าระดับความสำคัญจะต่างจากปัจจัยต่างประเทศมาก) ประกอบด้วย ความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และภาครัฐลงทุนเพิ่มในปรับระบบสาธารณูปโภค

ส่วนสัญญาณการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากที่คาดว่าปลายปี 2565 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทย 10 ล้านคน (แต่ในจำนวนนั้นยังไม่มีชาวจีน) พบว่า ร้อยละ 24.3 และร้อยละ 58.6  ของผู้ตอบการสำรวจ มั่นใจมากที่สุด และ มั่นใจมากพอควร ตามลำดับ ว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คำถามเชิงนโยบายคือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังจ่ายสูงมาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น ด้านการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ผู้ตอบเกือบทั้งหมดลงความเห็นว่า นักลงทุนจากต่างประเทศจะสนใจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมากที่สุด และตามมาอย่างห่างๆด้วย พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร พลังงานทดแทน และการท่องเที่ยว

ปัญหาของเงินเฟ้อยังถูกหยิบยกขึ้นมาเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.2 และ 23.7 คาดว่าปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อจะเริ่มผ่อนคลายลงในไตรมาสที่สอง และสาม ตามลำดับ แต่มีร้อยละ 21 คิดว่าน่าจะเริ่มผ่อนคลายได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566

 

 

ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 56.9 คาดปี’66

จีนจะลงทุนจากในไทยเพิ่มขึ้น

รศ.ดร.ชโยดม กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์ไตรมาสแรกของปีหน้าเมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน เมื่อได้สอบถามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ร้อยละ 37.6 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 32.6 คาดว่าจะทรงตัว ส่วนการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศจีน ร้อยละ 50.3 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าไตรมาสแรกของปีหน้าจะดีกว่าช่วงปัจจุบัน ส่วนร้อยละ 33.7 คาดว่าการส่งออกยังคงทรงๆเช่นปัจจุบัน ร้อยละ 44.8 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการนำเข้าของไทยจากจีนจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 32.6 คาดว่าจะทรงๆ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 56.9 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการลงทุนจากจีนมาไทยจะเพิ่มขึ้น  เนื่องจากจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตมายังประเทศสมาชิกอาเซียน  เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์โลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และสืบเนื่องจากความสำเร็จของกรอบ RCEP  ทั้งนี้้อุตสาหกรรมที่จีนให้ความสนใจน่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

 

ผู้ให้ข้อมูลมากกว่าครึ่ง

คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกดีขึ้น

การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสแรกของปีหน้าเปรียบเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่าร้อยละ 55.3 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 31.5 จะทรงๆ เพียงร้อยละ 10.5 ไตรมาสแรกจะชะลอตัวลงอีก ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป (เหมือนกับการสำรวจทั้งไตรมาสที่ สามและไตรมาสที่สี่) ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง พลังงานและสาธารณูปโภค

การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 37 คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้น ร้อยละ 33.1 คาดว่าคงเดิม ร้อยละ 27.1  คาดว่าจะปรับลดลง แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสหน้านั้น ผลการสำรวจไม่สามารถสรุปได้เพราะผลการสำรวจถูกแบ่งไปทุกทิศทางของเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะยังมีต่อไป

“สำหรับการสานต่อภารกิจดำเนินการ “โครงการดัชนีความเชื่อมั่น หอการค้าไทย-จีน”  ติดต่อกันมา เป็นปีที่ 3 แล้วนั้น   ได้มีการสอบถามสมาชิกซึ่งเป็นผู้ตอบแบบสอบถามว่า “ผลจากการสำรวจแบบสอมถามดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน  สามารถใช้เป็นข้อมูลและก่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับแนวทางดำเนินธุรกิจมากน้อยเพียงใด”  ร้อยละ 54.7 ตอบว่าค่อนข้างมีประโยชน์   และ ร้อยละ 24.86 ตอบว่ามีประโยชน์มากที่สุด    จึงกล่าวได้ว่าผลจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน นั้นมีประโยชน์ต่อสมาชิกโดยรวม”  ณรงค์ศักดิ์   กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save