สสช.จับมือไบโอเทคเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น “โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ” ใน 2 จังหวัดนำร่อง


 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา “โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร BCG เพื่อติดตามผลดำเนินงานในประเด็นโมเดล BCG ต่อการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) ทั้งในระดับประเทศและใน 2 จังหวัด นำร่อง ประกอบด้วย จันทบุรีและราชบุรี

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ติดตามข้อมูล ผลลัพธ์ของการดำเนินงานตามแผน BCG ต่อการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของ SDG ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการฯ เพื่อจัดทำ (ร่าง) บัญชีสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

 

สำหรับการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ มี 2 ระดับ คือ 1. ระดับประเทศ พบว่า ภาพรวมมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยปรับลดลง จาก 3.5 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561 เหลือ 2.6 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ.2564 คนไทย 8.5 ล้านคนมีฐานะดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวที่สูงกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2564 และความเหลื่อมล้ำลดลง โดยความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของกลุ่มประชากรที่มีฐานะเศรษฐกิจสูงสุด ต่อรายจ่าย ต่อคนต่อเดือนของกลุ่มที่มีฐานะต่ำสุด  ปรับลดลงจาก 6.15 เท่าในปี พ.ศ. 2560 เหลือ 5.68 เท่าในปี พ.ศ.2564 จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสม ปี พ.ศ.2564 – 2565 รวมกันกว่า 600,000คน  ในส่วนประเด็นที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ การลดใช้ทรัพยากร การเพิ่มพื้นที่ป่า การลดการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ และ 2.ระดับจังหวัด ใน2 จังหวัดนำร่อง พบว่า จังหวัดจันทบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงถึง 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด และจังหวัดราชบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG ประมาณ 30% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด โดยในภาพรวมทั้ง 2 จังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้รัพยากรโดยเฉพาะเรื่องน้ำ

ดร.ปิยนุช กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาสินค้าเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG Model ของจังหวัดนั้นๆเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจภาคการเกษตรซึ่งเป็นจุดแข็งของจังหวัดเป้าหมาย   คณะทำงานได้ทำการศึกษาและลงพื้นที่เก็บข้อมูล ประมาณ 1 ปี โดยกำหนดตัวชี้วัดต่างๆในการดำเนินโครงการฯ เช่น ผลผลิต ราคา ต้นทุน รายได้ แรงงานคุณภาพน้ำและคุณภาพอากาศ  รวมทั้งได้กำหนดขอบเขต นำเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวร่วมพัฒนาสินค้าเป้าหมายของจังหวัดนำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี  กำหนดสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งก้ามกราม และสินค้าเป้าหมายของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และกุ้งขาว โดยพบว่า สินค้าเป้าหมายของทั้งสองจังหวัดมีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนสูงต่อผลิตภัณฑ์จังหวัด เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GPP ภาคเกษตร

“ความท้าทายสำคัญคือ การพึ่งพาตลาดส่งออกโดยเฉพาะในประเทศจีนที่อาจมีความผันผวนของราคาเหมือนกรณียางพารา รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อเป้าหมายการจัดการของเสีย (Zero Waste)  เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนเปลือกสูงถึง 75% ของน้ำหนักผลสด ซึ่งส่วนนี้ต้องการนวัตกรรมมาแก้ปัญหา และการบริหารจัดการน้ำที่ต้องพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การบริหารจัดการปริมาณน้ำ ป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำในช่วงฤดูแล้ง เป็นต้น โดยจัดทำแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาเพื่อรวบรวมผล รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการดำเนินโครงการนำมาวิเคราะห์ผล เมื่อพบปัญหาจะได้ระดมความคิดช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทันที หรือนำข้อมูลที่ได้แบ่งปันให้หน่วยงานหลักที่ดูแลเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น” ดร.ปิยนุช.กล่าว

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวว่า สวทช.โดยไบโอเทค ได้ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้แนวคิด

หลักของจตุภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เช่น การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี ด้วยการนำวิทยา

ศาสตร์และเทคโนโลยีใช้เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตอาหารที่ปลอดภัย การพัฒนาวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกา มีความร่วมมือในการดำเนินงานกับกรมประมงและมหาวิทยาลัยบูรพาในการพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งทะเลให้เกิดความยั่งยืน

นอกจากนี้ ไบโอเทคยังดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยข้าวเหนียวตาม BCG Model ในลักษณะการทำงานครบวงจรทั้งการเพิ่มผลผลิตข้าว การแปรรูปข้าวอย่างง่ายเพื่อสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์ฟางข้าว การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรรวมถึงเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่มาก มาพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีความเป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม ด้ารนอุตสาหกรรมอาหาร ไบโอเทคเน้นการพัฒนาอาหารเพื่ออนาคต เช่น โปรตีนทางเลือก โดยร่วมมือกับมูลนิธิ Scholars of Sustenance Foundation (SOS Thailand) ในการพัฒนาธนาคารเพื่อส่งมอบอาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มผู้เปราะบาง

สำหรับการคัดเลือกจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการฯ นั้น เบื้องต้นได้คัดเลือกจากจังหวัดที่อยู่ใกล้พื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้คณะทำงานได้ลงพื้นที่ติดตามผลและประเมินผลรอบด้านอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง มีปัญหาจะได้แก้ไขได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะได้ทำการประเมินผลวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ นำองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปถ่ายทอด ปรับ Mindset วิธีคิด วิธีทำการเกษตร ทัศนคติเชิงลบของผู้ปฏิบัติคือเกษตรกรยอมรับแล้วกลับไปปรับเปลี่ยนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำการเกษตรด้วย นอกจากนี้ต้องมองภาพรวมความพร้อมของจังหวัดเริ่มตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานเกษตรกรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มหาวิทยาลัยและเกษตรกรในพื้นที่ ว่ามีความพร้อม ความต้องการ มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมทำงานขับเคลื่อนโครงการฯให้เกิดประโยชน์ร่วมกันตอบโจทย์การทำการเกษตรที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความสุขความสมดุลในสังคม เกษตรกรและ สิ่งแวดล้อมกลับมาอีกครั้ง

ดร สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่า  การเปลี่ยนแปลง

เชิงโครงสร้างในการจัดทำนโยบาย BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ  มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน  คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกภาคส่วนที่ร่วมทำงานต้องใจเย็นและจำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจในแนวทางการดำเนินนโยบายที่ตรงกัน ที่สำคัญต้องใช้เวลาในการดำเนินนโยบาย

“BCG มีอยู่แล้ว แต่จะนำประเด็นเรื่องไหนขึ้นมาดำเนินการก่อนและหลังในการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น นอกจากมองประเด็นความท้าทายในประเทศแล้วต้องมองความท้าทายในโลกที่จะเข้ามากระทบต่อการทำนโยบาย BCG ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ การแปรปรวนของสภาพอากาศ การเมืองระหว่างประเทศและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ”ดร.สุวิทย์ กล่าว

สำหรับภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและภาคการแพทย์นั้น ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกแต่จะทำอย่างไรให้ฐานรากจากต้นทางผู้ปฏิบัติ คือประชาชนเข้าใจและร่วมทำงานขับเคลื่อนกับทางภาครัฐด้วย เป็นโจทย์ใหญ่มาก จึงเป็นโครงการฯ นำร่องใน 2 จังหวัด ทั้ง จังหวัดราชบุรีและจันทบุรีขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้ งานวิจัย นำหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำตัวชี้วัดทางสถิติและบุคลากรของหน่วยงานที่ดำเนินโครงการฯ ลงพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่ สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแปรรูปสินค้า พืชผัก ผลไม้ จากภาคการเกษตรแบบเดิมที่ขายเฉพาะในพื้นที่ ในประเทศสู่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากการผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย ไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นพรีเมียมที่ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้สูงเพื่อส่งขายในต่างประเทศสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ เช่น ทุเรียนและมังคุด รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรเศรษฐกิจช่วยให้ขายราคาที่สูงขึ้น สร้างประสบการณ์กับนักท่องเที่ยวผ่านการท่องเที่ยวเชิงอาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เชื่อมโยงกับการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงศิลปและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ สร้างนวัตกรรม ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัยทางคลินิกและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ว่า มีโรคอะไรบ้างและการเข้าถึงการรักษาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพียงพอหรือไม่ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการยอมรับจากภาคประชาชนเจ้าของพื้นที่ให้เข้ามาร่วมทำงานโดยไม่มีอคติและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมมือทำงานร่วมกับคณะทำงาน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้จากทั้งสองจังหวัดนำร่องจะเป็นตัวบ่งชี้การดำเนินโครงการว่าประสบความสำเร็จในเรื่องใดบ้าง และต้องดำเนินการปรับแก้ไขในเรื่องใดบ้าง เพื่อนำไปต่อยอดโครงการในพื้นที่ๆจังหวัดอื่นๆในประเทศไทยต่อไป

วัชริน มีรอด ที่ปรึกษาโครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า  ผลการศึกษาฯ จากโครงการโดยใช้สถิติที่เก็บข้อมูลตามดัชนีตัวชี้วัดที่กำหนดในพื้นที่นำร่องทั้งสอง โดยใช้กลไกในการดำเนินการ 4 ด้าน ประกอบด้วย คน คลังข้อมูล องค์ความรู้และปัจจัยการผลิต พบว่ามีข้อมูลที่หลากหลายมากแต่ทุกๆข้อมูลสอดคล้องกันในเรื่องการมุ่งสร้างศักยภาพ พัฒนาอาชีพการทำการเกษตร สร้างรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำของคนในพื้นที่ การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกจากวัสดุทางการเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร  การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ    ซึ่งกระบวนการขับเคลื่อนต้องสร้างเกษตรกรมืออาชีพในพื้นที่ให้เป็นผู้นำให้ได้ เพื่อหล่อหลอมองค์ความรู้ระหว่างการทำเกษตรแบบดั้งเดิมผนวกกับการทำการเกษตรแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการเกษตร ลดการใช้คน ลดการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ชุมชนในพื้นที่นำร่องมีความรู้ความสามารถ มีความเข้มแข็ง เติบโตทางด้านการประกอบอาชีพต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อการทำลายสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม จำนวนชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานเพิ่มขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ป่าไม้ถูกทำลายลดลง จำนวนผู้เข้าถึงระบบยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้กระบวนการบริการจัดการข้อมูลทางสถิติตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการไปจนถึงการให้บริการที่ตอบโจทย์ทั้งประเทศรวบรวมไว้ในศูนย์เก็บข้อมูลกลางที่สร้างขึ้นมาร่วมกัน เช่น Dashboard  และ Database  เพื่อให้ทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ แก้ไขระเบียบ กฎหมายที่จำเป็นในการดำเนินโครงการให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

สุวรรณี วังกานต์  รองผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า  หากประเทศไทยไม่มีการเก็บข้อมูลรอบด้านจะทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐและโครงการต่างๆสูญเสียงบประมาณ ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลทางสถิติ มีทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติเป็นตัวเลขตัวเลขหรือข้อความมาใช้ในโครงการฯ จะช่วยให้การพยากรณ์ การคาดการณ์เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น การเก็บข้อมูลภาคการเกษตร การเก็บข้อมูลรายได้และการเก็บข้อมูลการนำเทคโนดลยีนวัตกรรมไปใช้ในโครงการฯในพื้นที่จังหวัดนำร่อง ซึ่งการใช้วิธีการทางสถิติไปพยากรณ์นั้นจะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ  โดยเริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาแล้วนำมากำหนดวิธีการแก้ไข และป้องกันปัญหาอย่างมีระบบ

ในกระบวนการเก็บสถิติขั้นตอนแรกต้องทราบบริบทที่เกี่ยวข้องและเป้าหมายที่ต้องการ เช่น บริบทอาจเป็นด้านการศึกษาในพื้นที่ ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ อุตสาหกรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติ การเกิดภัยพิบัติ ดัชนีภูมิภาคมหาสมุทรและอื่นๆ รวมทั้งกำหนดป้าหมายที่ต้องการ อาจเป็นการบรรยายลักษณะข้อมูล หรือเป็นการประมาณค่า หรือ ทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับค่าเฉลี่ย การหาความสัมพันธ์ หรือการพยากรณ์ เป็นต้น  เมื่อทราบข้อมูลและเป้าหมายจะทำ ให้เลือกใช้วิธีการสถิติได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจการนำสถิติไปประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์ หาแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมั่นใจว่าในแต่ละหน่วยงานที่ร่วมทำโครงการฯ มีการเก็บข้อมูลทางสถิติของแต่ละหน่วยงานเกิน 50% ตามตัวชี้วัดที่กำหนด หากนำข้อมูลที่มีบูรณาการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงาน  มาแลกเปลี่ยนสังเคราะห์ข้อมูลแล้วจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนประกอบอาชีพ ประมาณการค่าใช้จ่ายงบประมาณที่จะใช้ในการทำการเกษตรที่เกิดขึ้นประจำ และคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ในอนาคตในการปลูกพืชผลไม้นอกฤดูและในฤดู เพื่อเพิ่มมูลค่าทางผลผลิต เป็นต้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save