สวทช. โชว์ผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2563 ตอบโจทย์ประเทศ


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โชว์ผลงานวิจัยเด่นปีพ.ศ. 2563 ภายในงาน “NSTDA Beyond Limits: 3 Decades of Impacts” 3 ทศวรรษ แห่งความต่อเนื่อง ความสำคัญและผลกระทบ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ สวทช. ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดร่วมทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ สามารถต่อยอดขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถึง 66,255 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในภาคการผลิตและบริการมูลค่า 13,796 ล้านบาท โดยปัจจุบัน สวทช.เป็นองค์กรอันดับ 1 ของประเทศที่จดทรัพย์สินทางปัญญา รวม 451 คำขอ

จับตาผลงานวิจัยเด่น

สวทช. ปี’63 มุ่งพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับผลงานวิจัยเด่น ของสวทช.ในปีพ.ศ.2563 ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น แบตเตอรี่ 20C มีการพัฒนาและติดตั้งกับระบบกำเนิดไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่โรงไฟฟ้าทับสะแก และระบบกำเนิดไฟฟ้าจากกังหันลมที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง, GRock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ ทำจากวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ช่วยลดภาระน้ำหนักโครงสร้างอาคารมากกว่า 20% พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อ Green Rock, น้ำมัน B10 มีการทดสอบร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถกระบะจนเป็นที่ยอมรับ การตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิค ELISA สามารถคัดกรองท่อนพันธุ์เพื่อป้องกันโรคมากกว่า 700,000 ตัวอย่าง คิดเป็นพื้นที่ 437 ไร่ และถ่ายทอดวิธีการตรวจให้บริษัทเอกชน 14 บริษัท, เทคโนโลยี PCA Emitter เสาอากาศตัวนำไฟฟ้าเชิงแสงตัวกำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์ของคนไทยที่มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก ซึ่งปัจจุบันผลิตต้นแบบส่งขายให้บริษัทจีน และชุดตรวจไฮบริดชัวร์ (HybridSure) เทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ลูกผสมได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปสู่ตลาดโลก

2.ผลงานวิจัยเด่นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ เช่น ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติได้เดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้บริการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว โดยมีตัวอย่างพืช 1,391 ตัวอย่าง จุลินทรีย์ 6,051 ตัวอย่าง ข้อมูลจีโนม 6,051 ตัวอย่าง และข้อมูลดีเอ็นเอ 12,936 ตัวอย่าง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19แบบง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังนำไปใช้กับไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA ได้ทุกชนิด

ขณะที่ EECi มีความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคาร 65% คาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในปีพ.ศ. 2564 อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา

3.ด้านการเกษตรและอาหาร ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่ยังขาดงานวิจัยที่จะเข้าไปสนับสนุนให้เกิดมูลค่าที่ตลาดมีความต้องการ ดังนั้น สวทช.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดนำงานวิจัยเด่นๆในแต่ละสาขาไปร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร สร้างอาชีพ ลดการใช้สารเคมี และช่วยให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าแก่เกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ผู้ปลูกข้าว, มันสำปะหลัง, อ้อย, และยางพาราแก่ รวมทั้งสินกว่า 12,500 คน ในพื้นที่ 305 ตำบล 181 อำเภอและ 51 จังหวัด เช่น งานวิจัยพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น มีความทนทานรับมือกับภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และทนทานต่อโรคและแมลง ซึ่งมีข้าวหลายสายพันธุ์ได้รับการรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์หอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิรินต้านทานโรคไหม้ ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59 ต้านทานโรคไหม้และขอบใบแห้ง ส่วนพันธุ์ข้าวที่ได้รับรองจากรมการข้าว เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 51 และ ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 73 เป็นต้น

นอกจากนี้ สวทช. ยังพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเจ้าพันธุ์สินเหล็ก ซึ่งได้รับรองพันธุ์พืชใหม่จากกรมวิชาการเกษตรแล้วทั้ง 2 สายพันธุ์ รวมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรมและลักษณะเด่นของสายพันธุ์ข้าวไทย 250 สายพันธุ์ โมบายแอปพลิเคชันตรวจวินิจฉัย 12 โรคสำคัญในข้าว และมีการใช้ระบบจัดการงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชในระดับภูมิภาคอาเซียน

ในส่วนของงานวิจัยสำหรับช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง สวทช.มีการพัฒนาสายพันธุ์พิรุณ 1, 2 และ 4 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ให้แป้งสูงและปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ในด้านการแปรรูปได้พัฒนาฟลาวมันสำปะหลังไซยาไนด์ต่ำปราศจากกลูเตนสำหรับทำเบเกอรี่และขนมปัง, ถุงพลาสติกสลายตัวได้จากมันสำปะหลังสำหรับใช้แยกขยะอินทรีย์

ดร.ณรงค์ กล่าวว่าในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง สวทช. ได้นำเทคโนโลยีตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิคอีไลซา และการผลิตท่อนพันธุ์มันปลอดโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ไปช่วยกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในการคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค, นำงานวิจัยไปช่วยเหลือผู้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย สวทช.วิจัยค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกสายพันธุ์อ้อยที่มีพันธุกรรมหวาน พร้อมทั้งพัฒนาพันธุ์อ้อยพันธุ์ภูเขียว 2 และภูเขียว 3 อ้อยพันธุ์ดีที่มีความหวานและผลผลิตสูง ซึ่งได้รับการรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ในด้านการผลิตมีการพัฒนาโมเดลการจัดการเกษตรแปลงใหญ่สำหรับอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงชุดตรวจ Dextran ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตและ ยางพารา สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยรักษาสภาพน้ำยางไม่ให้เน่าเสีย การใช้สารทดแทนแอมโมเนียที่เป็นอันตราย รวมถึงการพัฒนาน้ำยางดิบเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

4.ด้านการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย สวทช.สร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศผ่านการให้ทุน 708 ทุน สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ร่วมวิจัยในห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแห่งชาติ 569 คน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจำนวน 8 แห่ง ในการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงนำงานวิจัยที่อยู่บนหิ้งมาต่อยอดเป็นผลงานวิจัยอันทรงคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ช่วยเหลือภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศในอนาคต

ไบโอเทค พัฒนาสายพันธุ์ข้าว-มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์อุตฯอาหาร

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ไบโอเทคมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าวร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา, ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดาและข้าวเจ้าพันธุ์ธัญญา 6401 เป็นต้น โดยทำการปลูกทดสอบในแปลงและประเมินความพึงพอใจร่วมกับเกษตรกร ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกข้าวพันธุ์ดี ที่เหมาะสม เพื่อนำไปขยายผลการปลูกในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ยังปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ คือ พันธุ์แดงโกเมน และพันธุ์ซันไชน์ ซึ่งเป็นมะเขือเทศเชอรี่ หวานกรอบ ผลดก ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ให้ผลผลิตสูง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงการค้า และถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตผลสดต่อไป นอกจากนี้ ไบโอเทคยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอาหารระหว่างคณะทำงาน นักวิจัย ร่วมกัน เช่นผลิตภัณฑ์ eLysozyme ชนิดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารกุ้ง โดยทำงานร่วมกับ บริษัทโอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด และบริษัทดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด, ผลิตภัณฑ์เบตากลูแคนและยีสต์โพรไบโอติกสำหรับปศุสัตว์ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอเชียสตาร์ เทรด จำกัด, ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมัก น้ำมังคุด น้ำสับปะรด น้ำตาลมะพร้าว กระเทียมดำ โดยทำงานร่วมกับ บริษัทเอแอนพี ออร์ชาร์ด 1959 จำกัด บริษัทซินอาบริว จำกัด บริษัทไทยอุดมอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด บริษัทนพดาโปรดักส์ จำกัด และผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกใหม่จากเห็ด ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง (น้ำตาลลิน) เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 180 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ตลอดจนลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก และพร้อมที่จะทำงานกับภาคเอกชนทุกๆรายที่สนใจเข้าร่วมทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของไทยให้ก้าวไกลและขายได้ในตลาดสากล

 

เอ็มเทคเดินหน้าวิจัยยางจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพิ่มมูลค่ายางพารา 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy Model ซึ่งเอ็มเทคได้มีการคิดค้นงานวิจัยพัฒนายาพารามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับภาคการผลิต ช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยเริ่มจากนำงานวิจัยช่วยวิจัยน้ำยางสดและน้ำยางข้น โดยใช้เทคโนโลยีสารต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปยางแผ่น ช่วยลดมลพิษตกค้างในพื้นที่สวนยางกว่า 3,700 ไร่, น้ำยางข้นสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางข้นทางการค้า มีการนำไปใช้ทำถนนลาดยางกว่า 4,610 กิโลเมตรใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ, การนำกลับเนื้อยางจากของเหลือทิ้งและ by product ในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่โรงงานน้ำยางข้นเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทยเป็นอุตสาหกรรม Zero Rubber Waste จนถึงระดับผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรมหรือใช้ในอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสูตรยางสำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพสูงให้มีสมบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมกว่า 50 บริษัท

นอกจากนี้ในปีพ.ศ.2564 นี้ เอ็มเทคได้ทำการวิจัยยางพาราในหลายๆเรื่องเพิ่มเติม ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระดับอุตสาหกรรมและพร้อมส่งมอบ เช่น งานวิจัยสารช่วยให้น้ำยางจับตัว, ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น, ทำเป็นยางก้อนถ้วยที่มีสมบัติเทียบเท่าเดิมและต้นทุนราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น, การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยางโดยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อขยายโอกาสการเปิดตลาดของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย และผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่เพื่อการเล่นและการเรียนรู้

อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตยางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น ต้องตระหนักถึงการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้เตรียมพัฒนากระบวนการผลิตยางแบบใหม่ ที่เรียกว่า “มาสเตอร์แบตช์” ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติมด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตยาง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย

 

นาโนเทคชูเทคโนโลยีคีเลชัน ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านเกษตรและอาหารของประเทศ

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยี มีงานวิจัยที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเกษตรและอาหารของประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการผลิตอาหารจากพืชและสัตว์เศรษฐกิจไทย สร้างนวัตกรรม ปุ๋ย อาหารสัตว์คุณภาพสูง เพื่อใช้ในประเทศ ตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านเกษตรและอาหารของประเทศ ซึ่งได้ผนวกกับศาสตร์ด้านนาโนเคมีและการวิเคราะห์ขั้นสูงเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน มะม่วง และตอบความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อความยั่งยืนของประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจแบบ BCG โดยผลงานสำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยคีเลตของกรดอะมิโนธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชเศรษฐกิจด้วยการฉีดพ่นทางใบ ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องเพิ่มการดูดซึม เร่งการเจริญเติบโตของพืช เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมลดค่าใช้จ่ายจากการสูญเสียธาตุอาหารทางดิน และธาตุอาหารเสริมอะมิโนคีเลตสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยวิจัยพัฒนาต้นแบบสูตรธาตุคีเลตรวมคุณภาพสูงแบบจำเพาะ ที่สามารถพัฒนาให้เหมาะกับสัตว์เศรษฐกิจแต่ละประเภท เช่น สุกร ไก่ไข่ และโคนม ตอบความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น สุกร ที่มีมูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรกว่า 24,000 ล้านบาท

ในปีพ.ศ.2564 นี้ นาโนเทคและกลุ่มน้ำตาลมิตรผล จะร่วมกันขยายผลการใช้ประโยชน์ชุดตรวจการเจือปนของเด็กซ์แทรนความไวสูงด้วยเทคโนโลยีนาโนเซนเซอร์ ในกระบวนการผลิตน้ำตาลเพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 7 แห่งทั่วประเทศ

เนคเทค เน้นวิจัยและพัฒนาเครื่องมือช่วยขับเคลื่อน Smart Farm

วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนคเทค มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ เพื่อใช้เดินหน้าขับเคลื่อน Smart Farm สู่สังคมไทย สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ร่วมกับดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม เช่น
Internet of Things ( IoT ) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)
เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการปลูกตั้งแต่ต้น ส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพและประเมินปริมาณผลผลิต, ระบบอัจฉริยะเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ( AQUA GROW), ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map), ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch) ภายในแนวคิด Farm to School, ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะแบบพอเพียง (HandySense) และระบบจัดการแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ (WiMaRC) ซึ่งทั้งหมดเน้นให้เกิดประโยชน์กับคนไทยในทุกระดับ เกิดผลสำเร็จจากการนำไปใช้แล้ว เช่น Agri-Map มีผู้เข้ามาสืบค้นข้อมูลกว่า 43 ล้านครั้ง สามารถทำโมเดลทำนายผลผลิตและค่าควาหวานของอ้อยโดยได้ค่าความถูกต้องถึง 90%, Thai School Lunch มีผู้ใช้งานทั่วประเทศถึง 58,046 บัญชี ครอบคลุมโรงเรียนที่ต้องจัดหาและปรุงอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนได้ทั่วประเทศ

ในอนาคตจะพัฒนาให้มี AI มาช่วยในการบริหารจัดการส่งผลผลิตด้านการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารป้อนเข้าสู่โรงเรียนช่วยลดอาหาร ลดระยะเวลาในการปรุงอาหารในแต่ละมื้อ เป็นต้น

“ในอนาคต ทีมนักวิจัยเนคเทค มุ่งวิจัยใช้เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์มาช่วยการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอาหารเพื่อช่วยให้อาหารเกิดประโยชน์และลดภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงนอกเวลาการเพาะปลูกพืช เป็นต้น”
ดร.ชัย กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save