สวทช. เผยความคืบหน้า “1 ปี แผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ไทยและก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน Medical AI” พร้อมพัฒนา AI รองรับการใช้งานทุกมิติ


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยผลการดำเนินงาน“1 ปี แผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยและก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน Medical AI” เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนา AI ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า

เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence  : AI)  ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570” (Thailand National AI Strategy and Action Plan 2022-2027) โดย สวทช. และ  สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชา ติ (สดช.) ร่วมเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานมาครบรอบ 1 ปี จึงจัดแถลงข่าว “1 ปี แผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน Medical AI” ขึ้น   ทั้งนี้กระทรวง อว. ยินดีที่มีส่วนสำคัญในการร่วมกันผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เป้าหมายของแผนฯ ที่กำหนดไว้ ให้เกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อให้เท่าทันต่อการเข้ามาของAI ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในระดับต่างๆ รวมทั้งการสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี AI ในประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวนี้ได้วางมิติการพัฒนาได้อย่างครบถ้วน ทั้งในเรื่องของกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน การวิจัยพัฒนา และส่งเสริมการประยุกต์ใช้งาน AI ซึ่งในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงาน ภายหลังอนุมัติแผนฯ อย่างเป็นทางการ ได้แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือที่ทุกท่านได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันผลักดันการดำเนินงาน จนเกิดผลงานตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากการนำเสนอผลการดำเนินงานของแผนฯ ดังกล่าวแล้ว ยังจัดให้มีการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง  “การวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาและการต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงการพัฒนากำลังคน ตลอดจนส่งเสริมระบบนิเวศการวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการ AI ตลอดระยะเวลาทำงานใน 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า การนำ AI ไปใช้ในประเทศไทยหลักๆ ด้วยกัน 4ด้าน ได้แก่ 1.นำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการขององค์กร ประมาณ 50% 2.นำไปใช้เพื่อประยุกต์ใช้สำหรับบริหารจัดการภายในองค์ประมาณ 43% 3.นำไปใช้เพิ่มรายได้ให้กับองค์กรประมาณ 36% และอื่นๆอีกประมาณ 1% นอกจากนี้ยังมีหลายภาคส่วนและหลายหน่วยงานที่ยังไม่ได้นำ AI  ไปประยุกต์ใช้งาน เนื่องจากอยู่ในช่วงศึกษาข้อมูลในการนำ AI มาใช้ให้ตรงกับงานและกลุ่มเป้าหมาย ยังไม่มีความจำเป็นในการนำมาใช้และยังไม่มีงบในการสนับสนุนนำ AI มาใช้ งาน ซึ่งคณะทำงานได้พยายามทำการศึกษาและพัฒนารวมทั้งวิจัยประเด็นปัญหาต่างๆแล้วนำมาจัดทำยุทธศาสตร์ในการนำ AI ไปใช้งานหลักๆ

ผลการดำเนินงานมุ่งเป้าหลักใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ ตั้งเป้าต้องมีคนรับรู้ ตระหนักและดำเนินการถูกต้องในด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลประมาณ 600,000 คน 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 70 ของโลก สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญต้องสร้างมูลค่าเพิ่มการลงทุนด้าน AI ให้ได้ 10% ตามระยะเวลาของแผนฯการดำเนินงาน3.ด้านการพัฒนากำลังคน ขณะนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน AI ได้เห็นชอบภาพรวมข้อเสนอการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน ให้ได้ประมาณ30,000 คน 4.ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย เกิดนวัตกรรม AI ให้ได้ประมาณ 100 คน สร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือผลักดันให้เกิดการต่อยอดทางนวัตกรรมด้าน AI  เกิดมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาทตลอดการดำเนินงาน และ5.ส่งเสริมการใช้ AI ในธุรกิจต่างๆ ทั้งในภาครัฐ กลุ่มเป้าหมายทางอุตสาหกรรมให้ได้ประมาณ600 หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ

จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท และที่สำคัญคือจากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปี พ.ศ.2565ที่ผ่านมา

สำหรับการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง  “การวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ซึ่ง สวทช. ได้ร่วมกับกับ กรมการแพทย์ และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มที่จำเป็นในการนำไปใช้งานทางการแพทย์ การคัดกรองผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ ร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน การเก็บข้อมูลของบุคลากรของทั้ง 3 หน่วยงาน การเก็บรักษาประวัติการรักษาของผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้นักวิจัยของทั้ง 3 หน่วยงานเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำมาต่อยองานวิจัยทางการแพทย์และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องร่วมกันในอนาคตตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงาน

“ทั้งนี้ขอให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่สร้างแพลตฟอร์มร่วมกันจะไม่มีข้อมูลที่สำคัญของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนหรือออกสู่มิจฉาชีพอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ  กล่าว

 

นายแพทย์ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเบื้องต้น ตอนนี้ AI ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน และมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านนำ AI ที่ขึ้นทะเบียนไปใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพก่อนนำมาใช้งานจริงทางด้านการแพทย์ก่อนทุกแพลตฟอร์ม AI และสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์จากงานวิจัยเกี่ยวกับ AI  จะต้องมีการจัดทำระบบมาตรฐานทางเครื่องมือแพทย์ควบคู่เพื่อความปลอดภัยในการใช้ AI สำหรับผู้ป่วยในทุกๆโรคด้วย  ซึ่งภายในระยะเวลา 5 ปีในความร่วมมือ คาดว่าเบื้องต้นจะมีการคิดค้นใช้ AI มาใช้เรื่องการประเมินโรคที่ทำให้จอประสาทตาเสื่อมหรือผิดปกติ อาจจะนำโมเดลการวิเคราะห์จอประสาทตาด้วย AI ที่มีอยู่เดิมและได้จากการเก็บข้อมูลศึกษาใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อทำการรักษา ซึ่ง AI จะตัดสินว่าผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาเรื่องจอประสาทตาอาจจะมีความผิดปกติมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับข้อมูลการวิจัยและการประเมินผลของ AI ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาด้วยทุกครั้งแล้วส่งต่อรับการรักษาตามขั้นตอนที่ถูกต้องในทุกๆมิติทางการแพทย์ต่อไป

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร หัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำ AI ไปใช้งานด้านการแพทย์ต้องมีผู้เชี่ยวชาญขององค์กรร่วมทำงานร่วมกันก่อนให้เข้าใจในบริบทการทำงานร่วมกัน การต่อยอดความร่วมมือนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผู้ป่วย พนักงานของแต่ละส่วน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์รวมไปถึงทุกๆส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งหลายๆ AI ที่ใช้อยู่ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น การถ่ายภาพเอ็กซเรย์อาการป่วยของผู้ป่วยในโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคภายในร่างกายที่ตรวจด้วยตาเปล่าไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันที และการอ่านคำวินิจฉัยที่ได้จาก AI ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ ทางรังสีมาร่วมทำการวินิจฉัยด้วยทุกๆครั้ง เพราะ AI เป็นเพียงแพลตฟอร์มและเครื่องมือเท่านั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่แท้จริง ส่วนแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จาก AI กับโรงพยาบาลอื่นๆ

ในอนาคต คาดว่าจะต้องทำการศึกษาและหาพันธมิตรทางการแพทย์ที่มีการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย รวมทั้งคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้มาร่วมพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้าน AI ของไทยที่นำมาใช้รักษาโรคที่หลากหลายให้มากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save