NIA จับมือไทยยูเนี่ยนและม.มหิดล ปั้น 23 ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสู่ระดับ Deep Tech ผ่านโครงการ SPACE-F


NIA จับมือไทยยูเนี่ยนและม.มหิดล ปั้น 23 ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสู่ระดับ Deep Tech ผ่านโครงการ SPACE-F

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว 23 สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโปรแกรมพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารในระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับให้สตาร์ทอัพได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีอาหารในระดับ Deep Tech มุ่งสู่นวัตกรรมอาหารเพื่ออนาคต

ในปีแรก มีสตาร์ทอัพให้ความสนใจร่วมสมัครโครงการ SPACE-F ทั้งหมด 142 ทีมทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 23 ทีม ประกอบด้วยประเภท Incubator หรือประเภทบ่มเพาะนวัตกรรม จำนวน 12 ทีมและ Accelerator หรือประเภทเร่งผลักดันความสำเร็จ จำนวน 11 ทีม

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย ในยุค Disruption นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอาหาร ในขณะเดียวกัน ต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน ทั้งในการผลิต การบริการ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการเหลือทิ้งของอาหาร เช่น การนำวัตถุดิบที่ถูกคัดทิ้งมาแปรรูป หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ โปรแกรมการผลิตแบบอัจฉริยะ การพัฒนาการเกษตรในเมืองเพื่อรองรับปริมาณประชากรและความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึง การพัฒนาอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้สูงวัย อาหารที่ให้พลังงานทดแทน โครงการ “สเปซ-เอฟ” จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมของประเทศในการเตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
โครงการ SPACE-F มุ่งพัฒนาฟู้ดเทคสตาร์ทอัพใน 9 สาขา ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต วัตถุดิบและส่วนผสมอาหารใหม่ๆ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วยโปรแกรมการสนับสนุนจาก 3 ภาคหลักที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ในส่วนของ NIA นั้นจะให้การสนับสนุนตั้งแต่ การดึงหน่วยงานร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการระดมทุน ไปจนถึงการช่วยอำนวยความสะดวกการออกสมาร์ทวีซ่า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนช่องทางตลาด การประชาสัมพันธ์ การออกงานอีเว้นท์ เช่น Startup Thailand , Innovation Thailand Expo ต่อเนื่องไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสตาร์ทอัพภายในโครงการร่วมกัน

“แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศไทย แต่การพึ่งพิงการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจทำได้เพียงระยะเวลาในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ เนื่องด้วยตลาดการแข่งขันของธุรกิจอาหารกำลังจะมุ่งหน้าไปที่การพัฒนาบริการ และนวัตกรรมอันทันสมัยที่เพิ่มมากขึ้น โครงการ SPACE-F จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ ที่จะเป็นผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการตลาดอาหารผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน โดยสตาร์ทอัพเหล่านี้ล้วนเข้าใจปัญหาของระบบซัพพลายเชนในธุรกิจอาหารอย่างถ่องแท้และมีแผนทางธุรกิจที่สามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก และเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมอย่างจริงจังมาโดยตลอด สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมอาหารมาสู่ภาคธุรกิจ มาเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ความเข้าใจไปปรับใช้ และนอกเหนือจากศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนแห่งแรก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดให้สตาร์ทอัพในโครงการเข้ามาใช้เพื่อทดลองและวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยมืออาชีพแล้ว เรายังมีบุคลากรในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ และการเงิน เป็นต้น เข้าแนะนำแนวทางพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า Incubator และAccelerator ทั้ง 23 ทีม จะสามารถต่อยอดทั้งด้านนวัตกรรมและประสบความสำเร็จด้านธุรกิจไปด้วยกัน

สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ

รศ.ดร. สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย เป็นแหล่งความรู้และโนฮาวด์ รวมทั้งเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางอาหารโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สำหรับโครงการการ SPACE-F นั้น คณะวิทยาศาสตร์ฯ จะเสริมกำลังเหล่า สตาร์ทอัพด้วยความรู้และโนฮาวด์ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเหล่า สตาร์ทอัพ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า จนสามารถเติบโตในตลาดได้อย่างรวดเร็ว ประสบความสําเร็จในธุรกิจต่อไป

โครงการ SPACE-F

บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด หนึ่งใน 12 สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ SPACE-F ประเภทบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubator) โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ Let’s Plant Meat ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากพืช

ฐิติมา วงศ์ทะกันต์ Head of Operation บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า เดิมที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องเทศ และผงปรุงรสต่างๆ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Let’s Plant Meat โปรตีนจากพืช เช่น ถั่วและข้าว ซึ่งมีรสชาติ คุณค่าทางอาหารและผิวสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์ ให้ประสบการณ์ในการทำอาหารประเภทเบอร์เกอร์ ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ อีกทั้งประโยชน์ที่ได้จากพืช คือ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร
โดยระยะแรกผลิตออกมาในรูปของเนื้อวัว ขณะนี้ผลิตออกมาเป็นต้นแบบ และเริ่มทดสอบ สามารถผลิตเป็นวัตถุดิบในติ่มซำได้ หากเป็นไปตามแผนงานจะเริ่มวางจำหน่ายในต้นปีหน้า ผ่านทางร้านอาหารและร้านค้าปลีก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยและต่างชาติ จากนั้นจะพัฒนาเป็นเนื้อหมูและเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ต่อไป

สำหรับการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และอุปกรณ์ที่ช่วยวิเคราะห์อาหาร

สุรพร กัญจนาภานิช

ด้าน สุรพร กัญจนาภานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัญจนาพร (สยาม) จำกัด ซึ่งเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ประเภทบ่มเพาะนวัตกรรมเช่นกัน กล่าวถึง EAT’ Straw หลอดรับประทานได้จากแป้งมันสำประหลังว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตข้าวหางงอก โดยร่วมมือกับทางอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Science Park) จากนั้นได้พัฒนาหลอดรับประทานได้จากแป้งมันสำประหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ สามารถกระทุ้งน้ำแข็งได้เหมือนหลอดพลาสติก ทนความร้อนได้ 900C และใช้งานได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง จากนั้นจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญรับประทานได้ เนื่องจากผลิตจากมันสำประหลัง

ปัจจุบันนักวิจัยได้พัฒนาหลอดจากแป้งมันสำประหลังคืบหน้าไปแล้ว 85% ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับจูนเครื่องจักรเพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ให้สวยงามประมาณ 3 เดือน คาดว่าไม่เกินมีนาคม 253 จะสามารถวางจำหน่ายในท้องตลาดได้ โดยในระยะ 3 เดือนแรก มีกำลังการผลิต 150,000 หลอด/วัน เน้นทำตลาด B2B มีการแจกให้ทดลองใช้จริง หากได้การตอบรับที่ดีจากตลาด สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 700,000 หลอด/วัน การที่บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ SPACE-F ในครั้งนี้ ทำให้มีพี่เลี้ยงที่ชำนาญเป็นที่ปรึกษา และสามารถทดสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ ได้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save