ผศ. ดร.ณัฐ วรยศ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 42 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


การเป็นวิศวกรนั้น ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้ทักษะชีวิต

ณัฐ วรยศ

การเรียนการสอนในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา ตามพลวัตของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปประกอบกับมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว มีการค้นพบ พัฒนา และสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงมีความเป็นไปได้ยากที่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะสามารถครอบคลุมได้หมด เฉกเช่นเดียวกับการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะต้องพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของแต่ละวิชาในแต่ละสาขาให้สอดรับกับการผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถที่จะนำพาสังคม ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

3-5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้ความสำคัญการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง

ผศ. ดร.ณัฐ วรยศ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 42 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเป็นเพียงการปรับเทคนิคการสอนหน้าชั้นมาสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีแบบแผนจากวิชาหนึ่งไปสู่อีกวิชาหนึ่งตลอดทั้งหลักสูตร มีการพัฒนากระบวนวิชาใหม่ ๆ ที่ทำให้นักศึกษาได้มองเห็นภาพของงานทางวิศวกรรม ก่อนที่จะเข้าสู่การเรียนกระบวนวิชาเฉพาะทางตามสาขาที่ตนเองเลือก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้เห็นความเชื่อมโยงของประเด็นโจทย์ปัญหาทางวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาบางแห่งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปฝึกงานในสถานประกอบการในปีแรก ๆ ของหลักสูตรการเรียนด้วยมองเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ในการสร้างโจทย์ปัญหาทางวิศวกรรมและการคิด เพื่อวิเคราะห์โจทย์ปัญหา ซึ่งหากทำได้ในปีแรก ๆ แทนที่จะทำในปีท้าย ๆ ก่อนที่จะจบการศึกษาเช่นสมัยก่อน ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง เพราะจะได้นำสิ่งที่เห็นที่พบเจอมาคิดวางแผนการเรียน เลือกวิชาที่จะเรียนได้สอดคล้องกับสิ่งที่นักศึกษาสนใจ บางหลักสูตรถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มระยะเวลาในการฝึกงานและสร้างกลไกในการเรียนรู้ในการฝึกงานร่วมกับสถานประกอบการ ให้การฝึกงานเป็นการเรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์และมีแบบแผนสามารถทำซ้ำและประเมินผลมาเปรียบเทียบกันสำหรับนักศึกษาในปีที่กำลังมีการเรียนการสอนและปีต่อ ๆไป ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ และผลเลิศในการบริหารจัดการการศึกษา เกิดการฝึกงานแบบสหกิจศึกษาขึ้น บริบทของการพัฒนาและการบริหารหลักสูตรให้มีคุณภาพก็ทวีความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นมีคุณภาพ ตอบวัตถุประสงค์ สะท้อนปรัชญาของหลักสูตรอย่างแท้จริง

เส้นทางการศึกษาและการทำงานของประธานสภาคณบดีวิศวฯ สมัยที่ 42

ผศ. ดร.ณัฐ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยระหว่างการศึกษาได้มีโอกาสทำงานในสโมสรนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การทำงานในฐานะของนายกสโมสรนักศึกษา ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญของอาจารย์ณัฐ เพราะได้ฝึกการนำองค์กรอย่างไม่รู้ตัว และเป็นการเรียนรู้จากการลองผิด ลองถูก การนำองค์กรที่มีสมาชิกเกือบ 1,000 คนในเวลา 8 เดือน และมีกิจกรรมใหญ่ ๆ ที่ต้องรับผิดชอบจัดเกือบทุกเดือน ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการแบ่งเวลาเรียนและการทำงานกับเพื่อนรุ่นพี่ รุ่นน้อง และรุ่นเดียวกัน ทั้งจากในและนอกคณะต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างเร่งด่วน อีกทั้งการเรียนในปีสุดท้ายก็มีความเข้มข้นด้วยต้องทำโครงการวิศวกรรมเพื่อประกอบการสำเร็จการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษา และเพื่อนๆ ช่วยให้ข้อแนะนำทำให้งานต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญแห่งการเรียนรู้ที่ได้เห็นความสำคัญและได้ฝึกทักษะของการบริหารจัดการ และสื่อสารกับคนทั้งในและนอกองค์กร ไปพร้อม ๆ กับทักษะที่จำเป็นสำหรับงานวิศวกรรมในหลักสูตรไปพร้อม ๆกัน

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชา โดยระหว่างทำงานได้มีโอกาสทำงานเป็นวิศวกรโครงการการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสัญญาที่มหาวิทยาลัยฯ ทำกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในยุคก่อนที่จะแยกออกมาเป็นกระทรวงพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการทำงานวิชาชีพเป็นครั้งแรก งานที่ทำก็จะอยู่ภายใต้การกำกับของคณาจารย์และวิศวกรอาวุโสของโครงการ หลังจากปฏิบัติหน้าที่ในภาควิชาได้ประมาณ 1 ปี ก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ได้รับทุนจากทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมการบินที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย และในระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐโอเรกอน ตามลำดับ ภายหลังสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาหลักสูตรและสอนนักศึกษาจวบจนปัจจุบัน

ส่งมอบตำแหน่งให้คณบดีคณะวิศวฯ มช. เป็นประธานสภาคณบดีวิศวฯ สมัยที่ 42

ในงานประชุมใหญ่ประจำปีสภาคณบดีคณะวิศวกรรมแห่งประเทศไทย สมัยที่ 41 ประจำปี พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติวิศวศึกษาเพื่อความสามารถเชิงอุตสาหกรรมของประเทศไทย จัดขึ้นในวันที่ 20-22 มิถุนายน 2562 ณ อวานี พลัส หัวหิน รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี ได้มีพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานสภาคณบดีฯ จากผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 41 ให้แก่ ผศ.ดร. ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานสภาคณบดีฯ สมัยที่ 42 เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยต่อไป โดยผศ.ดร.ณัฐ วรยศ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 42 ครั้งที่ 1 /2562 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมแคแสด ชั้น 2 อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีผู้แทนจาก 61 สถาบันที่เป็นสมาชิกของสภาคณบดีฯ เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสภาฯ ตลอดจนทิศทาง หรือแนวทางการพัฒนาสภาคณบดีฯ ในปัจจุบัน และอนาคต ทั้งนี้ เป็นการจัดประชุมสืบเนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาพจัดการสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 42 ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และแผนการบริหารงานเกี่ยวกับสภาคณบดีฯ แห่งประเทศไทย

ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ จัดประชุมสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 42 ครั้งที่ 1 /2562
ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ จัดประชุมสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 42 ครั้งที่ 1 /2562

ชี้วิศวกรรมศาสตร์ต้องปรับการสอนมากขึ้น หวังผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

ผศ. ดร.ณัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิศวกรรมศาสตร์มีการปรับตัวมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บัณฑิตในตลาดแรงงานแต่ละประเภทอุตสาหกรรม เพื่อนำมาตั้งคุณลักษณะที่สำคัญของบัณฑิตที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปจากหลักสูตรเป็นโจทย์ กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ขั้นต่ำที่จะให้บัณฑิตสำเร็จการศึกษา เพื่อสะท้อนองค์ความรู้ที่ต้องศึกษา นำไปสู่ออกแบบชุดกระบวนวิชาและกิจกรรมการเรียนรู้ในกระบวนวิชาเหล่านั้น ความเกี่ยวข้อง สอดคล้อง ของกระบวนวิชาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาทางด้านวิศวกรรมได้ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของนักศึกษา คุณลักษณะที่สำคัญของบัณฑิต ถูกเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนวิธีในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยรอบของการประเมินผลสัมฤทธิ์ข้างต้นได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อทำการปรับปรุงก่อนดำเนินการซ้ำในรอบการดำเนินงานต่อไป ด้วยหวังว่าหลักสูตรจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องและปรับคุณลักษณะของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีให้บรรลุกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

ความท้าทายทายของวงการศึกษาด้านวิศวกรรม มุ่งปรับตัว – เติมเต็มให้ทันพลวัตของสังคม

ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวว่า การเตรียมนักศึกษาให้พร้อมกับการทำงานในยุคที่มีเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทำตามกรอบนโยบายของภาครัฐในแต่ละรัฐบาลก็ดี รวมถึงตลาดวิศวกรรมก็ต้องการรับบัณฑิตที่เข้ามาทำงานแล้วสามารถช่วยให้องค์กรพัฒนา เพิ่มทวีความสามารถในการแข่งขันได้ทันท่วงที จากเดิมที่คนสองคนที่อยู่ห่างกันคนละทวีปจะติดต่อกันได้ต้องใช้ระยะเวลา แต่ในปัจจุบันสามารถที่จะติดต่อได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือเวลาใดด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนถูกคิดค้นจากมนุษย์และมนุษย์เหล่านั้นแน่นอนว่าย่อมมีวิศวกรเข้าไปร่วมคิดค้นจึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของวิศวกรไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้นแต่ต้องมองภาพรวมวิศวกรทั้งประเทศว่าเรามีศักยภาพด้านใดและเพียงพอในการที่จะไปร่วมทำงานเพื่อช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไรบ้าง

ขณะนี้ต้องยอมรับว่าวิศวกรไทยที่มีศักยภาพยังมีน้อยและขาดแคลนในหลาย ๆ สาขา ซึ่งสังคมมักจะมองว่านี่คือวิกฤตทางการศึกษา แต่หากมองให้ถ่องแท้แล้วนี่คือโอกาสของการยกระดับการศึกษาให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในบัณฑิตที่ตลาดต้องการสามารถถูกเรียนรู้และปรับตั้งได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเสริมในการเรียนการสอน บางแหล่งไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย สามารถเข้าถึงได้ โดยขอให้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ทุกวันนี้คณาจารย์ไม่สามารถจะรวบรวมความรู้ทั้งหมดมาใส่ในตนเองที่จะตอบคำถามลูกศิษย์ได้ทุกคำถามอีกต่อไป แต่บทบาทของอาจารย์จะทวีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะช่วยเอื้อให้นักศึกษาสามารถย่อยและถักทอองค์ความรู้ที่สามารถหามาได้อย่างไม่จำกัดทั้งเวลาและสถานที่ และทดสอบประเมินลูกศิษย์ว่ามีความสามารถในการใช้องค์ความรู้นั้นในการแก้โจทย์ปัญหาทั้งในสถานการณ์สมมุติหรือสถานการณ์จริงที่ถูกกำกับควบคุมได้มากน้อยเพียงใด ขีดความสามารถของบัณฑิตในการย่อยและถักทอองค์ความรู้ข้างต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของการศึกษาในยุคใหม่ รูปแบบของการบริหารจัดการหลักสูตรจึงต้องมีความยืดหยุ่น ปรับกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องไปกับความสนใจของนักศึกษา ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงาน ที่มีความคาดหวังเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเริ่มมองเห็นการเรียนรู้เฉพาะทางมากขึ้นและหลากหลายแหล่งไม่จำเป็นมาจากมหาวิทยาลัยอีกต่อไป เราจะเห็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้นักศึกษาไปทำงานจริง เรียนรู้จากหน้างานจริง จากผู้ที่เป็นวิศวกรในภาคปฏิบัติจริง ๆ โดยไม่ต้องไปปรากฏตัวอยู่ ณ สถานที่นั้น ๆ เสียด้วยซ้ำ องค์ความรู้เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากสิ่งพิมพ์กระดาษมาสู่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทักษะและขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีของผู้เรียนจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แต่ยังสามารถสนองความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตภาคอุตสาหกรรมและอนาคตของสังคมโลก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายของวงการศึกษาด้านวิศวกรรมอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว เติมเต็มให้ทันพลวัตของสังคม

“ด้วยนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ภาคอุดมศึกษาพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบก้าวกระโดด ทนทานต่อสภาพ Disruption มหาวิทยาลัยจีงมีความรับผิดชอบต่อการผลิตบัณฑิตและองค์ความรู้ในยุคปัจจุบันเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี เทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญในยุคนี้ที่ภาคอุดมศึกษาต้องพิจารณาอย่างน้อยให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมได้รู้จัก ได้แก่ เทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, Machine Learning, Big Data, Sensor, Robot และอื่น ๆ เพื่อนำเอาความรู้เหล่านี้เข้าสู่ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องไม่น้อยและมากเกินไป อยู่ในระดับที่พอเหมาะให้นักศึกษาและบัณฑิตสามารถไปค้นคว้าต่อเองได้ ซึ่งบางเทคโนโลยีต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึกในระดับบัณฑิตศึกษา และการค้นคว้าวิจัยขึ้นได้อีก
“ที่สำคัญไม่ได้มุ่งเป้าเพื่อให้นำองค์ความรู้มาเพียงแค่พัฒนาตนเองเท่านั้น แต่มุ่งเป้าให้การนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยเฉพาะวิศวกรด้านซอฟต์แวร์, วิศวกรด้านเครื่องกล, วิศวกรด้านอุตสาหการ, วิศวกรด้านเมคคาทรอนิกส์, วิศวกรด้านหุ่นยนต์, วิศวกรด้านการผลิตอาหารรวมถึงกลุ่มวิศวกรรมชีวการแพทย์และวิศวกรด้านสิ่งแวดล้อมที่ในอนาคตจะขาดแคลนและตลาดแรงงานมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น”

ผศ.ดร.ณัฐ

คณะวิศวฯ มช.ออกแบบการเรียนการสอนให้นศ.ได้พัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมพร้อมการนำองค์กร

ในมุมมองของ ผศ.ดร.ณัฐ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานในองค์กรคือการตั้งเป้าหมายและไปให้ถึง ซึ่งงานองค์กรวิศวกรรมเป็นงานที่ต้องทำงานเป็นหมู่คณะและต้องอาศัยการคิดอย่างเป็นระบบ ทุกคนไม่เพียงแต่ต้องรู้หน้าที่ของตนเอง แต่ต้องรู้ในหน้าที่ของเพื่อนร่วมงานว่ามีส่วนสำคัญอย่างไรและจะร่วมกันทำงานได้อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยความมีเหตุมีผล เช่น ต้องมีกระบวนการที่ออกแบบมารองรับ มีการแบ่งหน้าที่กันให้สอดคล้องกัน มีการบริหารการจัดการทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อให้ถึงซึ่งเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนด และมองหาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการให้การดำเนินงานพัฒนาขึ้นตลอด เป็นต้น

โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ มาออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะและความรู้ทั้งทางวิศวกรรมและการนำองค์กรไปพร้อม ๆกัน ซึ่งการร่วมออกแบบเป้าหมายของวงการวิชาชีพวิศวกรของไทยเป็นเรื่องสำคัญข้อแรก วิศวกรไม่มีทางที่จะเรียนรู้ทุก ๆ อย่างได้ภายในช่วงเวลาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย องค์ความรู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงองค์ความรู้พื้นฐานหรือเฉพาะทางเบื้องต้น ที่สามารถทำให้บัณฑิตออกแบบและสร้างระบบและกระบวนการทางวิศวกรรมเบื้องต้นได้ ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องพัฒนาทักษะความสามารถอื่น ๆ เพื่อจะเป็นผู้นำที่ดี สามารถทำงานในวงการวิชาชีพได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ซึ่งทักษะดังกล่าวก็จะต้องถูกปรับปรุงอยู่เป็นนิตย์เช่นกัน ภาครัฐและเอกชนในฐานะของผู้ใช้บัณฑิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะร่วมกับภาคสถาบันการศึกษาในการให้ข้อแนะนำสร้างโจทย์คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตที่ผลิตจากมหาวิทยาลัย และยิ่งในฐานะของผู้ใช้บัณฑิตที่สามารถจะแบ่งปันโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ในสภาวะการทำงานจริงในภาครัฐและเอกชน จะเอื้อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปมีความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดได้มากขึ้น อีกทั้งคณาจารย์จะได้เรียนรู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ กระบวนวิชา และหลักสูตรต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ส่วนการร่วมกันพัฒนาวิศวกรหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้วเป็นเรื่องสำคัญข้อที่สอง การเรียนรู้เช่นนี้ทำได้ทั้งในสถานที่ทำงานตามระบบพัฒนาทรัพยากรบุคคลของผู้ใช้บัณฑิต การพัฒนาบุคลากรตามกระบวนการทางวิชาชีพโดยหน่วยงานภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด และการพัฒนาบุคลากรโดยหลักสูตรพิเศษ ซี่งในขณะนี้ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนเฉพาะทางของภาคเอกชนให้เฉพาะพนักงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนทำอยู่แล้ว แต่หากได้พัฒนาร่วมกับภาคเอกชนด้วยกัน หรือภาครัฐ หรือสถาบันการศึกษาในส่วนที่แบ่งปันกันได้ จะเป็นกระบวนการที่คุ้มค่ามากที่สุด ท่ามกลางองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่มีมากขึ้นทุกวันอย่างก้าวกระโดด และเป็นองค์ความรู้ที่ภาครัฐและภาคเอกชนในฐานะผู้บังคับบัญชาของวิศวกรเหล่านี้ต้องการให้มี กระบวนการในการเรียนรู้ Retool และ Reskill รวมถึงกระบวนการในการ Unlearn ของวิศวกรในหน้างาน ณ ปัจจุบันจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน และต้องอาศัยความร่วมมือในการออกแบบกระบวนการดังกล่าวอย่างมีแบบแผนและคุ้มค่า

สำหรับภาครัฐ ในฐานะเป็นต้นสังกัดกับมหาวิทยาลัย ยังคงต้องให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษา ไม่ผลักภาระทางด้านงบประมาณไปยังนักศึกษาในรูปของค่าธรรมเนียมไปทั้งหมด เพราะการศึกษาคือการลงทุนที่ดีที่สุดของประเทศ การออกแบบการทำงานและการกำกับการทำงานร่วมกัน ของสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพผู้ถือกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ และองค์กรผู้ใช้บัณฑิตเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพวิศวกร และสองสิ่งสุดท้ายที่เป็นสิ่งสำคัญมากคือการให้นโยบาย ยุทธศาสตร์ให้แก่สถาบันการศึกษาอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง พร้อมแหล่งทรัพยากรที่เหมาะสม เป็นสิ่งจำเป็นของการพัฒนาวิชาชีพนี้

วางภาพของความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต เรียนรู้ทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการเป็นวิศวกร

ผศ. ดร.ณัฐ มองว่า การที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องวางภาพของความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ซึ่งหมายถึงว่า จะต้องมองภาพอนาคตของตนเองและทำภาพอนาคตเหล่านั้นให้กลายเป็นความจริงให้มากที่สุด ยกตัวอย่าง ตัวอาจารย์เองมีความชอบเครื่องจักรเครื่องกลโดยเฉพาะอากาศยานเป็นทุนเดิม แต่ ณ ขณะนั้นในประเทศไทย ไม่มีการเปิดหลักสูตรนี้ มีเพียงบางกระบวนวิชา เช่น อากาศพลศาสตร์ เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ ที่เปิดให้เรียนในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ต่อเมื่ออาจารย์สอบเข้าสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนนักศึกษาให้เป็นวิศวกรเครื่องกล ทำหน้าที่นอกจากในด้านวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยตรงแล้ว ยังทำหน้าที่ในอุตสาหกรรมและธุรกิจได้หลากหลาย รวมทั้งการประกอบธุรกิจที่เป็นของตนเองได้ การมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่การมองภาพอนาคตของตนเองในวงการวิชาชีพวิศวกรรมให้ได้ภายใน 4 ปี เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า การหาข้อมูลถึงลักษณะงานวิศวกรรมจริง ๆ ในขณะนั้นส่วนใหญ่สามารถทำได้เพียงการรับการถ่ายทอดประสบการณ์จากคณาจารย์ในชั้นเรียน จากรุ่นพี่ และที่สำคัญจากการฝึกงานของตนเองและเพื่อนร่วมรุ่น

“ผมตระหนักได้ว่าการมองภาพอนาคตของการเป็นวิศวกรนั้น จะต้องอาศัยการบ่มเพาะการเรียนรู้ไม่เฉพาะเทคนิควิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่การเรียนรู้ทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการเป็นวิศวกรนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เราไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างให้ครบก่อนไปทำงานได้ เพราะเราไม่สามารถรู้อย่างแน่นอนด้วยซ้ำว่าจะได้มีโอกาสไปทำงานด้านใด ในองค์กรไหนล่วงหน้า แต่ความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์พร้อมด้วยทักษะความสามารถที่จะปรับตัว เรียนรู้ต่อไปในอนาคตต่างหากที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดจะช่วยให้เราปรับภาพอนาคต ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายไปโดยตลอด ไม่ใช่แค่เป้าหมายเพื่อตนเอง แต่ต้องเป็นเป้าหมายเพื่อสังคม สถาบันการศึกษา และประเทศชาติ”

แนะนักศึกษาหาตัวเองให้เจอ รู้ความสำคัญตนเองที่จะมีผลต่อวิชาชีพและสังคม

ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้นิสิตนักศึกษาที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์และอื่น ๆ หาตัวเองให้เจอและหาให้เจอในช่วงเวลาที่อยู่รั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นการดีที่สุด รู้ว่าชอบอะไร รู้ว่ารักอะไรในวิชาชีพนั้น ๆ รู้ความสำคัญของตนเองที่จะมีต่อวิชาชีพและผลกระทบของการทำวิชาชีพของตัวเองต่อสังคมให้พบ แล้วยึดเป็นธรรมประจำใจ ประกอบแต่สัมมาอาชีพให้ประโยชน์แต่สังคมไปโดยตลอด เมื่อยึดมั่นได้ดังนี้ก็จะเกิดการพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ ไม่ยึดติดกับความรู้หรือเทคโนโลยีเดียว แต่เสริมสร้าง ผันแปรทักษะของตนเองและคุณภาพของการปฏิบัติงานวิชาชีพนั้น พัฒนาตนและพัฒนาวิชาชีพไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save