กษ. จับมือ อว. สานต่อโครงการ Agri-Map เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินการเกษตร


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)  ผนึกกำลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นครั้งที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี (2565-2570) เพื่อใช้ข้อมูลในการวางนโยบายด้านการเกษตรและวางแผนบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรผ่านระบบ Agri-Map ทั้งแบบออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์(Agri-Map Online)  และแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ประยูร  อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  ระยะเวลา 5 ปี  (2565-2570) โดยมีปราโมทย์  ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ภัทราภรณ์  โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการขับเคลื่อนงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แนวทางนโยบายหลัก ปรับตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกในการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่ง  Agri-Map ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในปัจจุบัน

 ปราโมทย์ ยาใจ  (ที่2จากขวา) อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
ปราโมทย์ ยาใจ (ที่2จากขวา) อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

ปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจัดทำแผนที่สำหรับบริหารจัดการภาคการเกษตรของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่  โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรและการพาณิชย์  สำหรับวิเคราะห์การจัดการสินค้าเกษตร ตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค  และความเหมาะสมของการใช้ที่ดิน  ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ทำให้ Agri-Map ถูกพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้บริหารจัดการภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย สะดวก และติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  สามารถใช้ได้บนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ Agri-Map Online และบนแพลตฟอร์มมือถือ Agri-Map Mobile  ราว 7 แสนครั้ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร และวางแผนการบริหารจัดการภาคเกษตรภายใต้โครงการสำคัญต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนาระบบ Agri-Map ว่า เนคเทค สวทช. ได้นำงานวิจัยทางเทคโนโลยีด้านบูรณาการข้อมูลไปใช้กับข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร และพัฒนาเครื่องมือสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ร่วมกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มาสร้างแบบจำลองในการโซนนิ่งภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตให้ดีขึ้น  นอกจากนี้ ยังได้วิจัยพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติเพื่อการเตรียมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล อย่างมีมาตรฐานสากล เพื่อใช้ในการแสดงผลในแบบแผนที่บนระบบ Agri-Map ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (Agri-Map Online) และแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) ซึ่งช่วยลดภาระเวลาการทำงานให้กับการจัดการข้อมูลในการส่งเข้าระบบ Agri-Map รวมทั้งได้พัฒนาระบบ Map Server ด้วย Opensource ที่ให้ประสิทธิภาพเทียบ Business Software ซึ่งช่วยลดภาระค่าลิขสิทธิ์ลงได้

สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นความร่วมมือครั้งที่ 2  ระยะเวลา 5 ปี (2565-2570)  โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุนปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิดพืช ตามรอบการสำรวจของกรมฯ และเพิ่มข้อมูลพืชเศรษฐกิจทางเลือกในการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรอีก 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วง กล้วย ลองกอง โกโก้ และส้มโอ ส่วนเนคเทค สวทช. ยังสนับสนุนการนำงานวิจัยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโมเดลการทำนายพื้นที่เพาะปลูกพืชมาใช้ เพื่อช่วยลดภาระงานสำรวจพื้นที่ของทางกรมพัฒนาที่ดิน  ปัจจุบัน ระบบ Agri-Map ได้เปิดให้ใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (Agri-Map Online) และแบบแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยและดูแลรักษาระบบให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ (กลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ (กลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาไปใช้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถ Log in แอปพลิชันเข้ามาใช้ได้จะขยายผลให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องของพื้นที่ว่าต้องการจะเห็นคุณลักษณะใดของพื้นที่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้กำหนด ทางสวทช.จะได้ทำตามโจทย์นั้นมากขึ้น ภาพถ่ายทางดาวเทียมถ้าเรายังไม่ได้วิเคราะห์ต้องการดูชนิดของดิน

“ปลัด อว.ได้ให้โจทยฺ์ว่า เวลาให้การสนับสนุนหรือให้การชดเชยกับเกษตรกรที่ปลูกพืชเรามีการคุมโซนได้หรือไม่ ว่าโซนใดควรได้รับการสนับสนุนในกรณีที่เกิดความเสียหาย  เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชถูกชนิดตามโซน ข้อมูลประเภทนี้สามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ว่าดินชนิดนี้เหมาะกับพืชชนิดไหน ท้ายสุดอยู่ที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการกำหนดโซนนิ่งสำหรับพืชชนิดนี้ต้องมีคุณภาพของดินขั้นต่ำเท่านี้   ซึ่งจะเป็นพัฒนาการที่ไปข้างหน้า จะใช้จริงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ความเหมาะสมในการออกกฎกติกา” ศาสตราจารย์ชูกิจ  กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save