สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดตัว NETPIE 2020 แพลตฟอร์มสื่อสารเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง ช่วยให้เรียนรู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานง่ายทั้งมือใหม่และมือโปร ตอบสนองความต้องการให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ เนคเทค และ บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ใช้ในการฝึกฝนสร้าง Makers ด้าน IoT (Internet of Everything) ให้มีความเชี่ยวชาญเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละประเภทธุรกิจ โดยเปิดให้บริการสาธารณะตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นผู้ใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตยังไม่รู้จัก IoT มากนัก ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน NETPIE พบว่าสามารถสร้างธุรกิจด้าน IoT และอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีผู้ใช้งานกว่า 40,000 คน อย่างต่อเนื่อง โดยเติบโตสูงขึ้นตามการใช้งานของ IoT มีอุปกรณ์เข้ามาเชื่อมต่อกับ NETPIE มากกว่า 100,000 ชิ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,000,000 ชิ้นภายใน 3 ปีนับตั้งแต่มีการเปิดใช้บริการ อาจจะเป็นเพราะ IoT ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่ได้รับความนิยมและมีข้อจำกัดในการใช้งานหลาย ๆ ด้านในเทคโนโลยีการสื่อสารของประเทศไทย
ขณะนี้เนคเทตได้พัฒนาแพลตฟอร์มเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด “NETPIE 2020” ที่มาพร้อมคุณสมบัติโดดเด่นกว่าเดิม คือ ออกแบบโดยคำนึงถึง User Experience เป็นหลัก ช่วยให้เรียนรู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานง่ายทั้งมือใหม่และมือโปร, ได้รับการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งหมด บนพื้นฐานเทคโนโลยี Microservice ทำให้แพลตฟอร์มมีความยืดหยุ่นรองรับการขยายตัวแบบไร้ขีดจำกัด ทั้งในแง่การเพิ่มบริการใหม่ ๆ เข้าไปได้แบบไร้รอยต่อและไม่กระทบกับบริการที่มีอยู่เดิม และในแง่การขยายตัวเพื่อรองรับจำนวนอุปกรณ์หรือปริมาณข้อมูลมหาศาลในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) , Big Data และ 5G เพื่อเข้าสู่ Smart Nation, สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และไมโครคอนโทรลเลอร์ได้หลากหลายมากขึ้น และสนับสนุนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย ทำให้รองรับฮาร์ดแวร์ใหม่ ในตลาดได้อย่างรวดเร็ว อำนวยความสะดวกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT เชิงพาณิชย์ หรือการผลิตอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก (Mass Production )
ทั้งนี้ ผู้พัฒนา ผู้ประกอบการ สามารถจัดการสิทธิ์ จัดกลุ่ม ลงทะเบียนความเป็นเจ้าของอุปกรณ์ได้ภายหลังการขาย และมีระบบจัดการข้อมูลที่ครอบคลุม ช่วยให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นโต้ตอบกับอุปกรณ์ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น บริการ Dashboard บริการกำหนดเงื่อนไขการแจ้งเตือนไปยังช่องทางต่าง ๆ บริการเก็บสถานะและข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์ ตอบสนองความต้องการให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
“บริษัทที่ใช้ NETPIE ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้าน IoT ในประเทศไทย เช่น บริษัท เซฟ-ที-คัท (ประเทศไทย) จำกัด นำไปใช้สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคใช้ใน Smart Home, Phuket Smart City เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ MDE นำร่องการเข้าสู่เมืองต้นแบบด้านดิจิทัลเทคโนโลยี Smart City ของประเทศไทย, โครงการหลวง ใช้ทำการเกษตรอัจฉริยะก้าวสู่ Smart Farm , บริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยให้โรงงานเป็น Smart Factory มากขึ้น และ KidBright สำหรับ Smart Education เป็นต้น” ผู้อำนวยการ เนคเทค กล่าว
สำหรับการพัฒนา NETPIE ในเวอร์ชั่นต่อ ๆ ไปในอนาคตนั้นจะต้องศึกษาความต้องการใช้งานให้ตรงกับเป้าหมายของผู้ใช้งานให้มากขึ้น พยายามมองหาการเชื่อมโยงใหม่ ๆ ในโลกอนาคตเข้ามาผสมผสานการใช้งานเทคโนโลยี IoT ในปัจจุบันเพื่อช่วยให้การทำงานของผู้ใช้บริการในทุกประเภทมีความสะดวก รวดเร็ว ข้อมูลมีความปลอดภัยไม่เสียหายในทุกรูปแบบ
บทบาทของ IoT Platform กับการพัฒนาประเทศ
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า NETPIE 2020 พัฒนาสู่เวอร์ชั่นที่ 2 เพื่อให้การใช้งานเข้าสู่ทุกภาคส่วนง่ายมากยิ่งขึ้น จากเวอร์ชั่นแรกซึ่งได้รับ Feed backว่าใช้งานยาก จึงได้ทำการปรับปรุง UI/UX สำหรับคนที่ใช้งานอยู่แล้วและคนใหม่ที่กำลังจะเข้ามาใช้งาน มองภาพเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT ตอบโจทย์การใช้งานภาคธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ สามารถนำไปใช้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจ พัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกดิจิทัลเทคโนโลยีการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยการเขียนโปรแกรมการใช้งานจะจัดการและสเกลระบบ IoT ให้ใช้งานเก็บข้อมูลได้จริงเต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีระบบจัดการที่ดี
นอกจากนี้การจัดเก็บข้อมูลจะไม่ได้อยู่เฉพาะใน Cloud แต่จะพัฒนาในรูปแบบการวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลผลข้อมูลเชิงสถิติ Edge computing เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ทำให้ IoT เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้นในการใช้งาน สร้างการยอมรับและยกระดับการทำงาน IoT ของประเทศไทยสู่ระดับสากลในทิศทางที่ก้าวหน้าขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้งานและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://netpie.io
ชาวีร์ อิสริยภัทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด กล่าวว่า บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด ได้รับสิทธิ์อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม NETPIE เพื่อพัฒนาต่อยอดและให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยสร้างองค์ความรู้ให้กับทุกคนที่เข้ามาใช้ NETPIE โดยเฉพาะการสร้างธุรกิจในกลุ่ม Startup SME และ Makers หน้าใหม่ ๆ ที่มีความรู้ความสามารถแต่ยังขาดแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมข้อมูลสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นของคนไทยเอง ดังนั้นเมื่อมีแพลตฟอร์ม NETPIE ที่เป็นของคนไทยแล้วเชื่อมั่นว่าจากนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ธุรกิจต่าง ๆ มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
เอกสิทธิ์ อินทร์ทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นิเด็ค เป็น บริษัทแรกที่นำ NETPIE ไปใช้งาน ซึ่งในช่วงแรกที่นำไปใช้นั้นได้ทำงานร่วมกับทีมเนคเทคมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน ถือว่าการนำแพลตฟอร์มไปใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในโรงงาน ลดการใช้คน มีข้อมูลย้อนหลังไว้สำหรับเปรียบเทียบการทำงานได้ตลอดเวลา จากเดิมที่การทำงานจริงต้องอาศัยพนักงานในการเข้าไปบันทึกข้อมูลการทำงานด้วยตนเองในแต่ละวันแล้วนำมาประมวลผล แต่ในปัจจุบันใช้ระบบประมวลผลจาก IoT ทำหน้าที่เก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล ช่วยในการประเมินสถานการณ์การทำงานของบริษัทแบบเรียลไทม์ มีข้อมูลเชิงลึกพร้อมคำแนะนำต่าง ๆ ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่ไม่สิ้นสุดในทุกภาวะเศรษฐกิจ มองให้เห็นภาพการลงทุนและการชะลอการลงทุนล่วงหน้าได้ ลดความเสี่ยงในการลงทุน และ IoT ช่วยเชื่อมต่อถึงกันระหว่างข้อมูลการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลวัตถุดิบขาเข้าและสินค้าขาออก ช่วยให้ขั้นตอนทางธุรกิจ การบริหารจัดการคลังสินค้า สามารถทำงานควบคู่กันไปได้อย่างสมบูรณ์
วัชรินทร์ วิทยาวีรศักดิ์ Chief Innovation Officer บริษัท Smart ID Group จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯ มีแพลตฟอร์มในการทำธุรกิจออนไลน์ของผลิตภัณฑ์ในบริษัทจากต่างประเทศ เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีแพลตฟอร์มสัญชาติไทยใช้งาน แต่เมื่อทดลองใช้แพลตฟอร์ม NETPIE ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ร่วมกับเนคเทค ทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย ที่สื่อสารด้วยภาษาไทยเข้าใจง่ายมากขึ้น เมื่อมีการแจ้งปัญหาเข้ามาบริษัทฯ สามารถที่จะสื่อสาร สอบถาม แล้วเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้า พร้อมทั้งได้แนะนำองค์ความรู้ด้าน IoT ที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยให้ทราบ เพื่อที่ลูกค้าจะได้นำไปศึกษาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในชีวิตประจำวันในอนาคตต่อไป ซึ่งการแนะนำในส่วนนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้ด้าน IoT ในทางอ้อมแก่คนไทยอีกทางหนึ่งด้วย
นิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า การที่มีเครือข่ายแพลตฟอร์ม IoT ที่เป็นของคนไทยจะช่วยเชื่อมการทำงาน การศึกษา ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดฐานข้อมูล การทำงานมีประสิทธิภาพ พัฒนา IoT ในทิศทางเดียวกันบนพื้นฐานการทำงานที่มีเป้าประสงค์ให้ IoT ใช้งานต้องง่าย สะดวกปลอดภัย และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับทุก ๆ คน ซึ่ง NETPIE ถือเป็นการเริ่มต้น IoT ของคนไทย แต่หากเครือข่ายผู้พัฒนา IoT อื่น ๆ จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ร่วมพัฒนา NETPIE ให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนา การทดลองใช้งาน IoT เข้าสู่ภาคธุรกิจอื่น ๆ เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เน้นการสร้างให้คนไทยสามารถคิดเองได้ และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการบูรณาการองค์ความรู้ IoT ทุกรูปแบบบนพื้นฐานที่ไม่ผิดกฎหมาย