ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ ถังดับเพลิงระเบิดใส่เด็กนักเรียนจนเสียชีวิตที่เกิดขึ้น อยากแนะให้ผู้ใช้ถังดับเพลิงไม่ตื่นตระหนก และมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของถังดับเพลิง เพราะถ้าหากใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงหรือสถานที่นั้น จะลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุระเบิดได้อย่างมาก รวมถึงช่วยลดผลกระทบหรือความสกปรกที่เกิดขึ้นจากการดับเพลิงอีกทางหนึ่งด้วย
ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS)
ลำดับแรกที่สำคัญ คือ การเลือกใช้ถังดับเพลิงให้ถูกประเภท ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของถังดับเพลิง โดยปกติแล้วถังดับเพลิงจะแบ่งประเภทตามการใช้งาน หรือชนิดของไฟ ประกอบไปด้วย 6 ประเภท รวมถึงจะมีแถบสีที่แสดงให้ผู้ใช้ได้สังเกตเห็น
- ใช้ดับเพลิงทั่วไป
- ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากน้ำมัน
- ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากแก๊ซ
- ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากโลหะ
- ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
- ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากอาหารและไขมัน
ทั้งนี้ผู้ใช้ถังดับเพลิง ควรเลือกถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับกับชนิดของไฟหรือเชื้อเพลิงภายในอาคารสถานที่ (Type of Fire) / ประสิทธิภาพการดับไฟ (Fire rating) รวมถึงพิจารณาความดันของถังดับเพลิงแต่ละชนิดที่สูงต่ำแตกต่างกัน (Pressure) ยกตัวอย่างเช่น ถังดับเพลิงชนิด CO2 จะมีแถบสีดำ เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงพวกน้ำมัน (Flammable liquids) และความดันสูงมากกว่าถังดับเพลิงแบบอื่นๆ เป็นต้น โดยปกติแล้ว อาคารบ้านเรือนต่างๆ โรงเรียน โรงพยาบาล มักใช้งานถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม (Foam extinguishers) ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water extinguishers) ซึ่งมีความดันภายในถังต่ำ (อยู่ในช่วง 12-15 บาร์) จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์ระเบิดเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามข้อมูลพบว่าใช้ถังดับเพลิงประเภท CO2 ซึ่งเหมาะสำหรับการจัดการกับเชื้อเพลิงพวกน้ำมัน และใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และมีข้อดีคือ ลดผลกระทบหรือความสกปรกจากการดับเพลิง ทั้งนี้ ถังดับเพลิงแบบ CO2 จะมีความดันภายในถังสูงกว่า 55 บาร์ (เพื่ออัดให้ก๊าซ CO2 อยู่ในเฟสของเหลวภายในถัง) มาใช้สาธิตให้กับนักเรียนดูซึ่งอาจไม่ตรงกับเชื้อเพลิงหรือต้นเหตุความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ภายในโรงเรียน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ระเบิดจากแรงดันบรรจุที่ค่อนข้างสูงภายในถัง
นอกจากนี้ เมื่อการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรมสาธิตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งถังดับเพลิงภายในอาคารสำนักงาน (Office / Server Room) ที่จะมีขั้นตอนการตรวจสอบและบำรุงรักษาที่ชัดเจน
ดังนั้น ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ จึงแนะนำวิธีการป้องกันถังดับเพลิงไม่ให้ระเบิดได้ 100% ดังนี้
- บำรุงรักษาตามวงรอบ (อย่างน้อย 6 เดือนครั้ง) ลดความเสี่ยงระเบิดได้ 50% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับถังดับเพลิงที่มีความดันบรรจุภายในสูง
- ใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับชนิดของไฟหรือเชื้อเพลิง และสถานที่ ลดความเสี่ยงระเบิดได้ 25% เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานถังความดันสูงโดยไม่จำเป็น
- อบรมการใช้งาน ให้กับผู้ปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาและตรวจสอบแรงดันหรือความเป็นไปได้ในการรั่วไหลของสารดับเพลิงภายในถัง ลดความเสี่ยงระเบิดได้ 25%
“ไม่อยากให้ประชาชนผู้ใช้ถังดับเพลิงเกิดการวิตกจนเกิดเหตุ เนื่องจากถังดับเพลิงที่ใช้ตามอาคารและใช้ขายทั่วไปนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ทำการสาธิต และใช้ถังดับเพลิงเก่าที่มีอายุการใช้งานนาน ทำให้มีข้อจำกัดในการรับแรงดันได้ ทั้งนี้อยากให้ประชาชน โดยเฉพาะท่านที่อาศัยในอาคารสูง หรือสถานประกอบการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ ติดตั้ง ตรวจสอบ และการฝึกปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยง และดับเพลิงได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลักการวิศวกรรมระบบอาคาร” ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย