สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนเมษายน พ.ศ.2566 จากผลการสำรวจผู้ประกอบการ 1,164 ราย ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ95.% ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8% ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา และถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยการชะลอตัวของภาคการผลิต อุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ จากความกังวลของอัตราค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศไทยปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังคาดการณ์อีกว่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมอีก3 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว สถานการณ์ความขัดแย้งสงครามระหว่างรัสเซีย -ยูเครน ที่ยังคงไร้สัญญาณยุติส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า
มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พ.ศ.2566 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95.0% ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8% ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จากปัจจัยหลักๆ ดังนี้ 1.การชะลอตัวของภาคการผลิตที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องและวันหยุดพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2.อุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ กำลังซื้อจากต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรป (EU)
นอกจากนี้มีคู่แข่งด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกับประเทศไทยและส่งขายในตลาดเดียวกับประเทศไทย เช่น เวียดนามและ จีน ซึ่งการผลิตหลายๆ ผลิตภัณฑ์เริ่มกลับมาผลิตได้ จากที่หยุดการผลิตไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จึงไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อจากประเทศไทยในปริมาณสูงอีก เป็นต้น 3.ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำจากความกังวลของอัตราค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และ 4.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศไทยปรับสูงขึ้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทยอยปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นก็ตาม ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการ SME ที่ถือเป็นผู้ประกอบการหลักที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไทย ประการแรก อัตราค่าระวางเรือที่ทยอยปรับลดลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2566 ประการแรกที่สอง การขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาช่วยกระตุ้นการจ่ายในประเทศ ทำให้ภาพรวมของอัตราการบริโภคใน GDP ของประเทศเพิ่มสูงตามไปด้วย และประการที่ 3.กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศในอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ผลิตภัณฑ์กระดาษและอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับการคาดการณ์ดัชนีภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้น ทาง ส.อ.ท. คาดว่า จะยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในประเทศ EU และประเทศสหรัฐอเมริกา และความขัดแย้งสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย- ยูเครนที่ยังคงไร้สัญญาณยุติ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมแล้วพบว่า อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่มีค่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 100 มี 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยาง ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เยื่อและกระดาษ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อะลูมิเนียม เครื่องสำอางและยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมันภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่มีค่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่า 100 มี 19 อุตสาหกรรม ได้แก่ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สิ่งทอ สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก หนังและผลิตภัณฑ์หนัง เคมี ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ แกรนิตและหินอ่อน เครื่องจักรกลการเกษตร น้ำตาล ก๊าซ รองเท้า การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม หล่อโลหะและเซรามิกส์
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและและมีค่าดัชนีอุตสาหกรรมมากกว่า 100 มี 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล ผู้ผลิตไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมันภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่มีค่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่า 100 มี 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ หัตถกรรมสร้างสรรค์ น้ำมันปาล์ม แก้วและกระจก โรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น เทคโนโลยีชีวภาพ อู่ต่อเรือและโลหะการ
วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของส.อ.ท. ต่อภาครัฐมีดังนี้ 1.ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) และอเมริกาใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ SME เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า2.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เช่น จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม
“อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งในเรื่องการขึ้นค่าแรงตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ใน อยากให้คำนึงถึงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานการผลิตอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันกับประเทศไทยเมื่อค่าแรงในประเทศไทยสูงขึ้น การตั้งราคาผลิตภัณฑ์สินค้าที่จะส่งจำหน่ายก็จะสูงตามขึ้นไปด้วย ทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อขายผลิตภัณฑ์กับประเทศที่มีต้นทุนราคาที่ถูกกว่าประเทศไทย การลงทุนจากต่างชาติอาจจะโยกย้ายหรือชะลอการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มก็เป็นไปได้” วิวรรธน์ กล่าว
สำหรับแนวทางแก้ไขที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดขึ้นค่าแรง นอกจากการแข่งขันด้านราคาต้นทุนที่จะสูงขึ้นแล้ว ความรู้ความสามารถของแรงงานไทยที่จะต้องมีเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ควรจัดสรรงบประมาณสร้างแรงงานที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรีในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ให้ทัดเทียมกับต่างชาติจะได้ลดการว่าจ้างแรงงานที่มีองค์ความรู้จากต่างชาติเข้ามาแย่งงานของแรงงานไทยในอนาคต