สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Industrial Developments Organization- UNIDO) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก. จัดงานประชุมสัมมนา “Seminar during the 35th ASEAN Summit in Thailand on Circular Economy, Waste Management and Sustainability” ณ โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล เพื่อแสดงศักยภาพและความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพ
ทส. เตรียมนำกฎหมายพิเศษใช้บริหารจัดการขยะในพื้นที่ EEC มุ่งให้เป็นเมืองที่มีระบบกำจัดขยะที่ดีระดับสากล
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา โดยวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการบูรณาการดำเนินการจัดการเรื่องขยะ ของเสียประเภทต่างๆ น้ำเสีย มลพิษทางเสียงและอากาศ และผังเมืองอย่างเป็นระบบ ด้วยหลัก 3R โดยเฉพาะขยะพลาสติกจะรณรงค์ให้ประชาชนงดใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นให้เร็วที่สุด ซึ่งทาง ทส.ได้เริ่มดำเนินมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวในห้างสรรพสินค้าแล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไปซึ่งได้รับความร่วมมือห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อในขณะนี้แล้ว 46 แห่ง
ส่วนมาตรการต่อไปคาดว่าในปี พ.ศ. 2564 จะออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวอย่างเด็ดขาดได้ทุก ๆ พื้นที่ สำหรับพื้นที่ EEC จะมีการนำกฎหมายพิเศษมาใช้ในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่การคัดแยกขยะจนถึงกระบวนการรีไซเคิลและพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสิ่งแวดล้อมการกำจัดขยะที่ดีแห่งหนึ่งในระดับสากลในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยถึงจะเกิดความสมดุล ซึ่งหากการดำเนินการในพื้นที่ EEC ประสบความสำเร็จในการประเมินทุก ๆ ปีแล้วจากนั้นจะขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
เน้นให้แต่ละพื้นที่ใน EEC เห็นประโยชน์ในการจัดการขยะร่วมดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมัครใจ
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของประเทศไทยนั้น จะต้องกำหนดการทำงานเป็นพื้นที่ เพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเข้ามาดำเนินการในการจัดการพื้นที่มากกว่าที่จะไปบังคับ เพราะหากทำงานโดยขอความร่วมมืออย่างสมัครใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน ให้เห็นถึงประโยชน์ของการแก้ไขปัญหาขยะว่าหากทำแล้วชุมชนที่อยู่จะมีสุขอนามัยที่ดีขึ้นอย่างไร การบริหารจัดการเมืองสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจะสร้างปอดและอากาศที่ดีแก่ทั้งประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพราะการลงมือทำด้วยตนเองจะเกิดความตระหนัก หวงแหนสิ่งแวดล้อมมากกว่าการไปกำหนดหรือบังคับให้ทำ
สำหรับการดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบและการพัฒนาเมืองในพื้นที่ EEC ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานใกล้ที่จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนต่อมาก็คือการจัดระเบียบการทำผังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นต้นแบบเมืองสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยใช้งบประมาณในการจัดการไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ตามแผนการดำเนินงาน และอุตสาหกรรมที่นำร่องในการจัดการเรื่องขยะ มีการนำหลัก 3R เบื้องต้นมาใช้ โดยภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แสดงเจตจำนงเข้ามาเป็นอุตสาหกรรมแรก เชื่อว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จทุก ๆ อุตสาหกรรมจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมพร้อม ๆกับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใน EEC ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนร่วมกัน
เผยไทยทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 5 เสนอให้มีบทลงโทษจริงจัง ป้องกันการทำผิดซ้ำ
นิอร สุขุม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 5 จากการจัดอันดับขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ทำให้เกิดปัญหาสัตว์ทะเลกลืนกินขยะพลาสติกเข้าไปในท้องจนไม่ย่อย สะท้อนถึงมาตรการการบริหารจัดการขยะที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ถุงพลาสติก ขวด ภาชนะใส่อาหาร กระดาษ ยางรัดของ และอื่น ๆ ที่ขาดประสิทธิภาพ การสร้างความตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกอาจจะแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเมื่อผ่านไปปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก หรืออาจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ลงสู่ธรรมชาติ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกินค่ากำหนด ปัญหาการไม่แยกขยะก่อนทิ้ง และการประกอบอุตสาหกรรมที่ไม่มีจิตสำนึก
“ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีบทลงโทษที่จริงจัง อย่าละเว้นเพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก แต่ปัญหาในการปฏิบัติก็คือไม่สามารถกระทำหรือละเว้นการกระทำ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับหรือบทลงโทษที่รุนแรงต่างกับในหลายประเทศ” นิอร กล่าว
ระยองมีขยะทุกประเภทมากกว่า 1,000 ตัน ชี้ประชาชนให้ความร่วมมือจัดการขยะ 100%
สุริยา ศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า ในจังหวัดระยองมีขยะทุกประเภทมากกว่า 1,000 ตัน ในทุก ๆ วัน ซึ่งในการบริหารจัดการจะมีการรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ทั้งเศษอาหาร กล่องอาหาร ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษหนังสือพิมพ์ และอื่นๆ เพื่อที่จะนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้อีกครั้งหรือขยะจำพวกเศษอาหารจะนำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยทดแทนสารเคมี นำขวดพลาสติกไปแปรเปลี่ยนเป็นกระถางต้นไม้ เป็นต้น แม้ว่าการดำเนินการในระยะแรก ๆ จะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่มากนักแต่เมื่อสร้างการรับรู้และการตระหนักรู้เรื่องการคัดแยกขยะมากขึ้นก็มีจำนวนประชาชนที่เข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น จนปัจจุบันมีประชาชนให้ความร่วมมือแล้ว 100%
“ส่วนภาพใหญ่ของประเทศนั้นการสร้างจิตสำนึกยังเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเริ่มจากตัวเราเองเป็นต้นแบบให้กับคนในครอบครัวก่อน จากนั้นค่อย ๆ ขยายสู่ชุมชนและพื้นที่อื่น ๆต่อไป” สุริยา กล่าว
GC น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เน้นใช้อย่างคุ้มค่า
ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ได้ดำเนินการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามปรัชญาของบริษัทฯ มาโดยตลอด เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม ตามแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของ บริษัทฯ เพื่อลดปัญหาขยะ ลดการใช้พลาสติก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก โดยบริษัทฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การใช้ประโยชน์ของวัตถุดิบในการผลิตมีค่าและใช้อย่างคุ้มค่า เช่น หากมีสิ่งหลงเหลือจากการผลิตจะนำมารีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องเชื้อเพลิงที่จะหาได้ยากขึ้นทุกวัน ต้องใช้อย่างคุ้มค่าในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ในบริษัทฯ จะต้องลดเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตทุก ๆ ครั้งให้ได้ 10% และวัตถุดิบที่นำมาใช้นั้นจะต้องมั่นใจว่าคู่ค้าของเราดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ในทุก ๆ กระบวนการ
“ความท้าทายคือการคัดแยกขยะที่ต้นทางต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ ต้องคัดแยกพลาสติกออกมาก่อน ก่อนที่จะเข้าระบบเผาในโรงไฟฟ้าขยะที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง เราไม่ได้เพิ่มขยะ แต่เราจะคัดแยกขยะให้น้อยลงเพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยกัน” ดร.ชญาน์ กล่าว
ชี้มีคนไทยมากกว่า 50% ไม่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะ
สุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสังคมในเรื่องการจัดการขยะคือความตระหนักรู้และไม่เห็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังคิดว่าเรื่องการจัดการขยะเพียงแค่เริ่มจากตัวเราช่วยกันคัดแยกขยะทิ้งให้ลงถังตามชนิดของขยะเป็นสิ่งสำคัญ ยังมีจำนวนคนมากกว่า 50% ที่ยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ในกลุ่มบริษัท ดาวได้สร้างความตระหนักรู้ ตั้งแต่ระดับพนักงานธรรมดาไปจนถึงผู้บริหารในส่วนต่าง ๆ ให้มีการรับรู้ปัญหาการจัดการขยะและมีการจัดกิจกรรมให้รางวัลสำหรับส่วนงานที่สามารถจัดการขยะ ลดของเสียในแต่ละแผนกภายในบริษัทฯ ในทุก ๆ ปี นอกจากนี้ในชุมชนรอบ ๆ ที่บริษัทฯ เข้าไปตั้งฐานการผลิตจะมีการลงพื้นที่ให้ความรู้อยู่เสมอเพื่อพัฒนาชุมชน สังคมรอบ ๆ ให้ตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะร่วมกัน และจะเลือกคู่ค้าที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนเพื่อร่วมกันดูแลผู้บริโภค รับผิดชอบสังคมและประเทศชาติร่วมกัน
นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยดูแลสภาพภูมิอากาศให้มีความยั่งยืน
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการนำมาใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วเพราะตระหนักในการดูแลสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การเกิดภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ปล่อยควันพิษ PM 2.5 และอื่น ๆ แต่ก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์จากการเผาเศษซากวัสดุเหลือใช้จากการประกอบการเกษตร ทำให้เกิดภาวะสภาพอากาศที่ไม่ดี ซึ่งคงต้องใช้การรณรงค์และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องต่อไป แต่หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยให้ความรู้และนำนวัตกรรมติดตั้งเครื่องมือที่ตรวจวัดปริมาณที่ปล่อยของเสียทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศของภาคอุตสาหกรรมแล้วออกกฎหมายเก็บภาษีในการปล่อยของเสียต่าง ๆ เกินที่กำหนด แล้วนำเงินจำนวนนั้นมาใช้เป็นต้นทุนในการสร้างกิจกรรมรณรงค์อื่น ๆ คู่ขนานไปก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการปล่อยน้ำเสีย ของเสียมลพิษต่าง ๆ ตระหนักแล้วกลับมาพิจารณาการประกอบกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีในอนาคตได้
ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดร.ปานเทพ รัตนากร สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ทุก ๆ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและควรกำหนดให้มีหน่วยงานที่ดูแลในแต่ละด้านแล้วประเมินผลการทำงานเป็นเดือน เป็นไตรมาส หากพบหน่วยงานใดหรือภาคส่วนใดที่ยังขาดความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็ควรมีบทลงโทษที่เป็นรูปธรรม อย่าปล่อยผ่านเหมือนอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งข้อมูลที่จัดเก็บของแต่ละหน่วยงานนอกจากจะเป็นตัวชี้วัดการทำงานของแต่ละหน่วยงานแล้วจะได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการให้ภาครัฐนำไปกำหนดเป็นนโยบายและให้งบประมาณในการสนับสนุนได้ตรงปัญหาและความต้องการมากที่สุด สอดคล้องกับความคิดเห็นของ คุรุจิต นาครทรรพ ประธานองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใหญ่มีหลายปัจจัยที่สนับสนุนทำให้เกิดขึ้น ทั้งจากการกระทำของมนุษย์และการกระทำของธรรมชาติแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำของมนุษย์ ซึ่งหากจะแก้ไขให้หมดภายในเวลาอันรวดเร็วคงยาก แต่หากร่วมมือกันทำงานทุก ๆภาคส่วนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็จะบรรลุตามเป้าประสงค์ได้ไม่ยาก