นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญจากดอกเห็ดหลินจือเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางเครื่องสำอางสูง สร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และพัฒนาระบบห่อหุ้มที่เพิ่มความคงตัวและความปลอดภัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ฟาร์มคิดดี จำกัด สู่ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้าผสมอนุภาคกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือ หวังยกระดับพืชสมุนไพรให้ใช้งานได้หลากหลายมิติ เพิ่มมูลค่า รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ตอบเทรนด์แนวคิดเศรษฐกิจ BCG
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า พันธกิจหลักของนาโนเทคในการดำเนินการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศนั้น เราได้ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่าง BCG (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขยับต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศสู่ความยั่งยืน ใน 3 ด้านที่นาโนเทคเกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ วัสดุและพลังงาน
“สำหรับงานวิจัยเรื่อง การพัฒนากรรมวิธีสกัดสารสำคัญจากดอกและสปอร์เห็ดหลินจือและระบบอนุภาคนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเวชสำอาง เป็นการเสริมจุดแข็งของประเทศในด้านของพืชสมุนไพร และสารสกัดธรรมชาติที่หลากหลายให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) แบบ ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ ที่มีภาคเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมความงามที่กำลังเติบโตตามกระแสการรักสุขภาพและดูแลตัวเอง” ดร.วรรณี กล่าว
ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค กล่าวว่า งานวิจัยเรื่อง การพัฒนากรรมวิธีสกัดสารสำคัญจากดอกและสปอร์เห็ดหลินจือและระบบอนุภาคนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเวชสำอาง เริ่มมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำให้ได้รู้จักกับบริษัท ฟาร์มคิดดี จำกัด ก่อนได้พูดคุยและตกผลึกความคิดในการร่วมกันของฝั่งทีมวิจัยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านสารสกัดธรรมชาติ และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เวชสำอางด้วยระบบกักเก็บระดับนาโน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านเครื่องสำอาง และภาคเอกชนอย่างบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิกส์หลายชนิด รวมถึงเห็ดหลินจือออร์แกนิกส์อีกด้วย
“โจทย์จากผู้ประกอบการคือ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าของสารธรรมชาติออร์กานิค ผสมผสานกับแนวคิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางนวัตกรรม โดยใช้กระบวนการสกัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้วัตถุดิบและสารสกัดเห็ดหลินจือที่มีคุณภาพ และปลอดภัย และนำมาพัฒนาเป็นระบบกักเก็บที่สามารถนำส่งสารสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ธงชัย กล่าว
ทั้งนักวิจัยและผู้ประกอบการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมกันและขอทุนวิจัยจากโปรแกรม INNOVATIVE HOUSE* ซึ่งในตอนนั้น (พ.ศ.2560) อยู่ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนากรรมวิธีสกัดสารสำคัญจากดอกและสปอร์เห็ดหลินจือและระบบอนุภาคนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเวชสำอาง”
เมื่อได้รับทุน ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการสกัดดอกเห็ดหลินจือ โดยสารสกัดเห็ดหลินจือที่ได้นั้น พบสารสำคัญหลักคือ Ganoderic Acid A และ Ganoderic Acid C2 จึงได้ต่อยอดพัฒนาระบบกักเก็บสารสำคัญ พร้อมกับพัฒนาระบบอนุภาคนิโอโซม เพื่อกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือ ซึ่งมีขนาดอนุภาคช่วง 144.6 ถึง 308.3 นาโนเมตร และประสิทธิภาพการห่อหุ้ม 96.67% ทำให้อนุภาคนี้กระจายตัวได้ดี มีความคงตัว มีความปลอดภัยในการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์ และมีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังในมนุษย์ ที่สำคัญคือ อนุภาคสามารถนำส่งสารสำคัญเข้าสู่ผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.640 ถึง 97.44 ในเวลา 24 ชั่วโมง
สำหรับผลงานอนุภาคกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของอนุภาคในชื่อ ริชโอโซม (REISHOSOME) พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมของริชโอโซมที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีการทดสอบในอาสาสมัครทั้งการระคายเคืองผิวหนัง (Irritation Test) และประสิทธิศักย์ (Efficacy Test) โดยผลการทดสอบประสิทธิศักย์พบว่า ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวสามารถช่วยลดเลือนริ้วรอย ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส และมีความชุ่มชื่นเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในอาสาสมัคร และจดแจ้ง อย. ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ริเชอรอล (REISHURAL)
ด้านวาสนา เชิดเกียรติกำจาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มคิดดี จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากวรกร เลาหเสรีกุล กรรมการผู้จัดการอีกท่านของฟาร์มคิดดีฯ ที่ทำฟาร์มเห็ดหลินจือไว้ทานเอง หากมีปริมาณมากก็แปรรูปเป็นชาเห็ดหลินจือขายที่ตลาดสุขใจ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จนเมื่อได้คุยกับ ดร.ธงชัย จึงมีแนวคิดที่จะขยายประโยชน์ของเห็ดหลินจือให้มากกว่าแค่ในอุตสาหกรรมอาหาร สู่อุตสาหกรรมกลุ่มสุขภาพและความงามที่มีมูลค่าสูงกว่า ตลาดกว้างกว่า และมีความท้าทายมากกว่าด้วยเทคโนโลยีนาโน
“เรามองเห็นโอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องกาวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและความงามที่เป็นออร์แกนิคส์ ทำให้การวิจัยและพัฒนาที่ได้ผู้เชี่ยวชาญทั้งนักวิจัยจากนาโนเทค อาจารย์ทางด้านวิชาการและการตลาดในโปรแกรม INNOVATIVE HOUSE เข้ามาเสริมในมิติต่างๆ อย่างครบครัน ทำให้เราสามารถต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวภายใต้ชื่อ ริเชอรอล (REISHURAL) ในที่สุด” วาสนา กล่าว
ปัจจุบัน ริเชอรอลอยู่ระหว่างการผลิต ณ โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง (Nanoparticles and Cosmetics Production Plant) ภายใต้การดำเนินงานของนาโนเทค ซึคาดว่าจะพร้อมออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกันยายน ศกนี้
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของริเชอรอลคือคนวัย 45-60 ปี ที่ต้องการดูแลสุขภาพผิวพรรณให้อ่อนเยาว์ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง และการใส่ใจรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีนวัตกรรมรองรับ
แม้ปัจจุบัน ในตลาดโลกจะมีผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางและบำรุงผิวจากสารสกัดเห็ดหลินจืออยู่บ้าง ราว 20 แบรนด์ทั่วโลก โดยมีทั้งเซรั่ม โลชั่น สบู่ รวมถึงครีมกันแดด แต่ด้วยจุดเด่นของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีนาโนเอนแคปซูเลชั่น (Nano Encapsulation) จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตภัณฑ์ริเชอรอลโดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่งอื่นๆ
“เราตั้งเป้ายอดขาย 30 ล้านบาทใน 3 ปีแรก ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีคนสั่งจองเข้ามาตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยังอยู่ระหว่างการผลิตแล้ว และในก้าวต่อไป จะเป็นการต่อยอดใช้อนุภาคสารสกัดเห็ดหลินจือในผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยเริ่มจากกลุ่มผลิตภัณฑ์กันแดด ที่อยู่ระหว่างการขอทุนวิจัยเพิ่มเติม รวมถึงมีแผนที่จะขายอนุภาคสารสกัดเห็ดหลินจือให้กับบริษัทผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางในอนาคต” วาสนา กล่าวสรุป
* โปรแกรม INNOVATIVE HOUSE ปัจจุบัน อยู่ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)