สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมายกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มและแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งชุดดริปเปอร์และฟิลเตอร์เซรามิกส์จากเนื้อดินด่านเกวียนและกากกาแฟดงมะไฟ และชุดภาชนะกินเข่าค่ำตามประเพณีพื้นถิ่นจากดินด่านเกวียนผสมดินเหลือใช้จากเอสซีจี
ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงพื้นที่ติดตามผลงานวิจัยมูลฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริม ววน. โดยมีผลงานเด่นในการเพิ่มโอกาสการแข่งขันเชิงพาณิชย์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม คือ “การสร้างฟิลเตอร์เซรามิกส์สำหรับดริปกาแฟจากเนื้อดินด่านเกวียนและกากกาแฟดงมะไฟ” ซึ่งมี ผศ. ดร.อ่อนลมี กมลอินทร์ สาขาวิชานวัตกรรมเซรามิกส์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าโครงการ โดยใช้องค์ความรู้จากวัสดุศาสตร์ด้านเซรามิกส์มาสร้างผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการดื่มกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นักวิจัยได้ช่วยยกระดับชุมชนด่านเกวียนด้วยการต่อยอดใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น โดยการผสานดินด่านเกวียนและกาแฟดงมะไฟ สองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นของจังหวัดนครราชสีมา สร้างเป็นชุดดริปเปอร์เซรามิกส์ที่มีความเป็นฟิลเตอร์ในตัว และหาอัตราส่วนผสมของเคลือบขี้เถ้าจากกากกาแฟดงมะไฟสำหรับตกแต่งชุดดริปเปอร์ นับเป็นสินค้าแปลกใหม่ที่มีสีสันเทียบเท่าต่างประเทศ รวมถึงออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวการทำกาแฟและเครื่องปั้นดินเผา ให้มีความโดดเด่น ทันสมัย และถูกใจคอกาแฟ
วัสดุที่พัฒนาขึ้นมีความแข็งแรงเหมาะสมกับการนำไปใช้งานได้จริง สามารถนำตัวฟิลเตอร์เซรามิกส์ไปดริปกาแฟชนิดต่าง ๆ ได้ตามกระบวนการดริปทั่วไปโดยไม่ต้องใช้กระดาษกรอง ในปริมาณกาแฟคั่วบด 12-15 กรัม จะช่วยให้กาแฟมีความเข้มและนุ่มนวล รู้สึกถึงรสชาติผลไม้จากการดริป พร้อมกับมีคู่มือให้ผู้ใช้งานสำหรับวิธีแก้ไขการอุดตันของฟิลเตอร์ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ยังปราศจากสารพิษในดิน จึงเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ขณะนี้กำลังยื่นจดอนุสิทธิบัตรและถ่ายทอดให้เจ้าของกิจการกาแฟดงมะไฟ
ส่วนผลงานการสร้างสรรค์ “ชุดทานเข่าค่ำที่โคราช” ชัยศิริ หลวงแนม สาขาวิชานวัตกรรมเซรามิกส์ ได้นำดินที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการผลิตกระเบื้องของเครือเอสซีจีมาผสมผสานกับดินเหลืองด่านเกวียน และดินดำ พัฒนาเป็นภาชนะใส่อาหารในวัฒนธรรมกินเข่าค่ำของชาวโคราช เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ Zero Waste ให้ใกล้เคียงกับความหมายของ ‘ของเสียเหลือศูนย์’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการให้เป็นไปได้มากที่สุด โดยเอสซีจีเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามีศักยภาพในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ สามารถสร้างผลงานที่หลากหลาย จึงประสานงานเพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงนำศาสตร์การทำเครื่องปั้นดินเผาสู่ชุมชนและประยุกต์ใช้ในประเพณีการรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น โดยมีผู้ใช้ประโยชน์จากงานนี้มากมาย ทั้งประชาชนผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา หน่วยงานวิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร ผู้ประกอบธุรกิจอาหาร ททท.นครราชสีมา พาณิชย์จังหวัดและพัฒนาชุมชนจังหวัด
ทั้งนี้นักวิจัยได้หารือกับนายกเทศมนตรีตำบลด่านเกวียน ในการนำดินเหลือใช้ที่เอสซีจีจะมอบให้กับชุมชนปีละ 60-80 ตัน มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ด่านเกวียน และมีผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พบว่ามีส่วนประกอบของดินที่มีซิลิกาสูง รวมถึงธาตุเหล็กที่ทำให้สีของภาชนะมีความแตกต่างจากแหล่งอื่นและมีความมันวาว โดยนักวิจัยได้ทดลองหาอัตราส่วนผสมของดินที่มีการหดตัวน้อยก่อนนำมาปั้นและเข้าเตาจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เผาเคลือบเตาฟืนและชุดกินเข่าค่ำ ซึ่งได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ในงานสตรีทอาร์ตและอาหาร โครงการเทศกาลโคราชเมืองศิลปะสมโภชเมืองนครราชสีมา 555 ปี
ในโอกาสนี้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกสว. ได้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนและกระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผาตามภูมิปัญญาในตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งชาวชุมชนได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นเวลานานหลายปี เพื่อเติมเต็มและปักหมุดพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ