บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดย เซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ จับมือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดงานมอบรางวัล“เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021” โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 เพื่อเชิดชูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มสินค้า ในการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจและยกระดับคุณภาพสินค้าของตนเองสู่มาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ในปีนี้มีการแบ่งประเภทรางวัลทั้งสิ้น 9 ประเภท รวมจำนวนเอสเอ็มอีที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับรางวัลจำนวน 16 รางวัล
ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ซีพีออลล์ ร่วมกับ สสว.และ กสอ. จัดงานมอบรางวัล“เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021” ซึ่งจัดขั้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อเชิดชูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มสินค้า ในการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจและยกระดับคุณภาพสินค้าของตนเองสู่มาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อยอดโอกาสให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสินค้าชุมชน กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกันผู้ได้รับรางวัลจะเป็นเอสเอ็มอีต้นแบบให้แก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ และคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาสินค้าและธุรกิจของตนเองให้เข้มแข็งและมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมในอนาคต
โดยการจัดงานในปีนี้คือ เป็นการจัดในรูปแบบไฮบริด (HYBRID) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และเพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน สำหรับในปีนี้มีการแบ่งประเภทรางวัลทั้งสิ้น 9 ประเภท รวมจำนวนเอสเอ็มอีที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับรางวัลจำนวน 16 รางวัล
สสว.พร้อมส่งเสริม SME ไทยแข่งขันได้ในระดับสากล
วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกลางที่ประสานความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในทุกรูปแบบพร้อมบูรณาการให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความรู้ เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล และยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา สสว. ยิ่งต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงต่างๆ ของ สสว. เป็นต้น
ปัจจุบันเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีประมาณ 3,134,442 บริษัท มีการจ้างแรงงานกว่า 12,714,916 อัตรา สร้างรายได้ GDP รวมให้กับประเทศประมาณ 34.2% แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยที่ท้าทายตลอดเวลาเนื่องจากความหากหลายของเอสเอ็มอีไทยและสถานการณ์ที่ยากควบคุม เช่น ในปีพ.ศ.2563 เอสเอ็มอีที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากที่สุดจะเป็นเอสเอ็มอีค้าปลีกและค้าส่ง แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เอสเอ็มอีค้าปลีกค้าส่งรายเล็กๆยุติกิจการ และเอสเอ็มอีด้านการท่องเที่ยว กิจการต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สถานที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศต่อเนื่องและทำได้ดีมาตลอดก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 อย่างมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งเข้าฟื้นฟูและช่วยเหลือโดยเร่งด่วน
งานมอบรางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้เรียนรู้กลยุทธ์และแนวคิดการทำธุรกิจในยุค Next Normal รวมทั้งการขยายตลาดสู่ ASEAN และสากลด้วย ซึ่งสสว.จะเป็นคลังข้อมูลธุรกิจประตูสู่อาเซียนและสากล
วีระพงศ์ กล่าว
กสอ.พร้อมช่วยเหลือ SMEไทย ฝ่าฟันทุกปัญหาและอุปสรรค
อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ. มีความตระหนักมาโดยตลอดว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงเดินหน้าประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวคิดการส่งเสริมและสนับสนุน SME ตามนโยบาย “ STI ”
โดย S คือ Skill ทักษะเร่งด่วน T คือ Tools เครื่องมือเร่งด่วน และ I คือ Industry อุตสาหกรรมเร่งด่วน เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาหาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพื่อเพิ่มตลาดซื้อขายให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นและหาองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการเองอยู่เสมอเพื่อฝ่าฟันปัญหา มองหาช่องทางแหล่งเงินทุนในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจ มองหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยเรื่องการผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และพร้อมเผชิญอุปสรรคที่ยากที่จะคาดเดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
“ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ COVID-19 ที่ยากคาดเดาได้ว่าจะยุติเมื่อไรและยุติอย่างไรที่สำคัญต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจที่เชื่อมโยงการค้าขายอยู่ช่วยเหลือระหว่างกันในเอสเอ็มอีแต่ละประเภทด้วย ซึ่งกสอ.และพันธมิตรอื่นๆทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมที่จะช่วยเหลือผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอยู่ตลอดเวลาในทุกๆสถานการณ์” อริยาพร กล่าว
สำหรับความร่วมมือในการมอบรางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021 ในครั้งนี้ จะเป็นทั้งการร่วมเชิดชูและเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เอสเอ็มอีในทุกอุตสาหกรรมในการพัฒนาตัวเองต่อไป
สร้างแบรนด์ SME ในยุค Next Normal
กิตติพงษ์ วีระเตชะ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์ COVID-19 เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องมีการปรับสร้างแบรนด์เป็นของตนเองเพื่อสร้างการรับรู้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างเร่งด่วนเพราะลูกค้ามีหลากหลายกลุ่ม มีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้า ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการบริโภคแบบใหม่ และรักษากระแสเงินสด กระจายความเสี่ยงไปยังตลาดที่หลากหลาย ขยายกำไรด้วยการเรียนรู้วิจัย ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐมาช่วยพัฒนาต่อยอดสินค้า เข้าใจในสถานการณ์ ทิศทางเทคโนโลยีที่จะนำมาเลือกใช้ไม่ต้องลงทุนครั้งเดียวจบแต่ค่อยๆเลือกลงทุนได้เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีนำไปประยุกต์ใช้ตามแต่ละประเภท
อย่ามองเอสเอ็มอีด้วยกันเป็นคู่แข่งแต่ให้แข่งกับตัวเองก่อน หาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของเราให้เจอ รวมทั้งนำสินค้าเข้าตลาดให้ถุกประเภท และที่สำคัญการจะอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ต้องมุ่งการรักษาชื่อเสียงและคุณธรรมมากกว่าการแสวงหาผลกำไรจงยึดมั่นในความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้าเสมอ เพราะเป็นกุญแจสำคัญที่นำพาธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน และต้องสื่อสารให้ทีมงานรู้ว่าองค์กรกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน เพื่อจะได้เดินไปข้างหน้าสร้างฐานเอสเอ็มอีไทยให้แกร่งไปพร้อมๆ กัน
กิตติพงษ์ กล่าว
SME 16 บริษัท จาก 9 ประเภทรับรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021”
สำหรับรายชื่อเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัล 9 ประเภท รวมทั้งสิ้น 16 รางวัล ประกอบด้วย
- SME ยั่งยืน ได้แก่ อาหารทานเล่น “แน็คเก็ต” จาก บริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด
- SME ยอดเยี่ยม ได้แก่ ยาดมสมุนไพร “หงส์ไทย” จาก บริษัท สมุนไพรไทย หงส์ไทย จำกัดและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โมริกามิ และเดอะเนเจอร์ จาก บริษัท ป่าล้านไร่ จำกัด
- SME ดาวรุ่ง ได้แก่ ขนมเปี๊ยะ “เอพริล เบเกอรี่” จาก บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว “เคลียร์โนส” จาก บริษัท เอ็นอาร์พีแอล เอเชีย จำกัด
- SME สินค้าเกษตร ได้แก่ ผลไม้สด จาก บริษัท ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง จำกัด และผลไม้สด จาก บริษัท เอส. พี. เอส. ฟรุ๊ตส์ จำกัด
- SME ผู้ประกอบการชุมชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “แคบหมึก รุ่งธนา” จาก บริษัท รุ่งธนาอินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัดและผลิตภัณฑ์ชาชงสมุนไพรและสมุนไพรแห้ง “ด็อกเตอร์กรีน” จาก บริษัท ดาริชกรีน จำกัด
- SME ความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “โอเมส” จาก บริษัท โอเมส ไบโอเทค จำกัด
- SME ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าว “อะกรีไลฟ์” จาก บริษัท อะกรีไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “เรียลอิลิคเซอร์” จาก บริษัท นูทริชั่น โปรเฟส จำกัด
- SME ผู้รับเหมายอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท เก่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดและบริษัท แอ๊ดวานซ์ อิเลคทริค เซอร์วิส จำกัด
- SME ผู้รับเหมาท้องถิ่นดาวรุ่ง ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.วัฒนพงศ์และบริษัท ภูเก็ต เอส.ซี.ที. คอนสตรัคชั่น จำกัด