WeWork Labs ประกาศความร่วมมือกับโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ (สนช.) กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืน และแสดงศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีโลก เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโปรแกรม Incubator และ Accelerator ทั้งชาวไทยและต่างชาติ วันนี้ – 31 กรกฎาคม ศกนี้ หวังปั้นสตาร์ทอัพอาหารระดับ Deep Tech ในไทย
SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหารแห่งแรกของโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะให้บริการด้านนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหาร มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี แบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม คือ โปรแกรม Incubator สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะบ่มเพาะ ระยะเวลาสูงสุด 15 เดือน และโปรแกรม Accelerator สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเร่งการเติบโต ระยะเวลา3-8 เดือน ซึ่งเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นี้ นับเป็นโครงการแห่งแรกของโลกที่มีทั้งโปรแกรม Incubator และโปรแกรม Accelerator
ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องเป็นสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมในด้านใดด้านหนึ่งดังนี้ คือ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ (Health and Wellness), โปรตีนทางเลือก(Alternative Proteins), กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (Smart Manufacturing), บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (Packaging Solution), ส่วนผสมและอาหารใหม่ (Novel Food and Ingredients), วัสดุชีวภาพและสารเคมี (Biomaterial and Chemical), เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Tech),การตรวจสอบควมคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Food Safety and Quality) และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร (Smart Food Services)
เอเดรียน ตัน หัวหน้าฝ่าย WeWork Labs ของ WeWork ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า WeWork Labs คือ แพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมของ WeWork ที่ช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเริ่มต้นและผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยล่าสุดได้มีการเปิดตัวโครงการฟู้ด แลบส์ (Food Labs Program) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการแรกที่มุ่งเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะและมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพ ด้วยการดึงผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุน มาร่วมสร้างคอมมิวนิตี้แห่งนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในวงการอุตสาหกรรมอาหาร
สำหรับประเทศไทย WeWork Labs ได้ร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการผลักดันโครงการ SPACE-F นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้าง Ecosystem ด้วยการช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอเดียและปัจจัยต่าง ๆ ในส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งเริ่มเปิดตัวโครงการในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพจากเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมโครงการ
WeWork Labs ร่วมสร้างมูลค่าด้วยการให้คำแนะนำ ให้ความรู้และเสริมสร้างความสามารถที่จำเป็นให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ SPACE-F ซึ่งจะได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญระดับโลกของ WeWork Labs ตลอดระยะเวลาของการเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ 9 ใน 10 ของสตาร์ทอัพที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ (Fail) อาจจะไปทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ เป็น Eco System ที่ดี
“ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางด้านอาหารด้วยโครงการที่มีความร่วมมือของพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เลือกประเทศไทยในการเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้าน Food Labs Program และมีส่วนได้ช่วยทำให้ไอเดียดีๆ เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย” เอเดรียน กล่าว
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การที่ประเทศพัฒนาด้านนวัตกรรมได้ คือ 1) ไทยจะต้องมีโมเดลการพัฒนาคล้ายกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งขับเคลื่อนโดยบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีระดับต่ำไปสู่เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้บริษัทขนาดใหญ่มีความสนใจ 2) การมีนวัตกรที่มีความสามารถ โดยสตาร์ทอัพจะต้องเป็น Species ของบริษัท ซึ่งในอนาคตจะเติบโตเป็น UNICON และ3) มี Accelerator ที่ดำเนินธุรกิจแล้วเติบโตเร็ว 20-30% ทั้งนี้ NIA ร่วมกับอิสราเอลในการพัฒนา Accelerator เป็นเวลา 2 ปี สามารถผลิต Accelerator ประมาณ 6-7 ราย มีเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท
ความท้าทายของสตาร์ทอัพด้าน Food Tech คือ จำนวนไม่เพียงพอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ SPACE-F ในปีนี้ ซึ่งมีการพูดคุยกับไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปให้ Accelerator เป็นรายเฉพาะ โดยมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานวิจัย และยินดีที่ได้ร่วมมือกับ WeWork และใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม Food Labs โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างแพลตฟอร์มอันยอดเยี่ยมในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ Deep Tech ทางด้านเทคโนโลยีอาหาร เพื่อช่วยเร่งสตาร์ทอัพให้เติบโตและก้าวไกลออกไปสู่ระดับนานาชาติ ( Global Player)
“การนำจุดแข็งทางด้านนวัตกรรมของเรา ร่วมกับ WeWorkLabs จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหารระดับโลก การสร้างงานด้านนวัตกรรม และแสดงความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันบนเวทีระดับโลก” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดนวัตกรรมภายในประเทศ สตาร์ทอัพชาวต่างชาติที่เข้าร่วมในโครงการ SPACE-F สามารถยื่นขอสมาร์ทวีซ่ากับรัฐบาลไทยได้ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ช่วยดึงดูดสตาร์ทอัพชาวต่างชาติที่มีทักษะให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านอาหารทะเลแช่แข็ง กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนได้ริเริ่มโครงการ SPACE-F ในต่างประเทศแล้วประมาณ 2-3 ปี สำหรับประเทศไทย ในครั้งนี้ได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการ SPACE-F เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยโฟกัสอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้าง Eco System
“เราเล็งเห็นว่า นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่สากล ให้เป็น Global Scale เนื่องจากประเทศไทย เป็น Manufacturing Hub สำหรับไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีนักวิจัย 100 คน เราจะดึงสตาร์ทอัพจากทั่วโลก พร้อมทั้งสร้างสตาร์ทอัพในไทยที่เป็น Deep Tech โดยมี Stage ให้เห็น ทั้งนี้ Incubator ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนไทย 80-90% จะต้องนำไอเดียมา Pitching ส่วน Accelerator ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ มีผลิตภัณฑ์และรายได้ นับเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้เรียนรู้จากสตาร์ทอัพระดับโลก” ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าว
เนื่องจาก SPACE-F เป็นโครงการในรูปแบบที่ไม่มีการถือหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพมีกรรมสิทธิ์ในไอเดีย และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของตนเอง เมื่อโปรแกรมสิ้นสุดลงจะมีโอกาสพบปะกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ รวมถึงบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) และองค์กรต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานลงทุนในสตาร์อัพ (Corporate Venture Capital) ทั้งนี้เหตุผลเบื้องหลังที่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปริเริ่มโครงการนี้ เพราะต้องการสร้างโอกาสร่วมลงทุนก่อนรายอื่น
ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ที่สตาร์ทอัพจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า สตาร์ทอัพจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ มี Commerize และเงินลงทุน ประกอบกับไทยมีแหล่งอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้สตาร์ทอัพมีความเสี่ยงน้อยลง ด้วยความร่วมมือของ WeWork Labs ในครั้งนี้ บริษัทสตาร์ทอัพจะได้เรียนรู้และได้คำแนะนำจากทั้งเมนเทอร์ชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในทุกแง่มุมเกี่ยวกับธุรกิจ
“การได้ร่วมมือกับ WeWork Labs จะเป็นการเปิดลู่ทางใหม่เพื่อให้สตาร์ทอัพได้พิสูจน์ไอเดีย ของพวกเขา ทั้งนี้ เรามุ่งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลกและหวังว่าจะได้ต้อนรับคลื่นลูกใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพฟู้ดเทคที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้” ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าว
โครงการ SPACE-F ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บนพื้นที่ 1,100 ตารางเมตรซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยจะให้บริการตั้งแต่ห้อง Lab เครื่องมืออันทันสมัยที่จะช่วยให้การวิจัยและการพัฒนาทางความคิดเป็นไปได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้การขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยการเข้าถึงพื้นที่ทำงานของ WeWork Labs ได้ใน 60 แห่งทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนของเครือข่ายทั่วโลกของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และโปรแกรมของสนช. ที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพสู่ตลาดต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้นำอุตสาหกรรมในอนาคตด้วยการช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์ให้กับพวกเขา รวมทั้งมีเครือข่ายช่วยวิเคราะห์ทางออกที่เป็นคอขวดในการพัฒนาอุตสาหกรรม แคมปัสศาลายา จ.นครปฐม ซึ่งมีโรงงานต้นแบบ และเครือข่ายนักวิจัยจากต่างประเทศ เช่น Plant Factory สารสมุนไพรเพิ่มขึ้นครบวงจร มีระบบทดสอบ หน่วยทดสอบมาตรฐาน Functional Lab มีการทำวิจัย ให้สตาร์ทอัพ สามารถทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม
ประเทศไทยนับได้ว่า เป็นฮับของสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและนานาชาติ เนื่องจากมีค่าครองชีพที่ไม่สูงมากและมีการดำรงชีพที่ดี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางของบริษัทผู้ผลิตและให้บริการด้านอาหารจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะกับการริเริ่มนวัตกรรมด้านอาหาร
“เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการเสริมสร้างระบบ Ecosystem คือสิ่งที่สำคัญซึ่งจะช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและสร้างผลงานได้ และเรามีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับ WeWork Labs ในครั้งนี้” รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ กล่าว
อนึ่ง นิยามของคำว่า Deep Tech คือ เป็นงานวิจัยและพัฒนาในห้อง Lab โดยพัฒนาเป็น Business Model ซึ่งใช้เทคโนโลยี Bio-Technology เข้มข้น มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เทคโนโลยี Stream ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล ยกตัวอย่างผลงาน เช่น ใช้เลเซอร์กำจัดเห็บในปลา ในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เทคโนโลยีเพาะไก่ไข่จากไข่ โดยสามารถเลือกเพศได้ว่าให้เป็นไก่เพศเมีย เพื่อจะได้เลี้ยงเป็นแม่ไก่ไข่ต่อไป จากเดิมที่ไม่สามารถรู้ว่าไข่ที่จะฟักตัวเป็นไก่เป็นเพศใด เป็นต้น