กรุงเทพฯ – 2 พฤศจิกายน 2563 : กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมลงนามใน “บันทึกข้อตกลงการดำเนินงานและการโอนการดำเนินงาน ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ 3)” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานความรู้ ภายใต้แนวคิด “วิจัยได้…ขายจริง” ผ่านกลไกการทำงานของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. และชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house วช. โดยการจัดสรรทุนวิจัยจาก สกสว. ให้แก่นักวิจัย คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและเวชสำอาง ณ ห้องลิโด้ คอนเน็คท์ ฮอลล์ 2
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยสนับสนุนทุนวิจัยด้วยการสร้างองค์ความรู้ ที่เหมาะสมผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจและการใช้แนวความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และผลักดันสินค้าจากผลงานวิจัยไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมและจำหน่ายจริงในเชิงพาณิชย์ รวมถึงสนับสนุนให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงานแบบบูรณาการร่วมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ สกสว. มุ่งหวังให้งานวิจัยและพัฒนาเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นและสร้างความแตกต่างของสินค้าในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ได้ร่วมกับ สกสว. ดำเนินงานภายใต้โครงการนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 โดย สวทช. ได้มุ่งเน้นในการสนับสนุนงานวิจัยและสนับสนุนให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถให้แก่ภาคอุตสาหกรรมจนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs
ในงานนี้ได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการดำเนินงานมาร่วมจัดแสดง 110 โครงการ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้ามากกว่า 135 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 88 ราย มีการทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสในการจัดจำหน่ายสินค้า
“ในปีนี้ สวทช. ยังได้ร่วมมือกับ สกสว. และ วช. ดำเนินงานโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในกลุ่มอาหาร เครื่องสำอางและเวชสำอาง และมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ยินดีที่ร่วมดำเนินการในโครงการนี้ เนื่องจากได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยจะร่วมกับ สวทช. และ สกสว. ในการบริหารจัดการงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อผลักดันงานวิจัยที่เกิดขึ้นให้สามารถจัดจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ โดยโครงการนี้มีรูปแบบทุนวิจัย 2 รูปแบบ คือ 1) กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสินค้านวัตกรรม และ 2) กลุ่มการวิจัยในระดับปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตในระดับอัพสเกล เพราะเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้แล้วยังคงต้องศึกษาด้านต่าง ๆ ในเชิงลึกยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์สารชีวภาพ คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตระดับอัพสเกล เป็นต้น เพื่อให้โครงการรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ได้ดี
ภายในงานดังกล่าว ได้จัดให้มีงานเสวนา เรื่อง “กว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมจะขายจริงในเชิงพาณิชย์” โดย ชณา วสุวัต บริษัท แวลู ซอร์สซิ่ง จำกัด สรัลภัค จิรโรจน์วัฒน บริษัท บี-สไมล์ จำกัด และวิรวัฒน์ เปี่ยมวิวัติกุล (บริษัท พรทิพย์พรีเมี่ยม จำกัด) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความรู้และแนวทางในการดำเนินธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งได้จัดแสดงผลงานนวัตกรรมอาหาร เครื่องสำอางและเวชสำอาง จาก “โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 2” พร้อมจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยจาก 110 โครงการ จำนวน 135 ผลิตภัณฑ์จาก 8 กลุ่มงานวิจัย ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม อาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมหวาน และผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเวชสำอาง
นอกจากนี้ยังพิธีมอบรางวัล Innovative House Awards 2020 พร้อมประกาศผลรางวัลผลงานวิจัยเด่นในแต่ละด้าน 12 รางวัล ประกอบด้วย
- รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น สุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ บริษัท โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ธนาวัฒน์ โพธิ์เผื่อนน้อย บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด อภิรักษ์ โกษะโยธิน บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด สวรรพิศา จงเพิ่มวัฒนะผล บริษัท ช.โปรเซสซิ่งฟู้ด จำกัด และ บัณฑิตา ใจวิสุทธิ์หรรษา บริษัท โอเมก้า 3,6, 9 แอนด์ไลโคปีน จำกัด)
- รางวัลออกแบบบรรจุภัณฑ์เด่น ผลิตภัณฑ์เฝอพร้อมรับประทาน บริษัท วินนา จำกัด ออกแบบโดย ผศ.ดร.ธเนศ ภิรมย์การ และคณะ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- รางวัลผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ซุปก้อนทุเรียน บริษัท พรทิพย์ พรีเมี่ยม จำกัด วิจัยและพัฒนาโดย ผศ.ดร.อรรณพ ทัศนอุดมและคณะ สาขาอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก
- รางวัลผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์น้ำพริกแซลมอนพร้อมรับประทาน บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด วิจัยและพัฒนาโดย ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร สาขาเทคโนโลยีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รางวัลผลิตภัณฑ์แนวคิดสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากจิ้งหรีด บริษัท อินเซ็ค โปรตีน จำกัด วิจัยและพัฒนาโดย ผศ.ดร.อรรณพ ทัศนอุดมและคณะ สาขาอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก
- รางวัลทีมวิจัยดีเด่น ผศ.ดร. สุชาดา ไม้สนธิ์ และคณะ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- รางวัลทีมวิจัยสร้างสรรค์ ผศ.ดร. พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และคณะ สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- รางวัล Popular Vote ผลิตภัณฑ์เค้กช็อกโกแลตหน้านิ่ม บริษัท ฟู้ด โคเวอรี่ จำกัด โดย บดินทร์ เจริญพงศ์