บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 ของปีพ.ศ.2562 มีรายได้จากการขาย 110,330 ล้านบาท ลดลง 10 % ส่วนผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2562 มีรายได้จากการขาย 331,803 ล้านบาท ลดลง 8 % จากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ. 2561 จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การค้าชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทาน ของ SCG ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี พ.ศ.2562 มีรายได้จากการขาย 110,330 ล้านบาท ลดลง 10 % จากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ. 2561 จากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่ม 1% จากไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2562 โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,204 ล้านบาท ลดลง 35 % จากช่วงเดียวกันของปี พ.ศ.2561 และลดลง 12 % จากไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2562 สาเหตุหลักจากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากมีส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม สงครามการค้าที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทที่แข็งค่า ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (Assets Impairment) จำนวน 762 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 640 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ซึ่่งหากไม่รวมการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีดังกล่าว จะทำให้ SCG มีกำไรสำหรับงวด 7,267 ล้านบาท ลดลง 23% จากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ. 2561 แต่เพิ่มขึ้น 3 %จากไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2562
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2562 SCG มีรายได้จากการขาย 331,803 ล้านบาท ลดลง 8 %จากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2561 เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 24,910 ล้านบาท ลดลง 27 % จากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2561 ซึ่งรายการสำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2562 ประกอบด้วย ไตรมาสที่ 2 มีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 2,035 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 มีการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีจำนวน 762 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ประกอบกับความกังวลจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ของทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
นอกจากนี้ไตรมาสที่ 3 ของปีพ.ศ.2562 SCG มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 44,450 ล้านบาท คิดเป็น 40 %ของยอดขายรวม ลดลง 8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2561 และลดลง 6 %จากไตรมาสที่ 2 ของปรพ.ศ. 2562 ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2562 SCG มียอดขายสินค้า HVA 137,077 ล้านบาท คิดเป็น 41 % ของยอดขายรวม ลดลง 2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ.2561 สำหรับรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2562 ทั้งสิ้น 134,522 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของยอดขายรวม ลดลง 12 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2561 ที่ผ่านมา โดยสินทรัพย์รวมของ SCG ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2562 มีมูลค่า 611,503 ล้านบาท ซึ่ง 35 % เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
รุ่งโรจน์ กล่าวถึงผลกระทบจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสิทธิ์ GSP หรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา โดยลดภาษีสินค้านำเข้าให้ เพื่อให้สินค้าจากประเทศเหล่านี้สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบกับยอดขายของ SCG มากนัก เนื่องจาก SCG ส่งผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายใน สหรัฐอเมริกาเพียง 5% จากยอดส่งออกไปยังต่างประเทศทั้งหมดในแต่ละปี อย่างไรก็ตามทางคณะผู้บริหารของ SCG ก็มีการตั้งทีมงานติดตามข่าวและประเมินสถานการณ์การค้าที่จะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตามสถานการณ์การค้าโลกที่มีความผันผวนในช่วงสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา