NIA เปิดรายชื่อ 100 นักสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม ปีที่ 2” ผลักดันให้คนไทยกล้าคิดนอกกรอบ


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดรายชื่อ 100 นักสร้างสรรค์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจในโครงการ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม ปีที่ 2” (100 Faces of Thailand’s Innovation Inspirers 2) ภายใต้แนวคิด Creative & Aesthetic ใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาศิลปิน สาขานักออกแบบ สาขาผู้ขับเคลื่อนสังคม สาขาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี สาขาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ และสาขาผู้ให้ความรู้ โดยทั้ง 100 นักสร้างสรรค์ผู้สร้างแรงบันดาลใจและนวัตกรรมเชิงศาสตร์และศิลป์ ได้นำเสนอแนวคิด ผลงาน และความสำเร็จที่จะช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจ และผลักดันให้คนไทยกล้าคิดนอกกรอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมนำประเทศไทยสู่นวัตกรรมใหม่ๆ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) กล่าวว่า  โครงการ ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือNIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยความร่วมมือจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเป็นปีที่ 2  ภายใต้แนวคิด“Aesthetic & Creative” เพื่อกระตุ้นและสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศ โดยนำเสนอผ่านต้นแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจและสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนไทยเกิดความตื่นตัวที่จะกล้าคิดนอกกรอบ ริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนาสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นแก่สังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ ควบคู่ไปกับการจัดนิทรรศการออนไลน์และเวทีเสวนา รวมถึงหนังสือ E-book ที่ได้รวบรวมแนวคิด ผลงาน ความสำเร็จของต้นแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลงจากหลากหลายสาขาอาชีพในประเทศไทย โดยได้รวบรวมแนวคิด ผลงาน ความสำเร็จของ 100 นักสร้างสรรค์ผู้สร้างแรงบันดาลใจและนวัตกรรมเชิงศาสตร์และศิลป์ในทั้งหมด  6 สาขา ประกอบด้วย สาขาศิลปิน 1.สาขาศิลปิน (Artist) 2.สาขานักออกแบบ (Designer) 3.สาขาผู้ขับเคลื่อนสังคม(Social Mover) 4.สาขาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี (Tech Entrepreneur) 5.สาขาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) และ6.สาขาผู้ให้ความรู้ (Knowledge Provider)

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมจากโครงการนี้จะช่วยสร้างนวัตกรรม นวัตกรรุ่นใหม่ของไทยที่มีคุณค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อนำผลงาน ที่คิดค้นได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศต่อไป” รัฐมนตรีอว. กล่าว

 ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ได้ให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและนวัตกรใหม่ๆเพื่อเป็นต้นแบบ แรงบันดาลใจ ผลักดันให้เยาวชน ประชาชนและอื่นๆได้นำแนวคิด องค์ความรู้ที่เหล่าต้นแบบ ทั้ง 100 คน ในโครงการ“ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม ปีที่ 2” ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการทำงาน รวมทั้งนำไปช่วยสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆที่สร้างมูลค่า สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในระดับสากล

 

สำหรับรูปแบบในการจัดงานโครงการ“ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม ปีที่ 2” ในครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด เนื่องด้วยข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากการเปิดตัว 100 นักสร้างสรรค์ผู้สร้างแรงบันดาลใจนวัตกรรมเชิงศาสตร์และศิลป์ใน 6 สาขาวิชาชีพ ภายในงานยังมีการถ่ายทอดแนวคิด องค์ประกอบในการออกแบบสื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริง (Visual Exhibition) ที่ให้ทุกคนสามารถสัมผัสประสบการณ์ในการเข้าชมนิทรรศการจริงเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังเปิดตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 2” ซึ่งได้รวบรวมแนวคิด ผลงาน ความสำเร็จของทั้ง 100 นักสร้างสรรค์ที่มาพร้อมลูกเล่นสุดตื่นตาตื่นใจด้วยเทคโนโลยี AR ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์การอ่านหนังสือให้สนุกและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น โดยสามารถอ่านได้ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน NIA 100 Faces โดยผู้สนใจงาน “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม ปีที่ 2” (100 Faces of Thailand’s Innovation Inspirers 2) สามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ รวมถึงติดตามหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ได้บนเว็บไซต์ www.nia100faces.com  และแอปพลิเคชัน NIA 100 Faces

 

พัชรพล แตงรื่น ศิลปินสตรีทอาร์ต Alex Face กล่าวว่า การทำงานศิลปะพ่นสีตามกำแพง พื้นที่สาธารณะนั้น เป็นการสื่อสารช่วยส่องสะท้อนหรือฉายภาพปัญหาสังคม ที่หลายคนไม่กล้าเอ่ยถึง ซึ่งศิลปะ เด็ก กระต่าย ที่สื่อออกมานั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ เราไม่ได้สร้างศิลปะเพื่อออกไปแบบไปทำร้ายร่างกายใคร เชื่อว่าศิลปะเป็นทักษะที่ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์หากมีการฝึกฝนบ่อยๆจะช่วยขัดเกลาให้จิตใจผู้รังสรรค์ศิลปะ อ่อนโยนมากขึ้น ทุกคนสามารถที่จะสร้างสรรค์ศิลปะบนกำแพง หรืออื่นๆพื้นที่ส่วนตัว ส่วนรวมได้ โดยไม่ไปทำลายทรัพย์สิน ก่อเหตุ สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม

“อยากให้ศิลปะเป็นเรื่องของการนำเสนอความเป็นไปของบริบทการเมือง สังคม เศรษฐกิจและข้อเรียกร้องที่ไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆมากกว่า สำหรับการได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 นวัตกรในครั้งนี้ รู้สึกดีใจที่จะได้นำเสนอแนวคิดทางศิลปะแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพราะศิลปะเป็นศาสตร์แขนงที่สำคัญที่จะช่วยให้สังคมมีความอ่อนโยน มีการกล้าที่จะแสดงออกนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆในแต่ละยุคสมัย ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ รวมทั้งเป็นการนำเสนอจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์อย่างเสรีบนพื้นฐานการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

วราภรณ์ กุลสวัสดิ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งมา 25 ปี ได้ร่วมทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและอื่นๆมากมาย เพื่อช่วยให้แต่ละหน่วยงานมีการสื่อสารที่เป็นข้อเท็จจริงสู่สาธารณชนในช่วงเวลาที่การสื่อสารค่อนข้างจะขาดข้อเท็จจริงและขาดการตรวจสอบ สร้างความเชื่อที่ผิดแก่ผู้ที่รับสารที่สื่อออกไป ซึ่งปัจจุบันการสื่อสารเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและกระแสไปไวมากในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นและการรับมือที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงและนำเสนอกลับจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องอาศัยความชำนาญงานและข้อมูลข้อเท็จจริง รวมทั้งการทำงานเป็นทีมและระยะเวลาในการนำเสนอต้องเหมาะสมด้วย ซึ่งอาจจะใช้นวัตกรรมสื่อสารช่องทางแพลตฟอร์มต่างๆที่มี ทั้งโซเชียลมีเดียต่างๆ ช่องทางโทรทัศน์ที่นำเสนอทั้งภาพและเสียง รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์อย่างน้อยสื่อสารให้กลุ่มต่างๆได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากที่สุดและทั่วถึงที่สุด อาจจะช้าไปบ้างแต่ชัดเจนในข้อมูลเนื้อหาและข้อเท็จจริงจะได้ผลตอบรับที่ดีกลับมาอย่างแน่นอน

“การได้รับคัดเลือกร่วมเป็น 1 ใน 100 นวัตกร รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง พร้อมที่จะนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไปให้นำไปปรับใช้รูปแบบการสื่อสารที่ยุคดิจิทัล ข่าวสาร ข้อมูลไวและเร็วแต่ขาดการไตร่ตรองขาดการกรองข้อมูลจริง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ให้รู้จักกลั่นกรองข้อมูล ข่าวสารที่ได้รับก่อนเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน”  วราภรณ์ กล่าว

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Landprocess กล่าวว่า เป็นนักภูมิสถาปัตย์ที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมหลากหลายมากมายด้วยองค์ความรู้ที่ได้เรียนและได้สั่งสมประสบการณ์มาตลอดทั้งชีวิตและที่สำคัญทำงานทุกๆผลงานด้วยหัวใจ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำมากลั่นกรองถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าทุกๆชิ้นงาน เช่น ผลงานการออกแบบ อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นพื้นที่รับมือปริมาณน้ำฝน ป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯซึ่งเป็นความท้าทายที่จะสร้างป่าสีเขียวบนพื้นที่คอนกรีตในกรุงเทพฯในขณะนั้นแต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในการทำงานต่างๆจนกระทั่งผลงานสำเร็จและใช้งานในปัจจุบัน

สำหรับการได้รับเลือกเป็นนวัตกร 100 ในโครงการในครั้งนี้นั้น รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจที่จะได้นำองค์ความรู้ที่สั่งสมมาถ่ายทอดสู่ทุกๆคนที่สนใจ งานภูมิสถาปัตย์เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังถ่ายทอดค่อนข้างน้อย มีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และมีน้อยคนที่จะเข้าใจและใส่ใจในรายละเอียดของภูมิสถาปัตย์  ทุกๆผลงานต้องปรับการสร้างสรรค์ผลงานให้สอดรับกับสภาวโลกร้อนสอดรับการใช้งานและงบประมาณที่ได้รับ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในเวทีระดับโลกยังเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเช่นเดียวกัน

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า งานที่ทำได้นำข้อมูลที่บนโซเชียลมีเดีย มาประมวลผลแก่องค์กรในสังคม ว่าสังคมนี้ต้องการอะไร แยกแยะข่าวปลอมออกจากข่าวจริง เพื่อมาสร้างแนวนโยบายในการสนองความต้องการของแหล่งข้อมูลที่ได้จากทุกๆคน เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ แบ่งเบางบประมาณที่จะนำไปใช้ฟื้นฟูพัฒนาสังคม ประเทศ ตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้ ซึ่งเราจะไปบังคับให้ทุกคนเชื่อในข่าวที่เราแจ้งว่าเป็นข่าวจริงทั้งหมดไม่ได้ แต่การสร้างการรับรู้สร้างแพลตฟอร์มชี้แจงข่าวบ่อยๆ สร้างการจดจำแก่ประชาชนเชื่อว่าสักวันข่าวสารที่แท้จริงจะค่อยๆซึมซับสู่ประชาชนเอง แต่หากไปเร่งแก้ไขข้อมูลข่าวสารแบบทันทีทันใด หรือตอบโต้โดยไม่มีข้อมูลมารองรับ ประชาชนก็จะไม่ฟังแน่นอน

“เราต้องสร้างความมั่นใจ สร้างข้อมูลข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง นำเสนอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างมีเหตุและมีผล เหมือนกับสุภาษิตจีนที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ที่สำคัญควรมี Big Data ภาครัฐสำหรับเก็บข้อมูลข่าวสารไว้ทุกๆหน่วยงานจะเป็นการดีมากเพื่อที่จะคัดกรองข่าวปลอมออกจากข่าวจริงได้ง่าย สะดวก ประหยัดเวลาและประหยัดงบประมาณด้วย” กล้า กล่าว

สำหรับความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งใน 100 นวัตกร ในครั้งนี้รู้สึกเป็นเกียรติและพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีแก่ทุกๆคนที่สนใจเพื่อนำไปปรับใช้ในรูปแบบต่างๆ

นพ. ณัฐเขต แย้มอิ่ม ผู้ก่อตั้ง PULSE Clinic คลินิกสุขภาวะทางเพศ กล่าวว่า การทำงานที่เน้นเรื่องการตั้งสุขภาวะทางเพศเพื่อเป็นช่องทางที่ให้บริการแก่คนที่มารู้สึกดี ไม่โดนตีตราว่ามีความผิดปกติทางเพศ และยอมรับการรับฟังอย่างมีเหตุมีผลแก่คนไข้ที่มารับบริการ นอกจากนี้ยังมีงานนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนที่มาใช้บริการในคลินิกไม่รู้สึกว่าเข้ามารักษาในคลินิกที่มีคนป่วย อยากให้คนไข้มาใช้บริการรู้สึกผ่อนคลาย

สำหรับความรู้สึกที่ได้รับคัดเลือก เป็น 100 นวัตกรในครั้งนี้รู้สึกเป็นโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ที่สั่งสมมาถ่ายทอดสู่ทุกๆคน นำไปปรับใช้ ไม่ให้เขาเหล่านั้นรู้สึกโดดเดี่ยวรู้สึกแปลกแยกที่เกิดมา ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะดำเนินชีวิตที่เป็นและเป็นคนดี สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ตอบแทนสู่สังคมและประเทศชาติได้ในแบบที่พิเศษที่ถูกรังสรรค์ขึ้นภายในตัวตนของเรา เชื่อว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกๆที่ทั่วโลกเพียงแต่จะมีสักกี่คนที่จะสามารถถ่ายทอดความหลากหลายทางเพศเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ที่สร้างอาชีพสร้างรายได้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติสุขมากกว่ากัน หากมัวแต่น้อยเนื้อต่ำใจในสภาวะทางเพศที่มีก็จะยิ่งบั่นทอนจิตใจและไม่สามารถที่จะก้าวผ่านสิ่งที่เป็นได้เลย

ผศ.ดร.รัฐ พิชญางกูร อาจารย์ ที่ปรึกษา และนวัตกรด้านชีวเคมี กล่าวว่า งานวิจัยที่เรียนและสอนในห้องเรียนนั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ต้องอาศัยการเรียนนอกห้องเรียนนอกตำราเรียนโดยอาศัยองค์ประกอบนวัตกรรมทางสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทันสมัยตามบริบทของประเทศไทยในแต่ละยุคสมัยมาบูรณาการปรับบทบาทการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ตลาดอาชีพ นโยบายของรัฐบาล และประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งชื่นชมและยกย่องนิสิตนักศึกษาที่เขามีจินตนาการ รังสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย หาเวทีนำเสนอผลงานให้สังคมรับทราบ รับรู้และยอมรับในทุกๆผลงาน แม้จะไม่ได้รางวัล แต่เชื่อว่านิสิตนักศึกษาที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานจะมีความภาคภูมิใจและนำไปต่อยอดในการใช้ชีวิตในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ อาจจะเริ่มต้นจากเป็นสตาร์ทอัป หาแหล่งความรู้ หาแหล่งเงินทุนสนับสนุน รวมทั้งมีเวทีนำเสนอผลงานทุกภาคส่วนที่พร้อมรองรับการนำเสนอผลงานนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ของนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ๆที่หลากหลายในหลายๆสาขาวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อต่อยอดพัฒนาตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์การค้าของเวทีสากลไปสู่การสร้างนวัตกรรม สร้างบริษัทใหญ่ๆต่อไปในอนาคต

สำหรับการที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 100 นวัตกรที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคม ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ๆนั้นรู้สึกดีใจและยินดีที่จะได้นำองค์ความรู้ที่เป็นอาจารย์สอนในห้องเรียน สอนนิสิตนักศึกษา นักวิจัยที่มีความยากลำบากจากการศึกษาในยุคดิจิทัล ยุคที่เจอสถานการณ์ COVID-19 ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ เจอปัญหาที่หลากหลายมากมาย แต่การปรับตัวและทำงานรูปแบบใหม่นี้จะเป็นแรงผลักดันที่ดีที่จะช่วยให้การพัฒนาตนเองหาความรู้ใหม่ๆเสริมเพิ่มเติมให้การทำงานประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save