ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี (LET) ในเครือล็อกซเล่ย์โชว์แผนธุรกิจปี’66 ผ่านแนวคิด “The Future of LET” นำความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีด้านระบบรักษาความปลอดภัยระดับเมืองย่อส่วนสู่องค์กรและบ้านเรือน ประกาศทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ ผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ต่อยอดโซลูชันและผลิตภัณฑ์ ขยายฐานลูกค้าและพันธมิตร รุกตลาด B2B และ B2C หวังเพิ่มสัดส่วนยอดขายนอกเหนือจากตลาด B2G ตั้งเป้าสร้างรายได้ประจำที่อย่างยั่งยืน (Sustainability Recurring Revenue) ภายใน 3 ปี
เฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์รับงานภาครัฐส่วนใหญ่ เช่น ติดตั้ง CCTVให้ทอท. ติดตั้ง Smart CCTV ให้ตำรวจภูธร ซึ่งธุรกิจรักษาความปลอดภัยมีความสำคัญต่อทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมองว่าธุรกิจนี้น่าจะเติบโตได้อย่างดี เราพยายามวางบทบาทบริษัทฯ ให้เป็น Holding Company และ Spin off เป็นบริษัทลูก คือ ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี (LET) เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมั่นใจว่าธุรกิจของ LET จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ยุทธพร จิตตเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (LET) กล่าวว่า LET เป็นบริษัทลูกถือหุ้นโดย บมจ.ล็อกซเล่ย์ 80% ดำเนินธุรกิจด้านบริการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยระดับเมือง (Public Safety) มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นองค์กรภาครัฐ แม้ว่าที่ผ่านมา LET จะมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี แต่รายได้เกือบทั้งหมดมาจากงานประมูลภาครัฐ (B2G) ซึ่งมีความผันผวนสูงทั้งในแง่โอกาสและรายได้ ดังนั้น LET จึงมองหาโอกาสทางการตลาดในช่องทางอื่นเพิ่มเติม คือกลุ่มลูกค้าองค์กรเอกชน และลูกค้าครัวเรือนทั่วไป LET จึงปรับแผนการดำเนินธุรกิจ พร้อมพัฒนาโซลูชันผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ภายใต้กลยุทธ์ “The Future of LET” ตอบโจทย์ทุก Element ของ Alert และ Alarm เทคโนโลยีสามารถขึ้นมาเป็นคู่ต่อสู้ของผู้ทำธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลสัดส่วนที่มาของรายได้จากเดิมที่มาจาก B2G มากกว่า 90% ให้กลายเป็นสัดส่วนรายได้จาก B2G เดิม 60% และเพิ่มสัดส่วนรายได้ใหม่จาก B2B และ B2C ให้ได้ 40% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า
“การปรับสมดุลสัดส่วนรายได้ดังกล่าว ไม่ใช่ลดปริมาณงานจากภาครัฐลง ตรงกันข้ามเรายังคงให้ความสำคัญกับตลาด B2G เช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ขยายตลาดไปยังภาคเอกชนที่มีความต้องการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ LET สามารถสร้างรายได้ประจำที่ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายหลักของล็อกซเล่ย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่” ยุทธพร กล่าว
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ “The Future of LET” ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยสำหรับที่พักอาศัย (Residence Security) เป็นบริการระบบรักษาความปลอดภัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Security & Digital Lifestyle” โดยย่อส่วนจากงานด้านความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยระดับเมืองและเขตชุมชนขนาดใหญ่ (Public Safety) มาสู่ “LET Care” ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยสำหรับที่พักอาศัยแนวราบและแนวดิ่ง เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หมู่บ้าน และคอนโดมิเนียม ที่ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย ที่เหนือกว่าการแจ้งเตือนผู้บุกรุกหรือดูไลฟ์วิดีโอผ่านสมาร์ทโฟน เนื่องจาก “LET Care” สามารถตรวจจับความผิดปกติ ทั้งความร้อน อุณหภูมิ กลุ่มควันภายในที่พัก รวมถึงสามารถควบคุมแสงสว่าง เปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่อยู่อาศัย พร้อมส่งสัญญาณฉุกเฉินแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุ อีกทั้งมีทีมตรวจสอบความปลอดภัยเฝ้าระวังผ่านศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Command & Control Center :CCC) ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง โดย LET จับมือกับบริษัท ฮาโก้ อิเลคทริค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีการยกระดับให้ที่อยู่อาศัย มีความ Smart ตั้งแต่การเปิดประตู จนกระทั่งการปิด เปิดไฟด้วยระบบ IoT (Internet of Things) ครอบคลุมตลาดทุกตลาดในประเทศไทย
วรกิตติ์ วาณิชยรรยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาโก้ อิเลคทริค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฮาโก้จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า Switch Breaker ด้านความปลอดภัย โดยทำตลาดผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.ร้านค้า 2.Modern Trade 3.งานโครงการ โดยจับมือกับ Developer เพื่อนำอุปกรณ์ไปใช้ในบ้าน และ 4. E-commerce มีโซลูชัน IoT (Internet of Things) ใช้ Smart Phone ควบคุม แต่ยังขาด Monitoring จึงตัดสินใจร่วมทำธุรกิจ IoT Security กับ LET โดยมีความท้าทายในการทำธุรกิจว่า อุปกรณ์มีความปลอดภัยจริงและสามารถซื้อบริการ Monitoring ได้
- เทคโนโลยีป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ (Cyber Shield) ด้วยตระหนักถึงปัญหาด้านการโจรกรรมข้อมูลทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง LET จึงจับมือกับ บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านบริการ Cloud-Native Security และ Cyber Security ของประเทศไทย มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านคลาวด์ และ นวัตกรรมโซลูชันด้านความปลอดภัยมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ร่วมกันให้บริการโซลูชันเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์แก่ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อาทิ สถานพยาบาลขนาดเล็ก (คลินิค) ศูนย์บริการรถยนต์ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ
คริส กฤษณยศ บูรณะสัมฤทธิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นับว่ามีความสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดได้มาก เช่น ข้อมูลสุขภาพ สามารถทำให้โอนเงินเข้าบัญชีได้ จึงพัฒนาโซลูชันที่ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์และแจ้งเตือน ให้บริการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงx7 วัน ผ่านห้อง CCC เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ เหมือนเป็นบอดี้การ์ด นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเมืองไทยประกันภัย ที่พร้อมจะออกกรรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้ใช้ระบบ Cyber Shield ที่ถูกแฮกข้อมูล มูลค่า 50 ล้านบาท เพื่อยกระดับการป้องกันโจรกรรมทางด้านCyber ให้เชื่อถือได้สำหรับลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Cyber Shield
“ล็อกซ์เล่ย์พัฒนา Physical Securityคลาวด์เซค เอเซีย พัฒนา Cyber Security โดยทั่วไป เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดูแลระบบได้แค่ 50% เราจึง Deploy กลุ่มเป้าหมายที่ภาคธุรกิจก่อน โดยเฉพาะ SME ที่ต้องให้ความสำคัญในส่วนของกฎหมายPDPA อีกทั้งระบบ Cyber Security ของ LET สามารถนำไปควบรวมกับการจัดทำนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้ กฎหมายPDPA ของแต่ละองค์กรได้อีกด้วย” คริส กฤษณยศ กล่าว
3. เทคโนโลยีดูแลและช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุ (Residence Elderly Ward) บริการที่รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) ของประเทศไทย ที่กำลังขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Hyper Aged Society) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยบริการ Residence Elderly Ward เป็นการบูรณาการระบบการเฝ้าระวังเชื่อมกับ 3 อุปกรณ์หลักที่ LET วิจัยและพัฒนาร่วมกับบริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์ดินสอฝีมือคนไทย มานานกว่า 2 ปี ได้แก่ 1. “น้องปกป้อง” หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุที่สื่อสารได้แบบ 2 ทาง (Two Way Communication) 2.Technology For Aging Society หรือสร้อยคอตรวจจับความเคลื่อนไหว และ 3.สมาร์ทวอทช์ โดยอุปกรณ์ทั้งหมดเชื่อมต่อเข้ากับ “LET Care” เพื่อเสริมการดูแลพร้อมแจ้งเตือนและช่วยเหลือผู้สูงอายุกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดการลื่นล้ม เป็นลมหมดสติจากโรคประจำตัว หรือแม้กระทั่งตรวจจับการออกนอกพื้นที่พักอาศัยในระยะที่จำกัดไว้ ผ่านอุปกรณ์ที่สามารถโต้ตอบสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือกับปลายทาง หรือทีม CCC ของ LET ได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง
เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีปรระสบการณ์ในการพั ฒนาหุ่นยนต์และ AI ฝีมือคนไทยเพื่อผู้สูงอายุมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยมี Pain Point ที่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการอยู่โรงพยาบาล ปัจจุบันบริษัทฯ จำหน่ายหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่น และในไทยที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับหุ่นยนต์ที่ร่วมกับ LET จะพัฒนาโดยเพิ่ม Respond Time มี Dashboard เพื่อมอนิเตอร์เชื่อมกับโรงพยาบาลและสถานีตำรวจ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังที่มีความเสี่ยง เช่น สำลักยา สะดุดล้ม หัวใจขาดเลือด อัมพาต หูหนวก รับมือถือไม่ได้ กรณีที่ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกเหงา และเดียวดาย หุ่นยนต์ดินสอจะช่วย Companion เรื่องไลฟ์สไตล์เพื่อสร้างความบันเทิงในชีวิต เช่น ชวนฟังเพลง โทรศัพท์หาลูก เป็นต้น สำหรับความท้าทายในการจับมือกับ LET ในครั้งนี้ คือ การให้ผู้บริโภคเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่าไม่ได้เกินความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากหุ่นยนต์สามารถดูแลแทนคนได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งอุบัติเหตุและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงจำเป็นที่จะต้องมีหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ
- เทคโนโลยีไร้มนุษย์ควบคุม (Unmaned Services) เป็นบริการที่ LET ร่วมกับ บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด ผู้เชี่ยวชาญ ออกแบบและติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม มากกว่า 18 ปี, ผู้พัฒนาระบบติดตามคนและวัตถุภายในอาคารแบบเรียลไทม์ และ ผู้นำเข้า จัดจำหน่อยหุ่นยนต์เสริฟอาหารหลักของประเทศ เพื่อนำหุ่นยนต์ 2 ประเภทมาให้บริการ คือ 1. “น้องปกป้อง” เป็นหุ่นยนต์ตรวจการณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมงานด้านรักษาความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่สม่ำเสมอ โดยมีกล้องตรวจจับที่ถ่ายวิดีโอส่งไปยังเจ้าหน้าที่ และสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผ่านหุ่นยนต์เพื่อขอความช่วยเหลือ จึงทำให้หน่วยงาน หรืออาคารสำนักงาน ได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 2. “น้องจริงใจ” ขยันส่ง เป็นหุ่นยนต์ส่งเอกสารหรือสิ่งของภายในอาคารได้ตามที่กำหนด ออกแบบมาให้ใช้งานภายในอาคาร หรือสำนักงานที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ อาทิ โรงพยาบาล โรงงาน หรือสำนักงานออฟฟิศ โดยรุ่นที่ 2 สามารถขึ้นลิฟต์ที่มีระบบ Sensor ได้ สำหรับหุ่นยนต์ทั้งสองประเภท จะทำงานประสานกับระบบควบคุมกลางผ่านห้อง CCC จึงทำให้ผู้ควบคุมทราบสถานะและตำแหน่งของหุ่นยนต์ได้แบบเรียลไทม์
พงพันธ์ ด่านพิษณุพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน (CFO) บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่พัฒนาจะช่วยงานด้านบริการในร้านอาหาร เช่น เอ็มเค บาร์บีคิวพลาซ่า Sizzler และตี๋น้อย จากข้อมูลของเอ็มเคใช้หุ่นยนต์ 1 ตัว บริการแทนคน 2-3คน เนื่องจากหุ่นยนต์ทำงานได้ 2 กะ จึงตอบโจทย์การใช้งานมาก โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ยึดน็อต ซึ่งมีพื้นที่แคบ สามารถนำหุ่นยนต์ไป Modify ทั้งวันทั้งคืน ในช่วง3 ปี มียอดขายหุ่นยนต์บริการ 350 ตัว
เนื่องจากหุ่นยนต์บริการเป็นหุ่นยนต์นำเข้า ไม่สามารถหาวิธีพัฒนาให้ Advance ขึ้นได้ เนื่องจากเป็น Closed Platform มีอายุการใช้งาน 4 ปี เมื่อไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ต้องโละทิ้งไปไม่สามารถต่อยอดได้ ขณะที่บริษัทฯ ต้องการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์เป็น Open Platform จึงร่วมมือกับ LET ซึ่งมีประสบการณ์ด้าน Open Platform และ IoT ซึ่งจะช่วยให้ทำตลาดได้ดีขึ้น
“ในปี 2566 เราจะเริ่มทำตลาดด้วยการสร้างการรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย และร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยที่ LET ให้บริการ ขณะเดียวกันเรายังร่วมมือกับพันธมิตรออกบูธในงานจัดแสดงเทคโนโลยีด้านรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำสร้างความน่าเชื่อถือและแต้มต่อทางธุรกิจ พร้อมเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันในปีหน้า โดย LET ตั้งเป้าว่าจะมีลูกค้ากลุ่ม B2B และ B2C รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ราย ภายในสิ้นปีหน้า” ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย