สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab : FabLab) วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 50 วิทยาลัยเทคนิคจากทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยฝึกทักษะการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของ “หจก.โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่” จังหวัดนครราชสีมา ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP (Innovation and Technology Assistance Program) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเตรียมดิน การอบชิ้นงาน และการเผาชิ้นงาน ผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สวทช.จัดตั้ง FabLab ในปี’61พัฒนา ทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนา
กำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab : FabLab) ของ สวทช. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ซึ่ง FabLab แบบนี้กระจายอยู่ใน 68 จังหวัด 150 สถานศึกษา ทั้งโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา 100 แห่ง และวิทยาลัยเทคนิคอีก 50 แห่ง เพื่อพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานต่อยอดนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยฝึกทักษะการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร
สำหรับ FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จังหวัดลพบุรี สวทช.ได้สนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆสำหรับใช้เรียนรู้และสร้างสรรค์ชิ้นงานที่จะนำไปใช้งานได้จริงเพื่อใช้ในวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีช่วยเหลือชุมชนและประเทศชาติต่อไป เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อการเรียนรู้ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น
โครงการ FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ช่วยให้น.ศ.ได้เรียนรู้การออกแบบชิ้นงานก่อนทำงานจริง
จำเนียร บัวแดง อาจารย์ประจำโครงการ FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี กล่าวว่า FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดความรู้ มีการอบรมการออกแบบ สร้างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระบบ นวัตกรรมจากอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้รับจาก สวทช. แก่อาจารย์ผู้ดูแลห้อง FabLab นักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการมาใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ในห้อง FabLab เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เป็นประโยชน์ ใช้ฝึกทักษะในสาขาวิชาช่างเทคนิคจะมีการออกแบบระบบการทำงานในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้นักเรียนได้เห็นภาพของระบบโรงงานอุตสาหกรรมชัดเจนก่อนออกไปทำงานจริง
“นักเรียนสามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ FabLab เช่น สว่าน เลื่อย คีม เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่องตัดเลเซอร์ เพื่อการเรียนรู้ด้านการออกแบบชิ้นงานนำไปสู่การปฏิบัติงานจริง อาทิ การออกแบบชั้นใส่เอกสารในสำนักงาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทางวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีได้ใช้ห้อง FabLab จัดทำหน้ากาก Face Shield ประมาณ 2,000 ชิ้น ตู้และกล่องป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อ COVID-19 จำนวน 44 ชิ้น แก่โรงพยาบาลในเขตลพบุรี รวม 8 แห่ง” จำเนียร กล่าว
ใช้ห้อง FabLab สร้างตู้ดูแลบอนไซอัตโนมัติ-เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่
นอกจากนี้ยังได้ใช้ห้อง FabLab สร้างตู้ดูแลบอนไซอัตโนมัติทำหน้าที่รดน้ำและให้แสงแดด แทนผู้เลี้ยงบอนไซที่ไม่มีเวลาดูแล โดยตู้ดูแลบอนไซนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากเข้าร่วมการประกวดวันนักประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา และใช้ห้อง FabLab สร้างเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุลืมรับประทานยา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ของอาชีวศึกษาจังหวัดลพบุรี เป็นต้น
โครงการ ITAP จับมือเครือข่าย มทส. พัฒนาผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program : ITAP) มามากกว่า 20 ปีแล้ว เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างครบวงจรโดยสรรหาผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงในโรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีหน่วยงานวิจัยพัฒนาอยู่ในบริษัท สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้อย่างเหมาะสมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตได้
“ทุกโครงการที่ทำงานกับอุตสาหกรรมจะมีที่ปรึกษาเทคโนโลยี (Industrial Technology Advisor) หรือ ITA ช่วยดูแลบริหารจัดการโครงการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ SME แต่ละรายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งโปรแกรม ITAP ยังเปิดบริการให้แก่ผู้ประกอบการทุกวันทำการ โดยปัจจุบัน ITAP มีเครือข่ายอยู่ถึง 20 แห่งทั่วประเทศ ” ดร.นันทิยา กล่าว
สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานี้ ITAP ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และอื่น ๆโดยนำหลักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ SME ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญเป็นการสร้างตลาดสินค้าจากผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในระดับนานาชาติ
ITAP ผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีวิศวกรรมเซรามิกที่ทันสมัย ผ่าน 5 กระบวนการทำงาน
ผศ. ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า โปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. ได้ให้ความช่วยเหลือห้างหุ้นส่วนจำกัดโคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ในการเป็นตัวกลางสำคัญในการประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแก้ไขปัญหาระหว่างการดำเนินโครงการร่วมกัน ซึ่งการทำงานสามารถที่จะพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนแบบใหม่โดยเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเซรามิกที่ทันสมัย จนได้เทคโนโลยีที่เหมาะกับการผลิตของผู้ประกอบการส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสามารถแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด รวมถึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกระบวนการทำงาน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1. การปรับปรุงกระบวนการเตรียมดินเพื่อลดปริมาณผลิตภัณฑ์ดินเผาที่เสียหายจากปัญหามลทินในดิน 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการเปลี่ยนกระบวนการเผาจากเตาฟืนเป็นเตาแก๊ส 3. การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา 4. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ด่านเกวียนโดยการเปลี่ยนกระบวนการอบแห้งจากการผึ่งลมตามธรรมชาติเป็นเตาอบเชิงอุตสาหกรรม และ 5. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการปรับปรุงกระบวนการเผาผลิตภัณฑ์ด้วยเตาฟืน
และการดำเนินการต่อไปในอนาคตจะเร่งคิดค้นหาโครงการสอดรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นโดยยังคงเอกลักษณ์ของชุมชนดั้งเดิมเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นของที่มีขนาดใหญ่แต่มีราคาไม่สูงมาก ซึ่งผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็กลงแต่มีมูลค่าที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับดินด่านเกวียนซึ่งเป็นวัตถุดิบเฉพาะถิ่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและเพื่อยกระดับฝีมือให้กับช่างในชุมชนด่านเกวียน อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้วางแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนหนึ่งมาจากช่างในชุมชนด่านเกวียนการพัฒนาและการให้ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นอันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
เข้าร่วมโครงการ ITAP -เครือข่าย มทส ร่วมวิจัยและพัฒนาหลัก ๆ 3 ส่วน
ทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ กล่าวว่า “โคราช แสงสุวรรณ” เริ่มจากการทำเป็นอาชีพเสริม โดยจัดหาสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาให้ตัวแทนที่รับไปส่งออกอีกทอดหนึ่งเมื่อเห็นแนวโน้มธุรกิจไปได้ดี จึงได้สร้างโรงงานเพื่อทำการส่งออกเอง ในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ในช่วงแรกของการทำธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับด้านการตลาด คือการหาลูกค้า มีการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศทุกปีส่วนใหญ่จะเป็นในยุโรปและได้รับความคิดเห็นจากลูกค้ามาปรับปรุงสินค้าให้ดีมากยิ่งขึ้นจึงได้มองหาหน่วยงานภาครัฐที่จะมีแนวทางช่วยเหลือ โดยได้ติดต่อทางโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส และได้ดำเนินการร่วมทำงานวิจัยและพัฒนา หลัก ๆจะเน้นเรื่องกระบวนการผลิตด้วยเอกลักษณ์ของงานทำมือ ที่สามารถสร้างความแตกต่างในด้านการตลาด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. การเตรียมวัตถุดิบคือดิน 2. การอบชิ้นงาน และ 3. การเผาชิ้นงาน ผลที่ได้รับก็คือมีความรู้ในด้านการผลิตที่ถูกต้อง ช่วยให้ผลตอบรับจากลูกค้าต่างประเทศเข้ามาจำนวนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การเข้ามาของเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญจาก ITAP ช่วยบ่มเพาะให้พนักงานมีความรู้และความเข้าใจในการทำงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วยังส่งผลให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับองค์กรในอนาคต