สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมประจำปีสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา และนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ประจำปี 2564 เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นเวทีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา นักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา นักเรียนทุน พสวท. ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวง อว. รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของไทย สู่การริเริ่มโครงการที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมบรรยายผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ “BCG Economy กับการเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่”
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลยกขึ้นเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ รวมถึงในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีพ.ศ.2565 ซึ่งจะหยิบยกเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญในการประชุมด้วย โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบ่งออกเป็น เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy Economy) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการบนฐานทรัพยากรชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการทำให้สามารถที่จะหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้นานที่สุดและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ลง ส่วนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เศรษฐกิจ BCG จะเน้นการพัฒนาใน 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ, สุขภาพและการแพทย์, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมองภาพรวมเป็นพีระมิด ซึ่งด้านบนของพีระมิดเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วยการใช้วิทยาการขั้นสูงในการขับเคลื่อน แต่มีจำนวนผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือฐานล่างของพีระมิด ที่อาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะมีคนได้ประโยชน์เป็นกลุ่มใหญ่ เช่น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมถึง SME การทำงานเรื่อง BCG จึงต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองส่วนควบคู่กัน เนื่องจากในส่วนบนจะช่วยสร้างความสามารถของประเทศ ยกระดับประเทศให้ออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ส่วนล่างจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
“การจัดทำนโยบายทางยุทธศาสตร์ ประเทศไทยอาจต้องเลือกมุ่งเป้าหมายบางอย่างเพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด ซึ่ง สอวช. มีการตั้งเป้าหมายในการนำเอานวัตกรรมเข้าไปหนุนสาขาสำคัญใน BCG ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตวัคซีนในระดับอาเซียน, การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเศรษฐกิจจุลินทรีย์, การเป็นผู้ผลิตและส่งออก Functional Ingredients 1 ใน 10 ของโลก, การเป็นจุดหมายปลายของของ Sustainable Tourism ของโลก และการเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศที่สร้างมูลค่าจากฐานสังคมคาร์บอนต่ำและการผลิตที่สะอาด ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีการลงทุนทางด้าน BCG แล้วในหลายมิติ ทั้งในเรื่อง National Biobank การเก็บ รักษา และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ, โครงการ Genomics Thailand ศึกษาข้อมูลจีโนมของคนไทย เพื่อป้องกันการรักษาและการวางแผนระบบสาธารณสุข, Regional Science Park สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของภูมิภาค, การใช้ Big Data แก้ปัญหาความยากจนและยกระดับการผลิตการเกษตรมุ่งเป้า และ Biorefinery Pilot Plant ขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น” ดร. กิติพงค์ กล่าว
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) พบว่า การส่งเสริมการลงทุน ในไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2564 มีกิจการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จากบีโอไอ จำนวน 90 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 40,710 ล้านบาท หรือเป็น 58% ของมูลค่าที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในขณะเดียวกันบริษัทเอกชนก็เริ่มหันมาลงทุนในด้าน BCG เพิ่มมากขึ้น อาทิ บริษัทผลิตอาหาร หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรม
นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการอื่นๆ ในการขับเคลื่อน BCG เช่น โครงการ Bio-Circular-Green Complex แห่งแรกของเอเชีย ที่มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บีโอไอ รวมถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่นอย่างจังหวัดชลบุรี เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบนี้ขึ้น จะสามารถสร้างการจ้างงานและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานผ่านโครงการนี้กว่า 8,000 อัตรา ภายใน 3 ปี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ในส่วนการสนับสนุนในระดับที่เป็นฐานราก มีการนำเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกเข้าไปใช้ในชุมชน เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากของเสีย เป็นต้น
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ด้านการสนับสนุนของรัฐบาล มีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ในปีงบประมาณ 2564 (จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2564) มีการจัดสรรงบสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ไปแล้วกว่า 261 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 855 ล้านบาท สำหรับการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนากระจายไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการนำเอาวิทยาการขั้นสูงไปสู่ระดับพื้นที่ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมเป็นฐานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ อย่าง Future Food Lab ที่เปิดให้ SME สามารถเข้ามาทำวิจัยได้ มีห้องปฏิบัติการ มีพี่เลี้ยงให้ เมื่อผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษาก็จะสามารถกลับไปทำห้องปฏิบัติการหรือทำการวิจัยที่โรงงานของตัวเองได้
ในส่วนการส่งเสริมภาคเอกชน ปัจจุบันมีการสนับสนุน การสร้างแรงจูงใจหลายด้าน เช่น การยื่นขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมได้ อีกส่วนสำคัญคือการสนับสนุนการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัป มีการสร้างระบบนิเวศเพื่อจะทำให้เกิด Innovation-Driven Enterprise: IDE หรือผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม ผลักดันให้มีการเติบโตของยอดขายสูงขึ้นไปถึง 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่จะช่วยสนับสนุนทั้งในเชิงของการเงิน การลงทุน และการปลดล็อกต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อที่จะขยับสตาร์ทอัปของไทยให้ออกสู่ตลาดได้ด้วย เช่น การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย, การขับเคลื่อนการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อเข้าไปช่วยกลุ่ม SME เป็นต้น
สำหรับความต้องการกำลังคนรองรับยุทธศาสตร์ BCG จากการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ โดย สอวช. พบว่า มีความต้องการกำลังคนในแต่ละสาขารวมกว่า 101,107 คนในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (ปีพ.ศ.2563 – 2567) โดยสาขาที่ต้องการกำลังคนมากที่สุดคือสาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องการกำลังคน 46,174 คน เพื่อเข้าไปช่วยในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สร้างผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ และมีระบบบริหารการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT)