วว. ชูศูนย์ InnoAg – ศูนย์ ICPIM หนุนภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


วว.  ชูศูนย์ InnoAg  -  ศูนย์ ICPIM  หนุนภาคเกษตรและอุตสาหกรรม  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ก้าวสู่ปีที่ 59 ในปีพ.ศ.2564 นี้ มุ่งดำเนินงานในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ  ผ่านการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการเข้าไปตอบโจทย์ สนับสนุนสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศให้กับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบายภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า  วว. ได้สั่งสมองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่องตลอด 58 ปีที่ผ่านมา และในโอกาสที่ วว .ก้าวสู่ปีที่ 59 นี้ วว.ได้ปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดนโยบายรัฐและปัญหาของประชาชนเป็นหลัก ในภาพรวมการดำเนินงานตามภารกิจหลักและโครงการสำคัญต่างๆ ของ วว.  มีการพัฒนานวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่พร้อมใช้เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาและแนวทางในการสนับสนุนภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและอื่นๆในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศไทยครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานที่เรียกว่า 4 Guiding Principles ประกอบด้วย 1.นำหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วทน.) มาใช้ เพื่อเศรษฐกิจฐานชีวภาพ มีการวิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ มุ่งเน้นไปที่คลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เริ่มตั้งแต่คลัสเตอร์เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย ตามด้วยการแปรรูปอาหารเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร วิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ พัฒนาด้านการแพทย์ครบวงจร รวมไปถึงพื้นที่สงวนชีวมณฑล 2.เทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างลงตัว โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่เหมาะกับการใช้งานได้จริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในการเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการได้จริง 3.นำ หลักวทน. มาใช้แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร ในการให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ ทุกระดับตั้งแต่ ผู้ประกอบการรายย่อย OTOP วิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัปและเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาให้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว การดำเนินงานส่วนนี้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ ผ่านการรับฟังแนวคิด และปัญหาของผู้ประกอบการก่อน แล้วจึงนำมาวิจัยและพัฒนา สร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และแก้ไขปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ผ่านศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัย พัฒนาและบริการอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนและชุมชนอย่างเป็นระบบและ 4. ใช้วทน. เพื่อชุมชน ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้สามารถฝ่าฟันในทุกๆวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

สำหรับการนำงานวิจัยเข้ามาพัฒนาช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนั้น วว.ได้ดำเนินนโยบายมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับภาคการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมของไทย ด้วยการนำหลัก วทน. สร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ โดย ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยศักยภาพที่เป็นศูนย์ชั้นนำซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำหรับการวิจัยพัฒนา การผลิต และบริการ ในส่วนของอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้จากโพรไบโอติกและพรีไบโอติก รวมทั้งจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยความสำเร็จของศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) ในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ “โพรไบโอติก” ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นไปอีก นับเป็นจุลินทรีย์สัญชาติไทย โดยนักวิจัยไทย เพื่อเสริมแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ วว.ยังได้รับความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาในโครงการนำร่อง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตก ในโครงการ BCG Model ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐที่ให้ความสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและสารชีวภัณฑ์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  กล่าวถึงการดำเนินงานภายในศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (Expert Center of Innovative Agriculture: InnoAg) ภายใต้การกำกับดูแลของวว. ว่า  ศูนย์ InnoAg ได้ดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG Model” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยใช้สารชีวภัณฑ์เป็นตัวตั้งต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง BCG Model พัฒนาให้เกิดการทำเกษตรแบบปลอดภัยยั่งยืนช่วยให้การส่งออกค้าขายของเกษตรกร และผู้ประกอบการของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลมากขึ้น

สำหรับกรอบการทำงาน ภายใต้ BCG  Model ตามกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การนำสารชีวภัณฑ์สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีสารพิษตกค้าง สามารถนำมาใช้เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

 

ในการขับเคลื่อน BCG Model วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้เลือก 4 จังหวัดในเขตภาคกลางตะวันตกเป็นพื้นที่นำร่องซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ 10,650,074 ไร่ 3 กลุ่มสินค้าเกษตรได้แก่ พืชไร่ พืชสวน และพืชผัก รวม 7 ชนิด ประกอบด้วย  ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม และ มะนาว  ประกบอด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งเป้าเรื่องข้าว,  สุพรรณบุรี มุ่งเป้าเรื่องข้าว, นครปฐม มุ่งเป้าเรื่องส้มโอ  และกาญจนบุรี มุ่งเป้าเรื่อง อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย และหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งจากการสำรวจและวิจัยเบื้องต้น พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาคล้ายๆ กัน มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่  1.ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต – ที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพการผลิต 2.ปัญหาเรื่องสุขภาวะของผู้ผลิตและผู้บริโภค – เกิดการตกค้างในสภาพแวดล้อม ในดิน รวมถึงตกค้างในผลผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง และ3.ปัญหาด้านการตลาด การส่งออกพืชผลทางการเกษตร และราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา  ซึ่ง วว.ได้นำองค์ความรู้และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เข้าไปช่วยเหลือเกษตรให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่  1.ยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เช่น นำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก ชุดอุปกรณ์ล้างและตัดหน่อไม้ฝรั่ง ช่วยยืดอายุการเน่าเสียของหน่อไม้ฝรั่งได้นานขึ้น, นำเทคโนโลยีข้าวเสริมซีลีเนียม, เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ดก้อนเพาะเชื้อเห็ดจากฟางข้าวเสริมซีลีเนียมสำหรับเห็ดนางรม กากมันสำปะหลังสำหรับเห็ดฟาง, เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอ้อยเสริมด้วยจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตของอ้อย, การเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืชด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโตในมันสำปะหลังและกล้วย และนำเทคโนโลยีผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในแปลงสาธิต และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัด (หัวเชื้อบาซิลัส ซับทิลิส  บิววาเรีย ไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียมเชื้อสด จำนวนรวมประมาณ 270,950 ลิตร 2.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าว ได้แก่ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มผงชงดื่ม  ผลิตภัณฑ์ข้าวตัง และขนมขบเคี้ยวจากข้าว, จัดทำคู่มือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงวัตถุดิบและสิ่งของที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดส่งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำไปใช้ประการผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานตามที่ผู้บริโภคและตลาดต้องการ, การผลิตผลิตภัณฑ์จากอ้อย  ไซรัปจากอ้อย น้ำตาลอ้อยชนิดก้อนและน้ำตาลอ้อยชนิดผง,  เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากมะพร้าวน้ำหอม  ผลิตภัณฑ์ชงดื่มบำรุงกระดูก การทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และการเสริมสร้างกระดูกในเซลล์กระดูกอ่อน เพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์และเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากกล้วยไข่ กล้วยหอม ส้มโอ และข้าว – สารสกัดสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระและการสร้างเม็ดสีผิวช่วยเรื่องการแก้ปัญหาฝ้าและกระ เป็นต้น และ3.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานราก  เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์  ถาดเพาะกล้าอ้อยจากชานอ้อย ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากกาบกล้วย เป็นต้น

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   กล่าวว่า วว.ได้ร่วมกับนักวิจัยไทย รวมทั้งเกษตรกรและหน่วยงานสนับสนุนในท้องถิ่น มุ่งมั่นทุ่มเทในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการฯ นำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ มีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Functional Food และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ จำนวน 163 คน, ช่วยให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างปัจจัยการผลิตได้จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์  สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าใหม่ได้จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์, มีผู้ประกอบการสนใจร่วมลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาภายใต้ BCG  Model จำนวน 6 คน, สามารถสร้างต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผสานแนวคิดกรีนเทคโนโลยี และแนวคิดการออกแบบแบบองค์รวมได้ 2 ต้นแบบ คือ พัฒนาแบบร่างสำหรับบรรจุภัณฑ์เพาะกล้าอ้อย และพัฒนาแบบร่างสำหรับบรรจุภัณฑ์กันกระแทก  สามารถช่วยยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรไทยในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น ช่วยให้ผลผลิตในแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 494 คน จาก  4 จังหวัดนำร่องนี้ ได้รับผลผลิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ ความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น และเป็นที่น่าพอใจ  ในอนาคตจะคัดเลือกจังหวัดอื่นๆที่มีความเหมาะสมในการนำรูปแบบการพัฒนานี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศต่อไป

 

วว.เผยความสำเร็จของศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม ( ICPIM )

สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production Industry Microorganisms: ICPIM) ที่จัดตั้งโดย วว. เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการเทคโนโลยีจุลินทรีย์ครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 8 ห้องและหนึ่งหน่วยกระบวนการทางชีวภาพ (Bioprocess) ด้วยระบบ HVAC ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 ตามที่กำหนดไว้ในองค์การอนามัยโลก (WHO) ความปลอดภัยทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาและชีวเวชศาสตร์ (BMBL) แนวทางความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุกรรม (BIOTECH, 2011) ซึ่งห้องปฏิบัติการเหล่านี้สามารถใช้เพื่อดำเนินการทดลองและบริการที่เกี่ยวข้องกับสมัยใหม่เทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ Genetic Engineering, Metagenomics, Omics, Protein Expression และ Animal Cell Lines เป็นต้น

โดยทุกห้องปฏิบัติการมีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล และหน่วยกระบวนการผลิตที่รองรับมาตรฐาน GHP HACCP และยังเป็นที่ตั้งของธนาคารสายพันธุ์โพรไบโอติกที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นคุณสมบัติด้านโพรไบโอติกตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสายพันธุ์โพรไบโอติกที่อยู่ในธนาคารฯ แห่งนี้ ได้รับการเก็บรักษาภายใต้มาตรฐานสากลของ The World Federation for Culture Collections (WFCC) อย่างเข้มงวด ทำให้ ICPIM ได้รับการยอมรับในระดับสากลในด้านการวิจัยพัฒนาการผลิตและบริการว่า เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้จากจุลินทรีย์โพรไบโอติกและพรีไบโอติก รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลจุลินทรีย์ เพื่อนำไปวิจัยและต่อยอดให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ICPIM ได้รับงบประมาณจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จำนวน 154.13 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้มีปริมาณมากเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมชีวภาพ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ การได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นนี้ทำให้ ICPIM สามารถขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ถึง 25,000 ลิตรต่อปี จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 15,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และภายใต้การการวิจัยและพัฒนาของ ICPIM โดยนำความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังหัวเชื้อกว่า 10,000 ชนิด มาพัฒนาขยายผลในระดับห้องปฏิบัติการ ด้วยกระบวนการคัดสรรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร จึงสามารถพัฒนาให้เป็นโพรไบโอติกคุณภาพสูง และเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นได้ถึง 15 สายพันธุ์ จาก 24 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเสริมความงามทั่วโลก ประกอบด้วย Bacillus coagulans, Bifidobacterium animalis, Bifidobacterium bifidum, Bifidobacterium longum, Bifidobacterium pseudolongum, Enterococcus faecium, Lactobacillus faecium, Lactobacillus acidophilus, Lactobacillus crispatus, Lactobacillus salivarius, Lactobacillus johnsonii,  Lactobacillus paracasei, Lactobacillus rhamnosus, Lactobacillus zeae, Lactobacillus reuteri และStaphylococcus sciuri  โดย วว.ได้รับการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นสถานที่ผลิตประเภทวัตถุเจือปนอาหารเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอขยายขอบข่ายการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตประเภทเสริมอาหารเพิ่มเติม

โพรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็ก จัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ซุปมิโซะ เป็นต้น โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้และผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น จุลินทรีย์โพรไบโอติกเป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายคนมาตั้งแต่เกิด แต่จะลดจำนวนและปริมาณลงไปเรื่อย ๆ ตามวัยและการดำรงชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เราจึงควรที่จะเติมจุลินทรีย์ตัวนี้เข้าไปเพื่อเพิ่มความสมดุล เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย  ซึ่งจากผลงานวิจัยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ วว. ผลิตได้ พบว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของคนไทยมากกว่าจุลินทรีย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากได้รับการพัฒนามาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกายและอาหารการกินของคนไทยเป็นหลัก  นอกจากจุลินทรีย์โพรไบโอติกจะมีประโยชน์โดยตรงในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท เช่น น้ำผลไม้น้ำตาลต่ำที่ดีต่อสุขภาพโดยไม่สูญเสียคุณภาพด้านรสชาติ น้ำตาลสุขภาพ เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม เป็นต้น

“จุลินทรีย์ที่พัฒนาได้นี้ ทำให้เราสามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์พรีไบโอติกเพื่อบริโภคได้นานถึง 2 ปี หากเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องที่ 25 องศาเซลเซียส จากปัจจุบันที่ระยะเวลาในการจัดเก็บเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 เดือนถึง 1 ปี และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพนี้เอง ทำให้เราสามารถพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกให้มีคุณสมบัติเป็นทางเลือกใช้ป้องกันการเกิดโรค หรือใช้ควบคู่กับการรักษาได้อีกด้วย” สายันต์ กล่าว

โดย ICPIM ได้วิจัยคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์และสารชีวภาพเบื้องต้น พบว่ามีคุณสมบัติด้านการต้านอนุมูลอิสระ การยับยั้งเซลล์มะเร็ง การสร้างและปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน การยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรค รวมถึงมีการศึกษาการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอล ขณะนี้การพัฒนาดังกล่าวอยู่ระหว่างการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการทดลองผลในระดับสัตว์ทดลอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือในการใช้โพรไบโอติกเป็นทางเลือก (Option) ในการลดคอเลสเตอรอลทั้งในแง่ของการป้องกันการเกิดโรค และส่งเสริมให้มีการใช้โพรไบโอติกควบคู่กับการใช้ยา หรือลดการใช้ยา ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ ก็จะช่วยลดงบประมาณในการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุขได้

ที่สำคัญการพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศในเชิงพาณิชย์นี้จะสามารถชดเชยมูลค่าการนำเข้าได้ถึง 20-30%  ในช่วงแรกของการดำเนินงาน โดย วว. ตั้งเป้าว่าในระยะยาวจะสามารถชดเชยให้ได้ 100% ภายใน 5-7 ปี เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save