“ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” เพิ่มประสิทธิภาพการรักษามะเร็ง


การรักษามะเร็งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความพร้อมของ “สภาพจิตใจ” ของผู้ป่วยนำไปสู่ “ความร่วมมือ” ในการรักษาซึ่งเป็น “หัวใจ” สำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งในทุกระยะมักเกิดอาการทางด้านจิตใจ และอารมณ์ได้หลากหลายพร้อม ๆ กัน อาการที่พบบ่อยคือ กลัว ไม่เชื่อ ปฏิเสธ โกรธ สูญเสีย รู้สึกผิด วิตกกังวล เศร้าหมอง หรือซึมเศร้า โดยอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกราย ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติที่ญาติผู้ป่วย และผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจ และดูแลเอาใจใส่ เพื่อก้าวสู่ภาวะการณ์ปรับตัว แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัวได้ อาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ กลายเป็นอุปสรรคในการรักษาได้

การสร้างพื้นฐานการดูแลสุขภาพองค์รวม พร้อมกับกระบวนการรักษามะเร็ง  “การดูแลสุขภาพองค์รวม” ที่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไม่มีโรคหรือการไม่เจ็บป่วย แต่หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ซึ่งพวกเขาจะต้องสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

ในเรื่องนี้ นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โรงพยาบาลเน้นแนวทางการรักษาแบบ “ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” จากมิติภายในไปสู่มิติภาพนอก สู่ความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง เพื่อการมีสุขภาพจิตใจที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมเข้าสู่กระบวนการรักษา ภายใต้การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ใน 5 มิติ ซึ่งประกอบด้วย1.จิตวิญญาณ การมีความสุขที่เกิดจากความเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ความเชื่อต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจ  2.จิตปัญญา การเปิดกว้างด้านความคิด และประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และเสริมสร้างศักยภาพให้กับตัวเองในด้านต่าง ๆ 3. สังคม ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข ภายใต้เกณฑ์ของสังคม 4.สุขภาพจิต การสร้างสภาวะของจิตใจที่มีความสดชื่น แจ่มใส สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ  สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  ได้ดี  สามารถเผชิญกับปัญหา และพร้อมรับมือได้ โดยปราศจากความขัดแย้งหรือความสับสนภายในจิตใจ  และ 5. สุขภาพกาย การดูแลให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมภาวะของร่างกายที่ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานได้เป็นปกติ ความคู่กับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ อาทิ นอนหลับอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารมีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ทั้งนี้ “กายต้องตรงจุด ใจต้องดูแล” เป็นแนวคิดหลักของโรงพยาบาลชีวามิตรา ในการดูแลผู้ป่วย โดยคำนึงเสมอว่าการรักษาโรคมะเร็งควรให้ความสำคัญต่อ “สภาพจิตใจ” หนึ่งในสุขภาพองค์รวม ด้วยความพร้อมจากภายใน นำไปสู่การวางแผนแนวทางการรักษาร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย โดยพิจารณาบริบทแวดล้อมของผู้ป่วยแบบรอบด้าน ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม สภาพที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน สถานะด้านสังคม เพศ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ อาชีพ สถานภาพที่เกิดจากการเป็นสมาชิกในครอบครัว และสถานะทางเศรษฐกิจ  รวมไปถึงความคิดเห็นของคนในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด เพื่อหาความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยมาประกอบการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะบุคคล โดยมีการประชุมครอบครัว (Family Meeting) 30 นาที – 1 ชั่วโมงทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินการรักษาและปรับแนวทางการรักษาตามความเหมาะสม  การประชุมทีมแพทย์ (Tumor Conference) เพื่อประเมินการรักษาเชิงรุก

จากข้อดีของการรักษามะเร็งด้วยแนวคิด “ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” นำไปสู่ประสิทธิผลที่ผู้ป่วยจะได้รับอย่างสูงสุด โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยให้ทีมแพทย์เข้าใจสภาพจริงของผู้ป่วย ส่งผลให้การวินิจฉัยทั้งโรค (Disease) และความเจ็บป่วย (Illness) ไปได้ด้วยกัน (Explore both disease and illness) และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะราย พร้อมหาแนวทางร่วมกันในการตรวจ วินิจฉัย รักษา รวมถึงการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน เปิดโอกาสให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยมีบทบาทร่วมกันในการดูแลสุขภาพ โดยประยุกต์ทฤษฎีทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วย

พร้อมกันนี้ยังมีแนวทางป้องกันภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการรักษา เมื่อทีมแพทย์เกิดความเข้าใจในผู้ป่วยแล้วจะทำให้สามารถเยียวยา รักษา ฟื้นฟู รวมทั้งหาโอกาสสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อการวางแผนการดูแลรักษาสุขภาพในระยะยาวได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย หากสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวและแพทย์เป็นไปด้วยดี จะนำไปสู่ผลสำเร็จในการรักษาพยาบาล ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรักษา โดยตั้งอยู่พื้นฐานของความเป็นจริง ร่วมค้นหาหนทางการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยร่วมกันอย่างมีความสุขได้ แม้ต้องสู้กับโรคร้าย

แนวทางการรักษาโรคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการดูแล “คน” ไปพร้อมกับ“โรค” ด้วยการมองผู้ป่วยทุกมิติทุกด้านที่มีผลกระทบต่อการเจ็บป่วย ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี เศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม บุคคล ครอบครัวและชุมชน เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และประสิทธิผลของการรักษาโรค


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save