จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในอีก 3 ปีข้างหน้า ในปีพ.ศ.2565 ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศคาดว่าจะสูงถึง 178.4 ล้านคน ขณะที่ยอดใช้จ่ายต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท[1]
ประเทศไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของตลาดส่งออกนักท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอย่างจีนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมียอดนักท่องเที่ยวจีนที่ 1.03 ล้านคน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ยอดนักท่องเที่ยวจีนแตะระดับ 1 ล้านคน ภายหลังจากที่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงมานานถึง 6 เดือน ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ความบันเทิง ช้อปปิ้ง และการรับประทานอาหารในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 20% โดยยอดใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 54,887.89 ล้านบาท[2]
แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจีนจะยังคงมีอิทธิพลต่ออนาคตของธุรกิจท่องเที่ยว และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะที่หน่วยงานและกระทรวงการท่องเที่ยวพยายามค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ องค์กรธุรกิจก็มีบทบาทสำคัญในการขยายการให้บริการเพื่อรองรับความต้องการ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน
อาลีเพย์ ได้ระบุ 4 แนวทางสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถสร้างรายได้จากการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน
พลิกโฉมประสบการณ์ค้าปลีกรูปแบบเดิม
ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่รุนแรงมากขึ้น “ธุรกิจรูปแบบเดิม” ไม่ใช่แนวทางที่ใช้ได้ดีอีกต่อไปสำหรับผู้ค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ความท้าทายย่อมมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงจากจีน
ผู้ค้าปลีกจำนวนมากเริ่มสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของนักท่องเที่ยวจีนที่มีฐานะร่ำรวย นอกจากนั้น ผู้ค้าปลีกบางรายยังพยายามศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณี พฤติกรรม ความคุ้นชิน หรือสิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนอ่อนไหวเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจีนราว 35% ชอบซื้อสินค้าแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก ขณะที่ 62% ชอบซื้อสินค้าที่หาไม่ได้ในประเทศจีน ตามผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company[3]
การรับรู้ถึงแบบแผนการใช้จ่ายดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรธุรกิจและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถปรับแผนการตลาดและโปรโมชั่นได้อย่างเหมาะสม
ปรับใช้ระบบชำระเงินผ่านมือถือ
ชาวจีนจำนวนมากปรับเปลี่ยนสู่สมาร์ทไลฟ์สไตล์ โดยใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือเป็นช่องทางหลักในการชำระเงิน และนักท่องเที่ยวจีนก็เริ่มนำเอาพฤติกรรมดังกล่าวมาใช้ในการเดินทางผ่านอี-วอลเล็ท (e-wallet) ขณะที่เดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ในปีพ.ศ.2561 นักท่องเที่ยวจีน 32% ชำระเงินผ่านอุปกรณ์มือถือ เพิ่มจาก 28% ในปีก่อนหน้า และนับเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขดังกล่าวแซงหน้าการชำระด้วยเงินสด ซึ่งอยู่ที่ 30% ของการชำระเงินทั้งหมด[4]
ผู้ค้าปลีกที่เริ่มเปิดรับชำระเงินผ่านมือถือพบว่าลูกค้าชาวจีนสนใจที่จะซื้อสินค้า/บริการเพิ่มมากขึ้น หากมีบริการรับชำระเงินผ่านมือถือ ตัวอย่างเช่น นีลเส็น (Nielsen) พบว่านักท่องเที่ยวจีนกว่า 93% เต็มใจที่จะซื้อสินค้า/บริการโดยใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า และจะเพิ่มยอดใช้จ่ายหากมีบริการรับชำระเงินผ่านมือถือ[5] ผู้ค้าปลีกทั่วไปเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยมีการปรับใช้ธุรกรรมผ่านมือถือสำหรับการดำเนินงานและการตลาด เช่น ร้านค้าปลีกในตลาดไนท์มาร์เก็ต บริษัทรถเช่า ศูนย์อาหาร และอื่นๆ
นอกจากนั้น ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับยังครอบคลุมส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องของการชำระเงิน โดยปัจจุบัน ในประเทศไทย โรงแรม 17 แห่งในเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และโรงแรม 14 แห่งในเครือไมเนอร์กรุ๊ป ร่วมมือกับอาลีเพย์เพื่อนำเสนอบริการ ‘Hotel Pre-authorization’ สำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าพักในโรงแรม โดยมีการกันวงเงินสำหรับค่าโรงแรมระหว่างเข้าพักเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน[6]
แอพอาลีเพย์จะกันวงเงินในบัญชีของลูกค้าไว้ชั่วคราวเพื่อยืนยันการเข้าพัก และเมื่อถึงวันเช็คเอาท์ตามกำหนด ก็จะทำการคืนเงินให้กับลูกค้าโดยอัติโนมัติทันที นักท่องเที่ยวจีนใช้งานอี-วอลเล็ทอย่างแพร่หลายในประเทศจีน ดังนั้นการนำเสนอบริการที่ก้าวล้ำและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวเหล่านี้ และช่วยโรงแรมสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งภายในแอป
เนื่องจากแอพโมบายล์วอลเล็ทของจีนติดตามลูกค้าไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นผู้ค้าปลีกของไทยจึงควรให้ความสำคัญกับฟีเจอร์ด้านการตลาดที่อยู่ในแอพดังกล่าว ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าถึงและดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวจี ตัวอย่างเช่น สายการบินต่างๆ กำลังสร้างและใช้บัญชีที่เป็นทางการ (Official Account) บนอาลีเพย์และโมบายล์แอพอื่นๆ เพื่อเพิ่มจำนวนการจองตั๋วเครื่องบินโดยตรงบนเว็บไซต์ของสายการบิน ขณะที่แบรนด์สินค้าแฟชั่นและห้างสรรพสินค้าก็สร้างโปรไฟล์ที่น่าดึงดูดใจ พร้อมนำเสนอคอลเลคชั่นใหม่ๆ เทรนด์แฟชั่น และข้อเสนอสุดพิเศษ
ในทำนองเดียวกัน โรงแรม พิพิธภัณฑ์ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ก็อาจนำเสนอคู่มือท่องเที่ยว พร้อมทั้งแนะนำสถานที่ที่น่าสนใจภายแอพ ส่วนร้านกาแฟและร้านอาหารก็อาจใส่เมนูภาษาจีนไว้ในโปรไฟล์ของทางร้าน
ยิ่งไปกว่านั้น การโพสต์ข้อมูลผ่านช่องทางดังกล่าวยังสามารถเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างง่ายดาย และยังมีหลากหลายทางเลือกในการลงโฆษณาภายในแอพ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่กำหนด ที่จริงแล้ว StoreFront ของอาลีเพย์ช่วยให้ร้านค้าออฟไลน์สามารถโปรโมตสินค้าของตนเอง รวมถึงข้อเสนอสุดพิเศษ และแชร์คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง
เกาะกระแสนักท่องเที่ยวกลุ่ม “ผู้สูงวัย”
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ด้วยการตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มผู้สูงวัย (Silver Generation) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด ในงานสัมมนาหัวข้อ “China-Ready” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจาก Guilin Tourism University ประเมินว่าตลาดการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัยในไทยจะมีมูลค่า 146 ล้านล้านบาทในปีพ.ศ.2568 และเพิ่มขึ้น 7.3% ต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ราวหนึ่งในห้าของนักท่องเที่ยวจีนจัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งมักจะเดินทางอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ[7]
นักท่องเที่ยวที่เกษียณอายุแล้วมีสถานะทางการเงินที่ดีและมีเวลาว่างมากกว่า จึงสามารถวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ซึ่งราคาตั๋วเครื่องบินจะถูกกว่า และใช้เวลาไปกับทริปท่องเที่ยวได้ยาวนานกว่า ทั้งนี้ ไทย มาเลเซีย และญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้[8]
ดังนั้น ผู้ค้าปลีกในภูมิภาคนี้จึงมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่หันมาใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจของนีลเส็นย้ำว่า ในปีที่ผ่านมา 88% ของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มผู้สูงวัยต้องการให้ผู้ประกอบการรับชำระเงินผ่านมือถือในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อนหน้า[9]
เนื่องจากการเดินทางไปยังต่างประเทศของชาวจีนแผ่นดินใหญ่คาดว่าจะแตะถึง 260 ล้านครั้งภายในปีพ.ศ.2573[10] ดังนั้นนักท่องเที่ยวจีนจึงทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในศักยภาพที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับพฤติกรรมและรสนิยมของนักท่องเที่ยวจีน และลงทุนในเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่เหมาะสม เพื่อรองรับการทำธุรกรรมอย่างไร้รอยต่อเหมือนกับประสบการณ์ที่ชาวจีนได้รับในประเทศของตนเอง
แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีน และเริ่มพัฒนาไปสู่การให้บริการไลฟ์สไตล์ดิจิทัลสำหรับลูกค้าทุกราย ดังเช่นที่ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอเมร์ชั่นอยู่ในขณะนี้
และนี่คืออนาคตอันสดใสที่รอเราอยู่เบื้องหน้า
บทความโดย เชอร์รี่ หวง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอาลีเพย์
[1] ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของจีนประจำปี 2562, Travel China Guide, 2562
[2] จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดที่เดินทางไปต่างประเทศ พร้อมยอดใช้จ่ายในไทย, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สิงหาคม 2562 – ภาคผนวก I
[3] นักท่องเที่ยวจีน: ขจัดมายาคติ, McKinsey & Company, กันยายน 2561
[4] แนวโน้มการชำระเงินผ่านมือถือในธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนประจำปี 2561, นีลเส็นและอาลีเพย์, 2561
[5] แนวโน้มการชำระเงินผ่านมือถือในธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนประจำปี 2561, นีลเส็นและอาลีเพย์, 2561
[6] อาลีเพย์ จับมือผู้ประกอบการโรงแรม เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “Hotel Pre-Authorization” สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวจีน, กันยายน 2562
[7] ผู้ประกอบการมองหาหนทางในการพลิกฟื้นตลาดจีน, การสัมมนาในหัวข้อ “China-Ready” จัดโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, Asean China Centre, Guilin Tourism University และ Beijing Union University, กรุงเทพฯ, 7 กรกฎาคม 2562
[9] แนวโน้มการชำระเงินผ่านมือถือในธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนประจำปี 2561, นีลเส็นและอาลีเพย์, 2561
[10] จีนส่งผลต่ออนาคตการท่องเที่ยว