ทส.ร่วมกับ GIZ และ UNEP จัดเวทีร่วมทบทวนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการ 3R


ทส.ร่วมกับ GIZ และ UNEP จัดเวทีร่วมทบทวนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการ 3R

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดเวทีนานาชาติเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเกิด ผ่านกระบวนการ 3R: Reduce-ลดการใช้” เพื่อร่วมทบทวนและแลกเปลี่ยนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้

สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นในการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนำกระบวนการ 3R ได้แก่ Reduce คือ การลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และแร่ธาตุ ต่าง ๆ Reuse คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แทนที่จะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และ Recycle คือ การนำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การหลอมเหล็ก หลอมแก้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้วางกลยุทธ์ทั้งระยะกลางและระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ครอบคลุมภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การเกษตร การจัดซื้อจัดจ้าง แผนการพัฒนาฉลากเขียว และโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก เช่น ทส.ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าชั้นนำงดให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 หากทำได้จะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 780,000 ตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัด รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะนี้มีห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อหลาย ๆ แห่งได้เริ่มดำเนินการงดให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าบ้างในแต่ละเดือน อาจจะกำหนดเป็นทุก ๆ วันที่ 4 ของเดือน เพื่อสร้างการรับรู้ให้ลูกค้าได้คุ้นชินและอธิบายสร้างความเข้าใจแก่ลูกค้าเพื่อร่วมลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากก่อมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม ลุกลามเป็นวิกฤตที่แก้ยากส่งผลกระทบต่อทุก ๆ ชีวิตบนโลกใบนี้ และควรนำงานวิจัยหรือนำแนวคิดด้านการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิต กระบวนการคัดเลือกสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในชีวิตประจำวันมาติดเผยแพร่ให้เด่นชัด เพื่อเป็นช่องทางในการถ่ายทอดความรู้ เป็นต้น

“การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้จะเป็นการเวทีเปิดรับความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทำความเข้าใจทั้งเชิงนโยบาย เชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบ หากไม่มีการหามาตรการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการนำข้อคิด มุมมองที่ได้แลกเปลี่ยนไปดำเนินการในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีทรัพยากรในการผลิตและบริโภคที่ยืนยาวขึ้น ทั้งนี้แนวคิด 3R ถือเป็นแนวคิดที่จะต้องนำไปปฏิบัติตามกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง” สุพจน์ กล่าว

เกออร์ก ชมิดท์

การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน มีความสำคัญในการสร้างสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในการสร้างสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยการเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และใช้งานง่ายเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งในการพัฒนาไปสู่การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เราจึงได้สนับสนุนกรอบการทำงาน 10 ปี เรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในโปรแกรมข้อมูลสำหรับผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความตระหนัก สนับสนุนโครงสร้างเชิงสถาบันและความสามารถด้านเทคนิคในการพัฒนานโยบายและเครื่องมือเกี่ยวกับข้อมูลเพื่อนำไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและสร้างคาร์บอนต่ำ และช่วยสนับสนุนให้เกิดตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศที่จะนำไปสู่การปล่อยมลพิษที่น้อยลง การค้าและการลงทุนในภูมิภาค และระหว่างหน่วยงานในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นจากการรวมตัวกันของฉลากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ประเทศที่เกี่ยวข้องจะเกิดการสร้างงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกอบรมและการศึกษาต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว

“จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เราทุกคนจึงต้องหันมาเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวคิดเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากการเปลี่ยนการใช้ การผลิต และการทิ้งทรัพยากร มาเป็นการใช้ทรัพยากรที่จำกัดด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การใช้ซ้ำและการแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ นั่นคือแนวคิด 3R ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ทุก ๆ ประเทศจะต้องเผชิญ แต่หากมีแนวคิดและแผนการทำงานและทีมงานที่ร่วมกันทำงานทั้งภายในประเทศและสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศช่วยเหลือการทำงานซึ่งกันและกันจะช่วยให้ความท้าทาย ปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาสามารถหาทางแก้ไขได้” เกออร์ก ชมิดท์ กล่าว

สร้างความร่วมมือด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา

ทุกประเทศต้องสร้างความร่วมมือด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา

เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยพยายามเร่งแก้ปัญหาเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ เนื่องจากกระบวนการผลิตของหลายๆธุรกิจยังไม่มีการติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัย ที่ผลิตแล้วไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งในการผลิตนั้นย่อมมีของเสียเกิดขึ้นและกระบวนการนำของเสียกลับมาใช้นั้นมีการจัดการในธุรกิจที่ใหญ่ ๆ ที่มีศักยภาพ แต่ในธุรกิจที่ยังไม่มีศักยภาพขาดเครื่องมือเครื่องจักร ขาดเงินทุน และขาดคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษายังมีจำนวนที่มากทำให้เกิดของเสียในกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอันตรายต้องมีกระบวนการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

สำหรับประเทศไทยถือว่าโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเยอรมนีในการให้ความรู้แผนการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสีเขียว รณรงค์ให้ภาคธุรกิจและบริการของเอกชนได้เข้าร่วมโครงการ โดยเมื่อขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วจะได้รับ “ฉลากเขียว” ที่มีสัญลักษณ์รูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้ และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกสีเขียว สำหรับติดบนสินค้าเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่าสินค้านี้ได้รับการรับรองว่า มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าที่มีฉลากสีเขียวไปใช้ก็จะช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยได้ร่วมในหลายๆ เวทีระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยทำให้ได้รับความรู้ได้รับคำแนะนำกลับมาปรับใช้ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และประเทศไทยพร้อมที่จะถ่ายทอดแก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนนำไปปฏิบัติเพื่อดูแลกระบวนการผลิต กระบวนการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ความท้าทายในการนำแนวคิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยหลักการ 3R ไปใช้ในกัมพูชา

Taing Meng Eang, Director Department of Green Economy, Ministry of Environment, Cambodia กล่าวว่า การพัฒนาประเทศกัมพูชาเพื่อให้ก้าวทันประเทศอื่น ๆทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเรื่องความเป็นอยู่ การทำงาน และการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ ทำให้การตระหนักที่จะช่วยกันดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติที่จะนำมาผลิตและใช้บริโภคนั้นลดลง ส่งผลให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในหลายๆพื้นที่ในกัมพูชา อีกทั้งได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ภัยธรรมชาติต่างๆที่ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะสร้างการรับรู้ พยายามหามาตรการให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในตรวจสอบ เลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เห็นถึงโทษของการใช้สินค้าที่สร้างผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อยสลายหรือย่อยสลายยาก ซึ่งจะต้องหาที่ฝังกลบเท่านั้น เมื่อระยะเวลานานไปอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นดินในบริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียงหากเกิดฝนชะล้างก่อให้เกิดมลพิษกระทบไปทั่วได้

ในกัมพูชา การสร้างการตระหนักในการคัดแยกขยะตามหลัก 3R และการวางระบบของเสีย อันตราย การกำจัดขยะ และการใช้สินค้าที่มีฉลากเขียว เป็นสินค้ารักษ์โลก ให้เกิดประสิทธิภาพนั้นมีขั้นตอนและจะต้องทำอย่างไรยังไม่มีใครรู้ เพราะหลาย ๆ พื้นที่ในกัมพูชาแทบจะไม่มีการคัดแยกขยะหรือไม่รู้หลัก 3R แล้วนำมาใช้ เพื่อเดินสู่เป้าหมายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 10-20 ปี เพราะยังขาดการสร้างการรับรู้และประชาชนยังให้ความร่วมมือในเฉพาะกลุ่ม ต้องเริ่มจากการเข้าไปให้ความรู้ให้คำแนะนำในสถานศึกษา ในชุมชนต่าง ๆ สร้างจากระดับล่างสู่ระดับบนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ นำไปใช้จริงอบ่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องดังกล่าวจากประเทศที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศกัมพูชาจำนวนหนึ่งแล้ว จึงจำเป็นต้องอาศัยประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีหน่วยงานที่มีศักยภาพเข้ามาถ่ายทอดและให้ความรู้ด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save