ไบโอเทค เปิดตัว “SOP” คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร ช่วยเกษตรกรดูแลรักษาทุเรียนจากโรคและแมลง – ลดปัญหาสารเคมีตกค้าง


กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based): การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ ทุเรียน” ที่ได้รวบรวมองค์ความรู้เป็น SOP คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เกษตรกร ดูแลรักษาทุเรียน จากโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าที่เป็นปัญหาร้ายแรง รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ชีวภัณฑ์อย่างเหมาะสม ถูกวิธี และถูกเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามการระบาดของศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีและลดปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้าง ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับทุเรียนสู่ตามมาตรฐานส่งออก

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพสูงมาก ทั้งจุลินทรีย์ พืช และ สัตว์ ทางทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์จุลินทรีย์ มุ่งเน้นค้นหาและศึกษาความเป็นประโยชน์ของจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร มุ่งเน้นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ การย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นา และจุลินทรีย์การกระตุ้นการเจริญเติบโตและการดูดซับธาตุอาหารที่มีประสิทธิภาพ จากการวิจัยยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้สามารถคัดกรองและคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช โรคและแมลงสำคัญในพืชเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ทุเรียน และผลักดันการใช้ประโยชน์ ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไก่แจ้ แมลงหวี่ขาว เป็นต้น และราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดงชนิดต่างๆ ชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียและราเพื่อควบคุมโรคพืช ได้แก่ ราไดรโคเดอร์มา (Trichoderma) ควบคุมราก่อโรคพืชต่างๆ เช่น โรครากเน่าและโคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า เป็นต้น ซึ่งชีวภัณฑ์เหล่านี้หากได้รับการส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมไปสู่เกษตรกร จะช่วยลดการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมการเกษตร สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งไม่ถูกกีดกันทางการค้าในการส่งผลไม้ที่ใช้สารชีวภัณฑ์ในการทำการเกษตร และทำสวนแทนการใช้สารเคมีในอนาคต

สำหรับการทำสวนทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดระยองถือว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาศัตรูพืช โรคและแมลงทำลายผลผลิตจำนวนมากโดยเฉพาะทุเรียนซึ่งจะออกผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จำนวนมากเนื่องจากผลทุเรียนถูกแมลงเจาะทำลายก่อนที่จะเก็บเกี่ยวส่งขายในช่วงเวลาที่ราคาสูงประมาณ 200-250 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ดังนั้น ไบโอเทค สวทช.จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยองให้ความรู้การนำงานวิจัยโดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานกับการใช้สารเคมีในการผลิตทุเรียนขึ้น โดยเลือกแปลงสวนทุเรียนสวนสันติ จิรเสาวภาคย์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นแปลงสาธิตใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานกับการใช้สารเคมี เบื้องต้นในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาเกษตรกรหลายๆคนที่เข้าร่วมได้เข้ามาศึกษาดูงานและนำองค์ความรู้ที่ได้จากทางสวนสันติ และองค์ความรู้การจัดการอบรมจากทางนักวิจัยไบโอเทค สวทช.ไปใช้สามารถช่วยลดการทำลายผลผลิตทุเรียนขอแมลงที่เป็นศัตรูของทุเรียนได้ผลในระดับที่ดีขึ้น

เพื่อให้การเรียนรู้การใช้ชีวภัณฑ์จากงานวิจัยไบโอเทค สวชท.ขยายสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆที่ปลูกทุเรียนเช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่ระยอง จึงได้จัดการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์” ต่อเนื่องขึ้นตามลำดับ โดยการจัดอบรมฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based): การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ ทุเรียน” มีเกษตรกรทั้งจากในพื้นที่จังหวัดระยอง จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรีและอื่นๆเข้าร่วมกว่า 50 คน

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการอบรมจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการองค์องค์ความรู้ในการนำชีวภัณฑ์ไปใช้แบบผสมผสานในการทำสวนทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่ดีปราศจากศัตรูตัวร้ายอย่างแมลงในอนาคตต่อไปได้” ดร.วรรณพ กล่าว

อุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออก มีประมาณกว่า 20,000 คน มีพื้นที่ปลูกประมาณ 300,000 กว่าไร่ และเริ่มกลับมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเพราะราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนในพื้นที่จังหวัดระยองกว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่ทุเรียนภาคตะวันออกทั้งหมด ด้วยสภาพดินและสภาพแวดล้อมของจังหวัดระยอที่มีน้ำกร่อย มีพื้นที่ใกล้ภูเขาทำให้ทุเรียนจังหวัดระยองมีรสชาติที่พิเศษโดดเด่นกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเริ่มแรกเกษตรกรจะนิยมปลูกทุเรียนสายพันธ์ชะนี ก้านยาว พวงมณี หมอนทองและอื่นๆ แต่หลังจากนั้นเมื่อความนิยมของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคสายพันธุ์หมอนทองซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ยอดนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอจากทางเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆเริ่มเข้ามานำองค์ความรู้ร่วมสนับสนุนเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนในจังหวัดระยองเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้เกษตรกรเองและสร้างรายได้เข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปลูกและดูแลทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายเกษตรกรในพื้นที่ต้องเชิญกับปัญหาศัตรูทำลายผลผลิตทุเรียน เช่น แมลงต่างๆ ดินมีสารเคมีปนเปื้อน สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการออกดอกออกผล ราคาสารเคมีปุ๋ยสูงขึ้นรวมทั้งการจัดการเรื่องสารเคมีตกค้างในผลผลิตที่จะส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนที่ถือเป็นประเทศที่สั่งผลผลิตทุเรียนจากประเทศไทยในแต่ละปีสูงเป็นลำดับต้นๆ

สำหรับการนำองค์ความรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ที่ได้จาก ไบโอเทค สวทช. เป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่จะนำไปผสมผสานการแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อผลิตผลผลิตทุเรียนโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อผลิตทุเรียนส่งจำหน่ายยังต่างประเทศจะได้ไม่ถูกกีดกันทางการค้า หรือมีสารเคมีตกค้าง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำงานวิจัยที่ไม่ใช้สารเคมีมาใช้ในการทำสวนทุเรียนสำหรับเกษตรกรคนที่ไม่เคยทำสวนทุเรียนมาก่อนที่เริ่มต้นทำสวนทุเรียนจะได้งดใช้สารเคมีที่ทำลายดิน ทำลายสภาพแวดล้อม รวมทั้งใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะทางการเกษตรอื่นๆ ตอบโจทย์ฟาร์มอัจฉริยะในอนาคต

ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดระยอง และทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ในการจัดการสวนทุเรียน ทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคและแมลงสำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้และกระบวนการจัดการปัญหาโรคและแมลงในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีอันตราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอินทรีย์หรือทุเรียนปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร แรงงานไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้บริโภค และลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรสู่แหล่งน้ำหรือสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลเสียทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการท่องเที่ยวด้วย

สำหรับพื้นที่สวนสันติ จิรเสาวภาคย์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ชีวภัณฑ์ระดับแปลงและจัดทำเป็นแปลงสาธิตแสดงประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์แก่ผู้ปลูกทุเรียน เพื่อแก้ปัญหา ยุติความสูญเสียจากการยืนต้นตายของต้นทุเรียน โดยทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในแปลง พูดคุยสร้างความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้เรื่องชีวภัณฑ์กับสันติและคุณพ่อ รวมไปถึงคนงานที่อยู่ในสวนอย่างใกล้ชิด การทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ชีวภัณฑ์แบ่งเป็นสามกรรมวิธี กรรมวิธีละ 1 ไร่ ประกอบด้วย กรรมวิธีใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเดียวตามการระบาด กรรมวิธีผสมผสานชีวภัณฑ์และสารเคมี และกรรมวิธีดั้งเดิมตามแนวทางของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มการทดสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ปัจจุบัน พบว่า ชีวภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูได้ดีหรือเทียบเท่าสารเคมี และยังพบการเพิ่มขึ้นของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ (แมลงดี) ในแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์และผสมผสานมากกว่าแปลงสารเคมี แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวภัณฑ์สามารถฟื้นคืนสมดุลธรรมชาติระบบนิเวศในสวนทุเรียนได้ดี ในด้านของโรคทุเรียน พบว่า ชีวภัณฑ์สามารถหยุดการตายของต้นทุเรียนได้ ต้นทุเรียนค่อย ๆ ฟื้นตัว

ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้สนับสนุนให้สันติฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาแบบปูพรมทั้งสวน เพื่อลดความรุนแรงของเชื้อราไฟทอปธอร่า และไตรโคเดอร์มา ทั้งยังสามารถส่งเสริมความแข็งแรงของพืชได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต โดยพบว่า การใช้ชีวภัณฑ์หรือการใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ไม่ส่งผลเสียต่อรสชาติและคุณลักษณะภายนอกของผลทุเรียน และทุเรียนยังให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีคือ เฉลี่ย 43-57 ผล/ต้น

สันติ จิรเสาวภาคย์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน กล่าวว่า สวนทุเรียนมีที่ทำการปลูกมีประมาณ 24 ไร่ ประมาณ 500 กว่าต้น โดยใช้สารเคมีในการทำสวนมาตลอด ตั้งแต่ต้นทุเรียนอายุ 1-6 ปี จนกระทั่งทุเรียนอายุ 7 ปีเกิดประสบปัญหาต้นทุเรียนติดเชื้อรากเน่าโคนเน่าจากราไฟทอปธอร่าและพิเทียมที่รุนแรง ทำให้มีการยืนต้นตายของทุเรียนจาก 7 ต้นเป็นกว่า 100 ต้น เกิดความเสียหายอย่างมากมายจนเกือบตัดสินใจขายสวนทุเรียนทิ้ง แต่หลังจากเมื่อช่วงปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาได้ปรึกษากับเกษตรจังหวัดหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งได้องค์ความรู้จากทางทีมวิจัยของไบโอเทค ซึ่งมีความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ ได้นำองค์ความรู้เข้ามาทำการทดสอบในสวนทุเรียนแปลงสาธิต เอาน้ำไปตรวจ เอาดินไปตรวจสอบปรับสภาพใช้ปูนขาว อินทรีย์และอินทรีย์แก้มีในการควบคุมพื้นที่ให้การแพร่เชื้อโรคในพื้นที่จำกัดให้ได้ เปรียบเทียบกับแปลงที่ใช้สารเคมี พบว่า แปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์นั้นการติดเชื้อรากเน่าโคนเน่าจากราไฟทอปธอร่าและพิเทียมที่รุนแรงลดลง และแมลงเริ่มลดลงด้วย จนถึงปัจจุบันผลลัพธ์ที่ได้ทำให้มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงในสวนทุเรียนมากขึ้น การยืนต้นตายของต้นทุเรียนลดลง

ปัจจุบันทางทีมวิจัยยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สวนที่เป็นแปลงสาธิต มีการรักษาแบบผสมผสานในสวนทุเรียนเชิงพาณิชย์ เพื่อเก็บข้อมูลผลผลิตในอีกหนึ่งรอบการผลิตรองรับตลาดที่มีความต้องการทุเรียนมากขึ้นด้วยในแต่ละช่วงฤดูการผลิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในสวน ลดการตายของต้นทุเรียนจากรากเน่าโคนเน่า และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของทุเรียนไทยในตลาดส่งออกด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save