ไบโอเทค นำเสนอผลการศึกษา “การขับเคลื่อนระบบอาหารท้องถิ่นและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศบนฐานความยั่งยืน


                ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast ได้รับทุนวิจัยจาก Foreign Commonwealth & Development Office รัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมเผยแพร่การศึกษาในโครงการ “การสร้างความสามารถของระบบอาหารชุมชนในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยเสริมสร้างระบบอาหารท้องถิ่นของไทยให้สามารถรับมือและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตต่างๆ สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศบนฐานความยั่งยืน โดยทำการศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก คือ 1.พื้นที่เมืองและชานเมือง ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครปฐม และ2.พื้นที่ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศไทยซึ่งที่ผ่านมาเจอปัญหาน้ำท่วม วาตภัยและภัยพิบัติต่างๆจากธรรมชาติและผลจากการทำลายของมนุษย์ทำให้แหล่งผลิตอาหารถูกทำลายเพื่อที่จะได้รับทราบปัญหา การปรับตัวและหาทางแก้ไขปัญหาสู่องค์รวมขยายสู่พื้นที่อื่นๆในประเทศไทยต่อไป

                ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ระบบอาหารของไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง และเจอสถานการณ์วิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น วิกฤตทางเศรษฐกิจ COVID-19 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบทำให้ระบบอาหารของไทยมีความเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบอาหารท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่อยู่ในระบบนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ยังมีปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุน องค์ความรู้ ที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ดังนั้น Foreign, Commonwealth and Development Office (FCDO), South Asia Research Hub โดยความร่วมมือกับ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย จึงให้ทุนไบโอเทค สวทช. โดยฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ “Climate resilience of local or community food systems in Thailand” เพื่อเสริมสร้างความสามารถของระบบอาหารของท้องถิ่น ให้มีความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยกลไกทางนโยบาย และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารบนฐานของความยั่งยืน

โครงการฯดังกล่าวได้ทำการทำการศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก คือ 1.พื้นที่เมืองและชานเมือง ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครปฐม และ2.พื้นที่ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศไทยซึ่งที่ผ่านมาเจอปัญหาน้ำท่วม วาตภัย ภัยพิบัติและผลจากการทำลายของมนุษย์ในการสร้างมลพิษทางอากาศ ทางน้ำและทางบก ทำให้แหล่งผลิตอาหารถูกทำลายเพื่อที่จะได้รับทราบปัญหา การปรับตัวและหาทางแก้ไขปัญหาสู่องค์รวมขยายสู่พื้นที่อื่นๆในประเทศไทยต่อไป

สำหรับผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ในการร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัย บุคลากรช่วยกันยกระดับระบบอาหารของไทยสู่ระบบอาหารที่มีความยั่งยืนเพราะอาหารเปรียบเหมือนสมบัติส่วนร่วม ที่ทุกคนในประเทศต้องดูแลและปกป้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงในอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในทุกๆพื้นที่ รวมทั้งขยายองค์ความรู้สู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนสร้างเครือข่ายระบบอาหารมั่นคงในภูมิภาคร่วมกันในอนาคตด้วย นอกจากนี้การนำเสนอโครงการฯในวันนี้แก่ผู้ร่วมสัมมนาจะได้นำเสนอข้อสรุปต่างๆที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เพื่อนำไปจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยต่อไป

กุลวรางค์ สุวรรณศรี นักวิจัยนโยบาย งานวิจัยนโยบาย ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือการเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยี นวัตกรรม นโยบายและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารท้องถิ่นที่ยั่งยืนสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระบบอาหารในท้องถิ่น สร้างกระบวนการเรียนรู้ การสื่อสารที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนในระดับพื้นที่เพื่อขยายสู่ระดับประเทศในพื้นที่อื่นๆ นอกจากพื้นที่นำร่องของโครงการฯ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการศึกษาช่องว่างด้านนโยบาย โดยทีมมุ่งพัฒนากรอบนโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาความสามารถของระบบอาหารท้องถิ่น ในการรับมือและปรับตัวเป็นระบบอาหารที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและโภชนาการได้อย่างเท่าเทียมและได้รับความปลอดภัยทางด้านอาหาร ลดการสูญเสียของอาหารโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและที่สำคัญต้องผลิตอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศก่อนที่จะส่งออกเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์นำรายได้เข้าสู่ประเทศ

จากข้อมูลดัชนีความมั่นคงอาหารโลก (Global Food Security Index: GFSI) ชี้ว่าโดยรวมประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับดี ในปี พ.ศ. 2564 มีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 64.5 จาก 100 ซึ่งครัวเรือนไทยบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยังมีปัญหาด้านโภชนาการ ได้รับสารอาหารที่ให้พลังงาน ธาตุอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมและภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้น ได้สร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงต่อระบบอาหารระดับท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร และคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ความยากจน ขาดแคลนที่ทำกินเป็นของตนเอง ถือเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นช่องว่างด้านนโยบายที่สำคัญในหัวข้อต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ประกอบด้วยในหลายด้าน เช่น ด้านความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (Resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของระบบอาหารประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเพื่อดำเนินการจัดการด้านอาหารในทุกมิติ แต่ยังขาดโครงสร้างและหน่วยงานในการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในระดับท้องถิ่น ประเด็นเรื่องการสร้างความสามารถของระบบอาหารในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่ได้ถูกบรรจุในแผนอาหารระดับจังหวัด อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีแผนระดับชาติและระดับท้องถิ่นในการจัดการความมั่นคงด้านอาหาร หรือเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลการศึกษาพบว่า งานวิจัยระดับพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย ยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ในการจัดสรรทุนวิจัยด้านเกษตรและอาหาร นอกจากนี้งานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชอาหารที่ไม่ใช่ข้าวให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคาดการณ์และเตือนภัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเหล่านี้ต้องการการวิจัยพัฒนาที่เข้มข้นมากขึ้น

กุลวรางค์ กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร พบว่า ความรู้และความสามารถของเกษตรกรไทยยังเป็นปัญหาหลักของการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงคุ้นเคยกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มีเพียง 10% ของเกษตรกรไทยที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สู่เกษตรแม่นยำด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารและเชื่อมโยงตลาดกับการผลิตและการวิจัยพัฒนา และจากปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้โอกาสของการเกิดความเสียหายและการเกิดเชื้อก่อโรคจากการจัดเก็บและขนส่งอาหารที่ไม่ดีพอเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นระบบตรวจสอบย้อนกลับจึงเป็นประเด็นที่ผู้ค้าและตลาดต้องการยกระดับให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ด้านการสนับสนุนทางการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.)  เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร อีกทั้งยังมีการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) รูปแบบต่าง ๆ โดยมีการสนับสนุนวงเงินนับจากปี พ.ศ. 2563 ประมาณ 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินอื่นๆ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร และระบบคุ้มครองทางสังคม ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความสามารถของระบบอาหารท้องถิ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาคเอกชนและ NGOs แต่ทั้งนี้ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มพืชที่ปลูกเพื่อการค้าเท่านั้น

จากผลการศึกษาข้างต้น ทีมวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของระบบอาหารท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีนโยบายเพื่อการรับมือและปรับตัวของระบบอาหารของประเทศไทยต่อวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในระบบอาหาร ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ในการร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการในพื้นที่นำร่องของโครงการประสบความสำเร็จเพื่อขยายต่อสู่พื้นที่ต่างๆในประเทศต่อไป

นอกจากนี้จะได้พลิกฟื้นการเป็นผู้นำทางด้านอาหารที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนกลับมาอีกครั้ง ทั้งในด้านการผลิตอาหารที่เป็นครัวของโลก ผลิตอาหารตอบโจทย์อาหารสำหรับทางเลือกสำหรับทุกเพศทุกวัย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save