ไบโอเทค ต่อยอดความสำเร็จจากสารตั้งต้นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เตรียมคิดค้นยาใหม่ ใช้รักษา COVID -19 ที่ดื้อยาได้


นักวิจัยไบโอเทค สวทช.เผยความสำเร็จการสังเคราะห์สารตั้งต้นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในระดับห้องปฏิบัติการ เริ่มต้นจากทำงานเพียง 2 คนตั้งแต่เชื้อ COVID-19 ยังไม่ระบาดหนักในไทย ยานำเข้ายากเป็นแรงผลักดันงานวิจัยภายใต้แนวคิดไทยต้องผลิตเองได้ ล่าสุดได้จดสิทธิบัตรและถ่ายทอดวิธีให้องค์การเภสัชกรรมนำไปผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อไปแล้ว พร้อมเดินหน้าวิจัยยาตัวใหม่เพื่อจัดการปัญหาเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อาจจะดื้อยาได้

ดร.เภสัชกร นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดเสวนาพิเศษโควิดไลฟ์ทอล์คในหัวข้อ “ยาต้านไวรัสโคโรนา ภารกิจพิชิตโรคร้าย” ถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ของ สวทช. โดย ดร.เภสัชกร นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวถึงความสำเร็จของการ สังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient – API) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่จะใช้ในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ว่า ในการผลิตยาตัวหนึ่งนั้นมีหลายขั้นตอน เริ่มจากกระบวนการต้นน้ำคือตั้งแต่การผลิตโมเลกุลยาใหม่ขึ้นมา ส่วนกลางน้ำเป็นการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API และปลายน้ำคือการปรุงเป็นยาให้เป็นยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาฉีด

ทีมวิจัยได้พัฒนาในส่วนที่เป็นกลางน้ำ คือ การสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญของการผลิตยา  โดยเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2563 ในช่วงที่ไวรัสโคโรนากำลังระบาดหนักในจีน และต่างประเทศ ในช่วงนั้นหลังมีการศึกษาพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่เคยใช้รักษาไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม มีฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาได้ จึงเริ่มนำมาใช้รักษาอย่างกว้างขวาง จนเมื่อไวรัสโคโรนาเริ่มเข้ามาระบาดในไทย การนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากในต่างประเทศที่มีการระบาดก็ต้องการเก็บยาไว้ใช้ในประเทศของตัวเอง ทำให้ไทยขาดแคลนตัวยา แม้ว่าเราจะสามารถปรุงหรือผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองได้ แต่เมื่อไม่มีสารตั้งต้นหรือ API ก็ไม่สามารถผลิตได้ โดยในขณะนั้นมีเพียง 2 ประเทศที่ผลิตสาร API คือ จีน และญี่ปุ่น โดยประเทศนั้นๆ จำกัดส่งออก จึงเป็นจุดเริ่มในการทำวิจัย

“งานวิจัยเราเริ่มทำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในการเริ่มต้นนั้นมีแค่ผมกับนักเคมีอีก 1 คน เริ่มต้นมีกัน เพียงสองคน พยายามศึกษาทดลองกัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตโรคจะมาระบาดในไทยมากน้อยแค่ไหน” ดร.นิติพล กล่าว

การสังเคราะห์สาร API นั้นมีหลายขั้นตอนและหลายวิธี ซึ่งทีมวิจัยเลือกวิธีที่คำนึงถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ ประกอบกับเรื่องต้นทุน เมื่อทดลองวิจัยไปได้ระยะหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากองค์การเภสัชกรรม เพราะในขณะนั้นยาและสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมไม่สามารถนำเข้าได้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ทีมวิจัยเชี่ยวชาญในการสังเคราะห์ยา

ดร.นิติพล กล่าวว่า หลังจากได้ทุน ก็เริ่มรับบุคลากรเข้ามาช่วยทำงานเป็นทีมมากขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ พันธมิตรต่างประเทศ มีบริษัทเอกชนรวมถึงหลาย ๆ หน่วยงานเข้ามาเป็นพันธมิตรคอยช่วยเหลือสนับสนุนในด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ทั้งองค์เภสัชกรรมเอง และ สถาบันนวัตกรรม ปตท.”

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดวิธีสังเคราะห์ให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำไปผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว โดยทีมวิจัยได้เข้าไปปรับกระบวนการวิธีสังเคราะห์ เนื่องจากเป็นการยกระดับจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ (Lab Scale) ไปสู่การผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Scale) คือจากที่เคยทำในให้ปฏิบัติการ ปริมาตรน้อยกว่า 10 ลิตร แต่การทำในระดับกึ่งอุตสาหกรรมต้องทำมากกว่า 10 ลิตร ไปจนถึง 200 ลิตร ซี่งต้องมีการปรับปรุงกระบวนการสังเคราะห์ให้เข้ากับขนาดการสังเคราะห์ เช่น การคลายความร้อน เป็นต้น

“เราต่อยอดและพัฒนาวิธีสังเคราะห์ เพราะเราคิดเสมอว่าถ้าเราเลียนแบบวิธีการมาหมด เราจะอยู่ได้ไม่นาน เราอาจสู้ราคาไม่ได้ เราศึกษาถึงขนาดที่ว่าจะสังเคราะห์จากสารตัวไหนที่ต้นทุนถูก”ล่าสุดเราได้จดสิทธิบัตรวิธีการสังเคราะห์ API เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในการวิจัยเราปรับปรุงกระบวนการและเทคนิคการสังเคราะห์” ดร.นิติพล กล่าว

นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ทีมวิจัยยังเดินหน้าศึกษาวิจัยยาอื่นๆ รวมถึงเพื่อทำยาตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อไวรัส COVID-19 ดื้อยาในอนาคตด้วย

“เนื่องจากยาที่ใช้สำหรับโรคติดเชื้อเมื่อใช้ไปสักพักอาจทำให้เชื้อเกิดการกลายพันธุ์ หรือเป็นเชื้อที่ดื้อยาขึ้นมาได้ ดังนั้นเราต้องคิดถึงเรื่องการดื้อยาเผื่อไว้ด้วย ซึ่งเรากำลังเร่งศึกษาวิจัยทำยาตัวใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ และต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” ดร.นิติพล กล่าว

การพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และ API ของยาต้านไวรัส อื่นๆ เป็นงานที่สนับสนุนจากองค์การเภสัชกรรม และเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy Model) พ.ศ. 2564-2569  ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ.


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save