สภาวิศวกร รวมพลังนักวิชาการ-มหาวิทยาลัย จี้รัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แนะทางออก “เก็บภาษีควันดำ – ลงทุนวิจัย – เผยข้อมูลฝุ่นเรียลไทม์” พร้อมนำเสนอนายกฯ สัปดาห์นี้


สภาวิศวกร รวมพลังนักวิชาการ-มหาวิทยาลัย จี้รัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แนะทางออก “เก็บภาษีควันดำ - ลงทุนวิจัย - เผยข้อมูลฝุ่นเรียลไทม์” พร้อมนำเสนอนายกฯ สัปดาห์นี้

กรุงเทพฯ – 17 กุมภาพันธ์ 2563 – สภาวิศวกร ระดมสมองนักวิชาการ ภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภายในงานเสวนา “รวมพลังปัญญา แก้ปัญหา ฝุ่นพิษ” แนะรัฐตระหนักฝุ่น PM 2.5 ภัยพิบัติระดับชาติ พร้อมชี้ทางออก 3 ด้านหลัก คือ 1.ด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง เพื่อดูดซับสารพิษ 2.ด้านเทคโนโลยี โดยรัฐควรลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีที่มีราคาสูง และและ 3.ด้านกฎหมาย โดยเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ พร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รุ่นเก่า เป็น EURO 5-6 และจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ แนะเอกชนร่วมแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่น ผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นับเป็นภัยพิบัติระดับชาติ ที่ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยที่ ภาครัฐ จะต้องยกระดับปัญหาฝุ่น เป็นภัยพิบัติของประเทศ ต้องเอาจริงในการสร้างมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้ง ด้านกฎหมาย โดยการเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ พร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ รุ่นเก่าจาก EURO 4 เป็น EURO 5-6 รวมถึงจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านงานวิจัย ที่รัฐควรลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เช่น ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจาก สจล. เครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก จาก สวทช. ฯลฯ เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีที่มีราคาสูง และด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ ที่เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากปัจจุบัน 2-3 ตร.ม.ต่อคน เพิ่มเป็น 9-10 ตร.ม.ต่อคน เหมือนต่างประเทศ

ขณะที่ ภาคเอกชน ควรให้ความร่วมมือในการแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่น ผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ และ ภาคประชาชน ควรตระหนักถึงผลกระทบถึงฝุ่น PM 2.5 ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงถึงชีวิตของทั้งตนเอง รวมถึงบุคคลในครอบครัว ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนอยู่เสมอ พร้อมทั้งเลือกสรรนวัตกรรมป้องกันฝุ่น หรือติดตามการรายงานผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้งภาครัฐและเอกชน

ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร

ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร และอดีตกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเมือง และเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งพบว่า 91% มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง-น้อย ขณะที่ปีพ.ศ. 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาดังกล่าว ถึง 4.2 ล้านคน ดังนั้น ประเทศไทย จึงควรยกระดับมาตรฐานฝุ่นที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (วัดเฉลี่ย 24 ชม.) แต่ในปัจจุบันประเทศไทย พบมีค่าฝุ่นสูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเสนอแนวทางการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 โดยให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดถึงต้นตอ ด้วยการยกระดับมาตรฐานรถ EURO 4 สู่มาตรฐาน EURO 5-6 ควบคู่กับการปรับค่ามาตรฐานน้ำมันเพื่อสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ EURO 5-6 โดยขั้นแรกควรส่งเสริมการใช้รถยนต์ EURO 5 นำร่องก่อน ซึ่งพบว่าภายในปีพ.ศ. 2564 มีรถยนต์ขนาดเล็กเป็นเครื่องยนต์ EURO 5 มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณรถยนต์รุ่นเก่า ทั้งจากรถขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ รถบรรทุก และรถยนต์ส่วนบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา

ด้าน ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เสนอ 2 แนวทางสำคัญเพื่อลดมลภาวะฝุ่น คือ 1. รถยนต์ปลอดควันดำ โดยปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานไฟฟ้า และ 2. เกษตรปลอดการเผา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ ประสานงานร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร เพื่อลดการเผาที่ก่อให้เกิดฝุ่น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นนั้น ยังคงเกิดจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลกว่า 70-80% โดยเฉพาะรถบรรทุกกว่า 140,000 คัน รถโดยสารสาธารณะของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ขสมก.) กว่า 10,000 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทางอีก 30,000 คัน รวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง จากแหล่งกำเนิดในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ และกลาง

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดของไทยด้านการผลิตหน้ากากอนามัยที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สวทช. จึงได้พัฒนา “เครื่องกรองฝุ่น ด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตย์” เพื่อลดปริมาณการเกิดฝุ่นพิษ โดยที่ทุกชิ้นส่วนสามารถผลิตได้ภายในไทย และสามารถนำไปติดตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่ และตึกแมกโนเลีย ขณะเดียวนี้ ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างเช่น “ประเทศจีน” ที่ได้สร้างหอฟอกอากาศสูง 80 เมตร โดยใช้แผ่นกรองและใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด ผ่านการทำงานพัดลมร้อนเป่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อเกิดหอฟอกช่วยทำให้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดขึ้น โดยที่ดินในบริเวณนั้นจะมีราคาสูงขึ้น ทัง้นี้ประเทศไทยควรนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อพัฒนาทั้งอสังหาริมทรัพย์ และส่งเสริมการท่องเที่ยว

“ที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมกับ บริษัท ยูนิ-ชาร์ม (ประเทศไทย) พัฒนาหน้ากากอนามัย เป็นหน้ากากอนามัยกรองฝุ่น PM2.5 และ เครื่องวัดฝุ่นแบบกระเจิงแสงขนาดจิ๋ว (My Air) ที่พกพาสะดวก มีความแม่นยำสูง และประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ยังเตรียมดำเนินการวิจัยและพัฒนา “ลูกบอลดับเพลิง” ขนาด 5-10 กิโลกรัม ที่ใช้ติดตั้งกับโดรนเพื่อทำหน้าที่ดับเพลิงไฟป่า” ดร.ศิวรักษ์ กล่าว

“นอกเหนือจาก PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบด้านสุขภาพปอดคนไทยแล้ว ยังมีภัยเงียบอย่าง “ก๊าซโอโซน” (O3) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานกำหนดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกระทบหนักกับเนื้อเยี่ออ่อน เมื่อสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก เช่น เนื้อเยื่อในตาและหลอดลม ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มาจากแหล่งอากาศจากกรุงเทพฯ อย่างเดียว” ดร.สุพัฒน์ กล่าว

รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผู้เชี่ยวชาญควบคุมฝุ่นจากแหล่งกำเนิดไอเสีย รถยนต์ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขฝุ่น PM2.5 ยังเป็นการควบคุมที่ปลายทาง แต่การแก้ไขที่ถูกต้องนั้น จะต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดฝุ่น รถยนต์ดีเซลเป็น 1 ใน 3 ของการก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในปีพ.ศ. 2547 ควบคุมปริมาณกัมมะถันกระทั่งลดลง 20% จาก 2537-2547 มาตรฐานรถยนต์ที่เทียบกับ EURO 1 เทียบเท่ากับมาตรฐานต่างประเทศ แต่หลังจากนั้น EURO 4 เหลือ 1ใน 5 เท่า แต่ถ้าปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้ EURO 1 จำนวนมากอยู่ ถ้าปรับปรุงมาตรฐานและรถยนต์ต้องใช้งบประมาณสูงเกือบหมื่นล้านบาท และทุกคนพร้อมจ่ายราคาน้ำมันที่สูงขึ้น พร้อมสรุปแนวทางการปรับปรุงรถยนต์ให้เป็น EURO 5 และ 6 ในปีพ.ศ. 2566-2567 ลดลง10 เท่า หรือลดฝุ่น PM 1ใน 3 และปรับปรุงรถยนต์ให้เป็น EURO 4 และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดฝุ่น

ดร. เจน ชาญณรงค์

ดร. เจน ชาญณรงค์ หนึ่งในผู้ที่พยายามช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ในนามของชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ที่รวบรวมผู้มีความรู้สาขาต่างๆ มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นผ่านเพจ ฝ่าฝุ่น (www.facebook.com/farfoon.th) กล่าวถึงปัญหาหลักของการเผาไฟในภาคการเกษตรว่า เกิดจาก “ปัญหาปากท้อง” ของประชาชน โดยพื้นที่ที่มีการเผาป่ามากที่สุดพบในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดตาก ลำพูน ลำปาง โดยที่ผ่านมา ตนและทีมได้จัดทำโครงการบ้านก้อแซนด์บอกซ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการน้อมนำศาสตร์พระราชาอย่าง “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ เช่น การปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้สำหรับการเกษตร อุปโภค-บริโภค ส่งเสริมการปลูกพืชแทน เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าพร้อมสร้างความยั่งยืน ถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนในโรงเรียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเผาป่า ฯลฯ

รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา

ด้าน รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้พัฒนา “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” นวัตกรรมตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์ ณ ป้ายรถเมล์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่มาพร้อมความสามารถในการตรวจจับปริมาณฝุ่น สั่งการให้พัดลมโคจรติดเพดานช่วยระบายฝุ่น พร้อมแสดงผลปริมาณฝุ่นและเฉดสีผ่านจอมอนิเตอร์ โดยล่าสุด สจล. ได้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ดำเนินติดตั้งนวัตกรรมดังกล่าว ในพื้นที่ 9 จุดเสี่ยงที่พบปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่น ได้แก่ บางซื่อ บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ดินแดง พระโขนง ภาษีเจริญ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางคอแหลม เพื่อเป็นการบรรเทาฝุ่นและสร้างการเข้าถึงข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์ในภาคประชาชน

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จากการเก็บข้อมูลมา 2 เดือน(ธันวาคม 2562 – มกราคม 2563) มีค่าฝุ่นสูงสุดในเขตลาดกระบัง บางซื่อ บางกอกน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น ปัญหาของประเทศไทย ต้องมีมาตรฐานการวางผังเมืองและต้องลงลึกที่ระดับเขต และต้องทำให้คนรู้สึกว่าเป็นปัญหา เพื่อนำมาสู่ระดับนโยบายของการอยู่ร่วมกับชุมชน ข้อเสนอภาคประชาสังคมต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร ทำงานเชิงสร้างสรรค์ และมหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมสังคม

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบทางเดินหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า กรณีที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM 2.5 สามารถเล็ดรอดเข้าไปสู่ในกระแสเลือดนั้น จะมีพิษร้ายเท่ากับสูบควันบุหรี่ ซึ่งฝุ่น PM2.5 สามารถทำปฏิกิริยากับร่ายกายได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องก๊าซโอโซนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสามารถกัดเนื้อเยื้ออ่อนอย่างหลอดลม เมื่อปีที่ผ่านมา ประชาชนเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับการเผา การจุดประทัด ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมหรือรณรงค์ในภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง การกำหนดคุณภาพมาตรฐานของประเทศไทย ใน 500 เมืองใหญ่ทั่วโลก ประเทศไทย เพิ่งเริ่มติดมาที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากส์เมตร มีผลต่อกลุ่มเสี่ยงต่อเด็กเล็ก คนชรา เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานฝุ่นของสหรัฐอเมริกา

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า สภาวิศวกรจะนำข้อสรุปและข้อเสนอแนะจากเวทีเสวนา” รวมพลังปัญญา แก้ปัญหาฝุ่นพิษ” ในครั้งนี้ จะนำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเร่งด่วน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save