ม.นเรศวร ส่งทีมช่วยล้างพิษตะกั่ว พร้อมเปิดรับบริจาคทุนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้


ม.นเรศวร ส่งทีมช่วยล้างพิษตะกั่ว พร้อมเปิดรับบริจาคทุนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงานวิจัย “การใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน” ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ว่าจากการรั่วไหลของหางแร่ปนเปื้อนตะกั่วความเข้มข้นสูงถึง 200,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ค่าการปนเปื้อนตะกั่วตามธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้ชุมชนได้สัมผัสสารตะกั่วจากการใช้น้ำอุปโภค บริโภค และการบริโภคสัตว์น้ำ เกินค่าที่ร่างกายรับได้จนเป็นเหตุให้เจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตจากพิษตะกั่วไปแล้วหลายราย ถือเป็นหนึ่งในกรณีปัญหาด้านมลพิษที่ร้ายแรงเป็นอันดับต้นของประเทศ

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

ที่ผ่านมาชุมชนได้ต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2 ทศวรรษ จนนำมาสู่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในปีพ.ศ. 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าค่าสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามค่ามาตรฐาน และชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์จากสายน้ำได้อย่างปลอดภัยดังเดิม

หลังจากใช้เวลาในการศึกษาวิธีการฟื้นฟูและจัดหาบริษัทผู้รับเหมาร่วม 6 ปีนับจากมีคำพิพากษา ปัจจุบันการฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษดำเนินมาถึงขั้นตอนปฏิบัติจริง นั่นคือการเริ่มดูดตะกอนท้องน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วออกจากลำห้วยมาบรรจุกระสอบ และขนย้ายไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบบนภูเขา

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของกระบวนการฟื้นฟูด้วยวิธีการดูดตะกอนนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเม็ดตะกอนตะกั่ว จนอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้น้ำจากลำห้วยเพื่ออุปโภคและการทำไร่นา อีกทั้งในกระบวนการขนส่งตะกอนดังกล่าวไปฝังกลบเกิดปัญหาฝุ่นหนาแน่นจากรถบรรทุกจนเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรในหมู่บ้านหลายครั้ง และฝุ่นดังกล่าวคือเม็ดดินขนาดเล็กที่ปนเปื้อนตะกั่วในพื้นที่ อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนได้มากกว่าฝุ่นจากเศษดินธรรมดาทั่วไป

การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

ดังนั้นกลุ่มเยาวชนจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ภาคประชาชน จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการการเฝ้าระวังผลกระทบจากการดำเนินการฟื้นฟู โดยติดตั้งเครื่องตรวจเซนเซอร์ตรวจวัดการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วในระหว่างดูดตะกอนท้องน้ำและเครื่องตรวจวัดฝุ่นจากการขนส่ง เพื่อให้ชุมชนสามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงในพื้นที่ด้วยตนเอง คู่ขนานไปกับการทำงานของกรมควบคุมมลพิษและบริษัทรับเหมาได้ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขมาตรการการดูดตะกอนและการขนย้ายตะกอนให้มีผลกระทบน้อยลง ซึ่งสามารถทำได้ตามหลักทางวิชาการ รวมถึงการประเมินความจำเป็นของมาตรการจ่ายน้ำทดแทนการใช้น้ำในลำห้วยได้อย่างทั่วถึงในระหว่างการฟื้นฟูต่อไป

ผศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะส่งทีมติดตั้งและสนับสนุนบุคคลากรและค่าใช้จ่าย ตลอดจนอบรมการใช้งานให้กับชุมชนโดยสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ โดยทีมงานจะติดตั้งเซ็นเซอร์วัดความขุ่นในลำห้วยคลิตี้ 4 จุดเพื่อติดตามผลกระทบจากการดูดตะกอนในการฟื้นฟู ซึ่งสามารถแปลงผลความขุ่นเป็นค่าตะกั่วในน้ำโดยประมาณได้เพื่อช่วยกรมควบคุมมลพิษ และ ผู้รับเหมาดูดตะกอนควบคุมการดำเนินการลดผลกระทบให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 และ PM10 อีก 3 จุด โดยได้รับการสนับสนุนจาก Climate Change Data Center (CCDC) ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครื่อง DustBoy จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้รถขนตะกอนวิ่งจนทำให้ฝุ่นคลุ้งจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนในส่วนนี้

ชุมชน กลุ่มเยาวชนและคณะทำงานจึงขอเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนมั่นใจว่าระหว่างการฟื้นฟูชาวบ้านจะมีเครื่องมือวัดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต และให้การฟื้นฟูลำห้วยในครั้งนี้สำเร็จตามค่าเป้าหมายที่ชาวบ้านต้องการ คือ ไม่มีสารตะกั่วเหลืออยู่ในลำห้วย สัตว์น้ำ พืช และในร่างกายของชาวบ้าน โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้ดำเนินการประกอบด้วย 1. เครื่องตรวจวัดการฟุ้งของตะกอนท้องน้ำด้วยระบบเซ็นเซอร์ จำนวน 8 เครื่อง เป็นเงิน 80,826 บาท 2. แผงโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กเพื่อจ่ายไฟให้กับเครื่องเซ็นเซอร์ จำนวน 3 แผง เป็นเงิน 20,000 บาท และ 3. ค่า Lab วิเคราะห์ผลการวัดคุณภาพน้ำและฝุ่น เป็นเงิน 80,000 บาท

ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนติดตั้งอุปกรณ์ติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้ในชื่อบัญชีร่วม : น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือนายธนกฤต โต้งฟ้า เลขที่บัญชี: 960-0-46991-1 ธนาคารกรุงไทย (ออมทรัพย์)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save