ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมขับเคลื่อนการเติบโต 4 กลุ่มธุรกิจในปี’ 63 ตั้งเป้าโต 15% เดินหน้า Transform สู่องค์กรดิจิทัล


ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมขับเคลื่อนการเติบโต 4 กลุ่มธุรกิจในปี’ 63 ตั้งเป้าโต 15% เดินหน้า Transform สู่องค์กรดิจิทัล

กรุงเทพฯ – 29 มกราคม 2563 : ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป แย้มความสำเร็จธุรกิจในปี พ.ศ.2562 เติบโต 22% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เดินหน้าประกาศแผนธุรกิจประจำปีพ.ศ. 2563 พร้อมพัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่ม ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และคาดว่าอัตราผลกำไร EBITDA จะอยู่ที่ร้อยละ 40 แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว พร้อมตั้งเป้าขายที่ดิน 1,400 ไร่ และสร้างโครงการใหม่/ยอดเช่าพื้นที่โลจิสติกส์รวม 250,000 ตร.ม. รวมทั้งขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 150,000 ตร.ม.

ปีพ.ศ 2562 เป็นอีกหนึ่งปีที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของประเทศไทยในฐานะผู้พัฒนาด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยผลประกอบการและส่วนแบ่งกำไรรวมมูลค่าราว 1.35 หมื่นล้านบาท และมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม 8.2 หมื่นล้านบาท

จรีพร จารุกรสกุล

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า WHA Group มีธุรกิจกิจทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยธุรกิจโลจิสติกส์ มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 40 ตามด้วยนิคมอุตสาหกรรม ร้อยละ 35 ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ร้อยละ 23 และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ร้อยละ 2

WHA Group มีธุรกิจกิจทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัลแพลตฟอร์ม

สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ในปีที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรรายใหญ่ ๆ ด้านโลจิสติกส์ บริหารจัดการพื้นที่คลังสินค้ารวม 2,350,000 ตารางเมตร ซึ่งรวมถึงพื้นที่ให้เช่าและพื้นที่ที่ตกลงกับผู้เช่าล่วงหน้า (Pre-leased) 200,000 ตารางเมตร

ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในปีพ.ศ.2562 มีการเปิดนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) ขนาด 2,620 ไร่ ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ล่าสุดของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 11 แห่ง (10 แห่งในไทยและ 1 แห่งในเวียดนาม) มีพื้นที่รวม 68,900 ไร่ โดยเป็นพื้นที่มีลูกค้าดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและกำลังพัฒนา 44,400 ไร่ยอดขายที่ดิน 1,010 ไร่ และที่ดินสำหรับอาคารให้เช่าอีก 140 ไร่

“ในปีพ.ศ. 2562 ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ต้อนรับลูกค้าใหม่ทั้งหมด 80 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวจีนและไต้หวัน และมีสัญญาซื้อที่ดินและเช่าโรงงานจำนวน 130 ฉบับ ปัจจุบันบริษัทฯ มีลูกค้ารวม 900 ราย จากสัญญารวมทั้งสิ้น 1,450 ฉบับ” จรีพร กล่าว

ด้านระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ในส่วนของธุรกิจน้ำ ในปีพ.ศ.2562 มียอดจำหน่ายและบำบัดน้ำ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจน้ำปราศจากแร่ธาตุ และการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้านพลังงานไฟฟ้า ในปีพ.ศ.2562 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 560 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ มีการเปิดโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ได้ร่วมทุนกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และสุเอซ กรุ๊ป และการลงนามในสัญญาระหว่าง WHAUP ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคาลานจอดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมพื้นที่ 31,000 ตารางเมตร

ด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ 4 แห่ง ได้แก่ ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับเทียร์ 4 Gold Certified แห่งเดียวในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมออสเตรเลีย) และดาต้าเซ็นเตอร์ระดับเทียร์ 3 จำนวน 3 แห่ง และให้บริการไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 7 แห่ง

นอกจากนี้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังได้ขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ได้พัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน เฟสหนึ่ง อีกทั้งบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท อควาวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Aquaone Corporation) และเข้าถือหุ้นร้อยละ 34 ในบริษัท ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการน้ำประปาชั้นนำของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม

“แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ผลการดำเนินงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอัตราร้อยละ 22 ในขณะเดียวกันเรายังคงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องพร้อมรุกตลาดในไทยและเวียดนาม” จรีพร กล่าว

เฝ้าระวังสถานการณ์ต่าง ๆ รอบโลกพร้อมก้าวทัน Mega Trend

จรีพร กล่าวว่า ในปีพ.ศ. 2563 บริษัทฯ ยังเฝ้าระวังดูสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลก อาทิ ความตึงเครียดด้านการค้าโลก การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทแข็ง ไม่กระทบต่อการขายที่ดิน โลจิสติดส์และพลังงาน ผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ (Mega Trend) และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์เหล่านั้นอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเรา

Mega Trend เกิดขึ้นมาช่วงหนึ่งแล้ว เราได้พัฒนา Digital Transformation องค์กร พัฒนาโมเดลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ เพื่อขับเคลื่อน ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และเตรียมพัฒนาคน 1 คน ให้สามารถทำงานได้ 10 คน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในเดือนมีนาคมของปีนี้ คาดว่าบริษัทฯ จะได้ License ลงทุน 5G Sandbox จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยบริษัทฯ จะทำการทดสอบระบบในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ เหมือนไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) จัดตั้ง Tower 5 G เพื่อจัดการบริการต่างๆ ทั้ง Robotics ให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยคิดค่าบริการตามจริง (Pay per Use) ” จรีพร กล่าว

ทิศทางกลยุทธ์แผนธุรกิจ 4 กลุ่มธุรกิจในปีพ.ศ.2563

สำหรับทิศทางกลยุทธ์แผนธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในปีพ.ศ.2563 บริษัทฯ จะขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรม ขับเคลื่อนเทคโนโลยี ช่วยลูกค้า Strategic Partner ให้ได้รับประโยชน์มากขึ้น และเดินหน้า Transform สู่องค์กรดิจิทัล

จรีพร กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์ มีการเติบโตอย่างมาก เกิดจากการขับเคลื่อนของ ธุรกิจ E-Commerce ในปีพ.ศ.2562 โตร้อยละ 20 สร้างรายได้ 3.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP ทั้งประเทศ

เนื่องจากโลจิสติกส์สำคัญต่อ E-Commerce มากกว่าร้อยละ 90 ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ พร้อมแสวงหาโอกาสผนึกกำลังกับพันธมิตรในระยะยาว โดยเฉพาะในด้าน E-Commerce โดยจะเน้นไปที่สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การแปรรูปอาหาร การบิน โลจิสติกส์ พร้อมกันนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Robotics มาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณลักษณะใหม่ ๆ ให้กับคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) โครงการใหม่ ๆ ที่เตรียมเปิดตัว รวมถึงโครงการ E-Commerce และการเช่าใหม่ในปีพ.ศ.2563 ตั้งเป้ายอดเช่าอาคารไว้ที่ 250,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,560,000 ตารางเมตร

นอกเหนือจากพื้นที่คลังสินค้าที่มีอยู่ในประเทศไทยและในอินโดนีเซียแล้ว ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ยังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในเวียดนามด้วย โดยในปีพ.ศ.2563 บริษัทฯ ยังมีแผนขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 150,000 ตร.ม.

เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการลงทุน ต่างประเทศ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAID กล่าวว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนของจีนมายังประเทศไทย ซึ่งตอนนี้คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าจีนเป็นประเทศที่มาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ส่งผลให้สามารถขายที่ดินให้กับกลุ่มลูกค้าจีนและไต้หวันได้ถึง 45 ราย คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของยอดขายที่ดินของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา

“ประเทศไทยแตกต่างจากเวียดนาม ตรงที่ไทยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มี โครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า มีประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยาวนาน เช่น โรงงานรถยนต์ ตั้งฐานการผลิตในไทยมานานมาก” เดวิด นาร์โดน กล่าว

ในปีพ.ศ.2563 บริษัทฯ ตอกย้ำตำแหน่งผู้นำในประเทศไทย ด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 12 ของกลุ่ม (นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36) ในช่วงปลายปี พ.ศ.2563 หลังจากในปีที่ผ่านมา มีธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ใน EEC ทั้งสิ้น 9 แห่ง และอีก 1 แห่งในเวียดนาม และขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 4 แห่งภายในปีพ.ศ.2566 นอกจากนี้จะขายที่ดิน 1,400 ไร่ แบ่งเป็นในไทย 1,200 ไร่ และในเวียดนาม 200ไร่

WHAID จะพัฒนาแนวคิด “Smart Eco Industrial Estates” ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เร่งนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับทุกบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ตั้งแต่ระบบการติดตามออนไลน์ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนา “ระบบขนส่งอัจฉริยะ” (Smart Mobility) ไปจนถึงการควบคุมจราจรและการใช้โดรนเพื่อสร้าง “ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ” (Smart Security) หรือระบบไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) และคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อน “การสื่อสารอัจฉริยะ” (Smart Communication) พร้อมนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้วย อาทิ การวัดมิเตอร์น้ำ สมาร์ทกริดและการวัดการใช้ไฟฟ้า

นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP กล่าวว่า WHAUP จะขยายธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำรูปแบบใหม่ และเสริมพอร์ทด้านพลังงานด้วยนวัตกรรมโซลูชันพลังงาน ด้านสาธารณูปโภค WHAUP จะขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม และจะให้บริการโซลูชั่นทรัพยากรน้ำหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Wastewater Reclamation) การผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด (Desalination)

ทั้งนี้ได้วางแผนรองรับภัยแล้ง ด้วยการเก็บกักน้ำเต็มกำลังการผลิต รวมกันมากกว่า 1 ล้านลบม. รวมทั้งมีแผนสำรอง บ่อดินเอกชน ทำน้ำรีไซเคิล น้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด เนื่องจากลูกค้าต้องการความมั่นคงทางด้านน้ำ

ส่วนในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทน้ำ 2 แห่งไปแล้วในปีพ.ศ. 2562 ทั้งนี้ WHAUP จะยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค เนื่องจากจำนวนประชากรเข้าถึงน้ำสะอาดเพียงร้อยละ 30 และมีระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมเพียงร้อยละ 13

ด้านพลังงาน ในปีพ.ศ.2563 WHAUP จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาโซลูชั่นพลังงานหมุนเวียน หลังจากที่ได้เปิดบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาด 8.63 เมกกะวัตต์ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 WHAUP จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ จะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรระยะยาวในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก อาทิ กัลฟ์ และด้านการส่งก๊าซธรรมชาติร่วมกับมิตซุย และโตเกียว แก๊ส อีกทั้งยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (MEA) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมถึงดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ สมาร์ทไมโครกริด และระบบ Energy Storage โดยคาดว่าปีพ.ศ.2563 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 591 เมกะวัตต์ รวมถึงระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่เริ่ม COD ในปีพ.ศ. 2563 นี้ด้วย

นอกจากนี้บริษัทฯ เตรียมยื่นเสนอเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) หรือ ERC Sandbox อีกด้วย

ไกรทส องค์ชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของเทคโนโลยีมี Key Element 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1 Speed ความเร็ว วันนี้มีเทคโนโลยี 4 G ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ 5G ที่มีความเร็วมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า 5 G จะต้องเกิดขึ้นในไทย ด้วยการผลักดันของภาคอุตสาหกรรมหรือผู้บริโภค 2. ผลกระทบจาก 5G จำนวนข้อมูลจะมากขึ้น จะต้องมีการบริหารจัดการข้อมูล 3. Centralization ทั้งระบบ Cloud ทำให้ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ

บริษัทฯ ตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินงานดิจิทัล แพลตฟอร์ม ทุกรูปแบบในทุกฮับของกลุ่ม ช่วงปลายปีพ.ศ. 2563 จะมีการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งในประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อด้านดิจิทัลภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยิ่งไปกว่านั้น อาศัยจากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม จะส่งผลดีกับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ด้วย

ชี้โครงการ EEC ทำให้ไทยอยู่ในแผนที่ของนักลงทุน

สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐานของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยังส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เนื่องจากมีที่ดินขนาดใหญ่ที่พร้อมให้บริการ และที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ประสบความสำเร็จในการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ทั้ง 5 โครงการ ใช้เงินลงทุนจากภาครัฐเพียงร้อยละ 20-30 หากมีการลงทุนแล้วเสร็จ โครงสร้างพื้นฐานของไทยจะเปลี่ยนโฉม

“บอกตลอดว่าถ้าอุตสาหกรรมไม่มี EEC จะเหนื่อย การมี EEC ทำให้ไทยอยู่ในแผนที่ของนักลงทุน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เจอประธานของ AIRBUS มีการพูดถึง Aerospace ในไทย และเมื่อวานพบ TRIUMP ซึ่งผลิต Aerospace รายใหญ่ บอกเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น มียอดสั่งซื้อจำนวนมากจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ เงินลงทุน 750,000 ล้านบาท ลงทุนใน EEC ร้อยละ 60 และ อีกร้อยละ 40 ลงทุนใน 12 อุตสาหกรรม ทั้ง S-Curve และ New S-Curve ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลเดิน EEC มาถูกทางหรือไม่ ยิ่งปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขี้น ” จรีพร กล่าว

ปรับลดเป้าเติบโตตามสถานการณ์

จรีพร กล่าวถึง สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาว่า น่าจะส่งผลกระทบบ้างในเรื่องการเดินทางล่าช้าของนักลงทุนชาวจีนและความล่าช้าในการนำเงินออกนอกประเทศของจีน โดยปรับเป้ายอดขายในปีนี้โตขึ้นร้อยละ 15 จากรายได้ 1.35 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งปรับเป้า CAPEX รายจ่ายเพื่อการได้มาของสินทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการเพื่อหารายได้ เหลือ 5.2 หมื่นล้านบาท

“ด้วยแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่เรากำลังดำเนินการ รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ที่กำลังจะแล้วเสร็จ เรามั่นใจว่าผลประกอบการปีนี้จะยังเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง โดยจะรักษายอดขายและรายได้ประจำให้มีความสมดุลกัน คาดว่ารายได้และส่วนแบ่งกำไรในปีพ.ศ. 2563 จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15 จากปีก่อน ซึ่งได้มีการปรับลดตัวเลขเนื่องจากการระบาดไวรัสโคโรนา พร้อมตั้งเป้าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่แข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 40 และคาดการณ์ว่าจะมีการใช้งบประมาณในการลงทุนช่วงปีพ.ศ. 2563 – 2567 ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยตั้งเป้าอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 1 เท่า” จรีพร กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save