ชิต เหล่าวัฒนา Founder และที่ปรึกษา FIBO มจธ. “กับนิยามการเป็น Facilitator ด้านหุ่นยนต์”


ปัจจุบันหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติ  มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างเร็ว  กอปรกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  ส่งผลให้การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจการค้ารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19  ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาร่วมทำงาน  เนื่องจากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างกลับภูมิลำเนาเดิม ทำให้ขาดแคลนแรงงานในประเทศ  ซึ่งการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย   สถาบันการศึกษาจึงต้องเร่งผลิตบุคลากร และพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเร่งด่วน 

ในบรรดาสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถือเป็นหน่วยงานด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติชั้นนำของไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ   ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2538  โดยมี ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้ง  และผู้อำนวยการ FIBO  คนแรก สถาบันฯ แห่งนี้สร้างบัณฑิตชั้นนำระดับ ป.ตรี-โท-เอก ที่มีความรู้ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตอบโจทย์ความต้องการในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้งานได้จริง ถือเป็นขบวนการสำคัญในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศอย่างยั่งยืน 

จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน ชิต เหล่าวัฒนา  ยังคงมีบทบาทสำคัญที่ FIBO  ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  และยังทำงานควบคู่ในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะ

FIBO สร้างชุดหุ่นยนต์มดบริรักษ์รับมือ COVID-19

แบ่งเบาะภาระแพทย์ – ลดเสี่ยงติดเชื้อ

ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทาง FIBO ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ  ในช่วงแรกได้บุกเบิกและสร้างหุ่นยนต์ FIBO AGAINST COVID-19 FACO ซึ่งต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์” ให้กับระบบหุ่นยนต์ดังกล่าว

โดยหุ่นยนต์ชุดมดบริรักษ์มีด้วยกันทั้งหมด 4 ตัว ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล แพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้ในระยะ 400-500 เมตร ซึ่งมีความสามารถสูงกว่า Radio Controlled แบบทั่วไป นอกจากนี้ยังมีกล้องถ่ายความร้อนเพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้มาก 30 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอลผ่านระบบ 5G แบบ Real Time  2.หุ่นยนต์ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ ปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator และหุ่นยนต์ตัวที่ 3 และ 4 เป็นหุ่นยนต์ Commercial  หุ่นยนต์ตัวนี้ ทีมพัฒนาได้เขียนซอฟต์แวร์ใหม่เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือหุ่นยนต์ตัวที่ 1 และ 2 

“หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราพบว่าระบบการแจ้งเหตุของทางภาครัฐ 1330 มีปัญหา จึงได้เข้าร่วมกับกลุ่มวิศวกรรวมใจต้านภัย COVID-19 และ GISTDA ออกแบบและสร้างแพลตฟอร์มระบบจิตอาสาขึ้นเพื่อช่วยลงข้อมูลการโทรแจ้งเข้ามาขอความช่วยเหลือ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที  ขณะนี้ได้พัฒนาเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 และ 3 นำไปใช้ทั่วประเทศแล้วผ่านทางกระทรวงมหาดไทย”

สำหรับบทบาทของ FIBO ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน  รศ.ดร.ชิต มองว่า  เนื่องจากเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ อาการโดยทั่วไป 80-90% สร้างความเสียหายเพียงแค่ลำคอแต่ไม่ลงไปทำลายถึงปอด  ซึ่ง FIBO ก็กำลังออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เข้าไปช่วยเหลือกรณีนี้เช่นกัน  

 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีความเป็น Mass Production และ Commodity มากขึ้น

ชิต กล่าวว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็น Mass Production และ Commodity  สมัยก่อนสนนราคาตัวละเกือบ 3,000,000 บาท ตอนนี้เหลือประมาณ 800,000 บาท และถ้าผลิตเองจะเหลือประมาณ 200,000-300,000 บาท เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดแล้วหุ่นยนต์จะเป็น Commodity หากต้องการให้ห่วงโซ่คุณค่าอุปทานเกิดขึ้นจะต้องมีแพลตฟอร์มเข้ามาช่วย คือ Data Analytics  ทั้งนี้ราคาของหุ่นยนต์ทางการแพทย์จะมีราคาต่อตัวค่อนข้างสูงเพราะต้องสามารถทำงานที่มีความละเอียด และต้องใส่ความสามารถประสบการณ์ของแพทย์ผู้ที่นำไปใช้งานด้วย  โดยหุ่นยนต์จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ (Medical Assistant Robotics) ไม่ไช่การทำงานแทนบุคลากรทางการแพทย์    

 

มั่นใจอนาคตไทยเป็นที่ 1 ด้าน Medical Care Services

  ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society)  การมีหุ่นยนต์มาช่วยดูแลผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่ดีและทำได้ ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซ้ำซ้อนมากนัก เช่น ระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือฟื้นฟูร่างกาย

“ ประเทศไทยจะเป็นที่ 1 ด้าน Medical Care Services ได้ในอนาคต  ตอนนี้หุ่นยนต์ที่นำมาใช้ดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยในประเทศไทยมักนำเข้าและมีราคาสูงกว่าประมาณ 10 เท่า เมื่อเทียบกับระบบการสร้างขึ้นใช้เอง  เชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะสร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยได้หลากหลายผลิตภัณฑ์หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ และมีการผลิตที่ได้มาตรฐานรับรอง ที่สำคัญต้องเปลี่ยน Mindsets ของคนไทยให้ใช้ของที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น”

 

FIBO – มทร.ภาคตะวันออก – มทส. 

วางระบบ Industry 4.0 ให้ SNC ใน EEC

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนับจากนี้คงไม่เห็นแรงงานจำนวนมากอีกแล้ว เป็นเพราะบริบทที่เปลี่ยนไปในหลายส่วน โดยเฉพาะ COVID-19 ทำให้คนเข้าทำงานในออฟฟิศและโรงงานลดลง จึงต้องหันมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้าไปทดแทนเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น  ในทางกลับกัน COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรม 4.0 เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ FIBO ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการวางระบบอุตสาหกรรม 4.0 ให้กับ บริษัทไทยในพื้นที่  EEC ตัวอย่างเช่น บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ SNC  ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ตลอดจนชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศในรถยนต์ โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เข้าไปช่วยออกแบบและวางระบบ  ส่วน FIBO มีบทบาทในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์  (AI)  และ Data Analytics ตามระดับของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.Automation ในระดับ production floor 2.Data Analytics และ 3.Connected Industry ขณะนี้ SNC อยู่ในระดับ 2 แล้ว ถือว่าเป็นโรงงานที่มีศักยภาพมาก และสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เต็มรูปแบบรายแรกของประเทศไทย  

 

หาก SMEs ไม่เข้าถึงหุ่นยนต์ โอกาสที่ไทยจะไปสู่  Industry 4.0 คงไม่ง่าย  

ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ต้องสามารถเข้าถึงหุ่นยนต์ในราคาที่เหมาะสม   ในพื้นที่ EEC ขณะนี้จัดทำโครงการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงการใช้และนำหุ่นยนต์ไปใช้กับกิจการของตนเองอย่างสมัครใจ ในระยะแรกตั้งใจให้มี SMEs เข้าร่วมโครงการประมาณ 500 แห่ง  สำหรับงานที่เตรียมจะดำเนินการต่อไปคือการหาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ที่ต้องการใช้งานหุ่นยนต์ และมีข้อจำกัดด้านเงินทุน 

“ถ้าไม่สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ประเทศไทยก็ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ไม่ง่าย  ขณะนี้คณะทำงาน EECกำลังเร่งทำงานรับทราบข้อมูล และแนวทางในการช่วยเหลือ SME  เพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป” 

 

หนุนสตาร์ทอัปสร้างหุ่นยนต์ใช้งานเอง และพัฒนาเพื่อจำหน่าย

ชิต  ย้ำว่า ประเทศไทยต้องนำหุ่นยนต์มาใช้งานในภาคการผลิตประมาณ 80% เพื่อกระตุ้น GDP ของประเทศ และต้องสนับสนุนให้มีสตาร์ทอัปในการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นใช้งานเอง และจัดจำหน่ายระดับสากล

“การทำความเข้าใจในสตาร์ทอัปอย่างถูกต้อง  สตาร์ทอัปไม่ใช่งานสัมนาขึ้นเวทีแข่งขันเพื่อให้ได้รับรางวัลสนับสนุน อย่างนั้นไม่ใช่สตาร์ทอัป  เพราะสตาร์ทอัปเป็นออร์แกนิคแบบธรรมชาติ ในต่างประเทศจะมีการรวมกลุ่มขึ้นเป็นสตาร์ทอัป  อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีประสบการณ์ทำธุรกิจไม่ควรจัดหลักสูตรหรือจัดอบรมสร้างสตาร์ทอัพ  แต่สามารถเข้าไปเสริมในทีมของสตาร์ทอัพได้ในส่วนของ Technical Development  โดย 100% ของสตาร์ทอัปในต่างประเทศมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ถือหุ้น แต่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการธุรกิจ 

 

COVID-19  ดันตัวเลขบุคลากรด้านหุ่นยนต์และดิจิทัลใน EEC เพิ่มขึ้น

รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ชิต กล่าวว่า ต้องขอบคุณทาง กสทช อย่างยิ่ง ที่ได้จัดการประมูลคลื่น 5G เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และออโตเมชั่นในประเทศไทยดำเนินไปได้รวดเร็ว เพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยอย่างมาก เช่น การประมูลคลื่น 700 MHz มี Machine Connectivity สูง  สามารถติดตั้งตัวรับสัญญาณ IoT (Internet of Things) ได้นับล้านตัวในพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร 

ในขณะที่คลื่น 2.6 GHz เหมาะสำหรับอุตสาหกรรม Real-time เนื่องจากมีความหน่วง (Latency) ต่ำและคลื่น 26 GHz มีความสำคัญมากในการเชื่อมต่อซัพพลายเชนชิ้นส่วนในแต่ละอุตสาหกรรม ในขณะนี้ประเทศไทยสามารถที่จะประกาศได้ว่าพื้นที่ EEC มีความพร้อม 5G อย่างสมบูรณ์  เพราะผู้ประกอบการเทเลคอมที่ได้รับสิทธิการประมูลได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับคลื่น 5G ครบถ้วนเต็ม 100% ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 สะดวก ง่าย และรวดเร็ว

ที่ผ่านมาในพื้นที่ EEC มีคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาและวิทยาลัยเทคนิคที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก แต่พบว่านักศึกษายังตกงาน เพราะที่ผ่านมาการทำงานของสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเดินขนานกัน ท่านเลขาธิการ EEC ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ได้เสนอแนวคิด Demand Driven การจัดการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงความต้องการ เน้นสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เป็นสำคัญ โดยให้ภาคอุตสาหกรรมตั้งโจทย์ขึ้นมาเป็นหลักสูตรสั้นๆ เพื่อป้อนเข้าสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี อุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรมการบิน โดย EEC วางแผนจะอนุมัติประมาณ 300 หลักสูตร  โดยที่ขณะนี้ทำการอนุมัติแล้ว 160 หลักสูตร

“สำหรับค่าเข้าร่วมพัฒนาบุคลากรในแต่ละหลักสูตรนั้น EEC จะออกค่าใช้จ่ายให้ 50% อีก 50% จะออกใบเสร็จค่าใช้จ่ายให้อุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมสามารถนำ 50% ที่ได้รับไปคูณ 2.5 เท่า หากเสียภาษี Corporate Tax 20% ก็จะได้คืน 25% นั่นคือเมื่อจ่ายเข้าหลักสูตร 100 บาท อุตสาหกรรมจ่ายเพียง 25 บาท นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสสร้างหลักสูตรอบรมเพื่อให้ได้คนที่ตรงความต้องการ” 

“มีการนำเสนอข้อมูลตัวเลขของบุคลากรที่ต้องเตรียมการไว้รองรับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ (10 S-Curve) ต่อประธาน EEC (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จำนวน 475,000 คน ภายในเวลา 5 ปี  เป็นการเตรียมกำลังคนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 50%  และเป็นการสร้างคนในภาคอุตสาหกรรม 50%  หากแบ่งตามระดับการศึกษาจะแบ่งได้เป็นระดับ ปวส. 50% และปริญญาตรี ปริญญาโท 50% ปริญญาเอกบ้าง  และหากมองเฉพาะสาขาหุ่นยนต์กำลังคนที่ต้องเตรียมการภายใน 5 ปี มีจำนวน 40,000 คน” 

“อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น ตัวเลขการเตรียมกำลังคนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ลดน้อยลงไป ส่วนหุ่นยนต์และดิจิทัลมีมากขึ้นเพราะรูปแบบการทำงานเปลี่ยน บางโรงงานอาศัยหุ่นยนต์และแพลตฟอร์มสมัยใหม่รองรับการทำงาน ตัวอย่างโรงงาน SNC คนงานลดลง 30% แต่วิศวกรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะต้องอาศัยความสามารถของวิศวกรทำงานในระบบร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” 

 

ทำความรู้จัก  EEC Automation Park  

มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมอัจฉริยะ

สำหรับ “อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค(EEC Automation Park) ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา  ศูนย์ฯ นี้ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี  ทางผู้บริหารบริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ต้องการทำโมเดลกระบวนการผลิตให้ภาคอุตสาหกรรมศึกษาว่าการจะทำอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะสามารถทำได้อย่างไร เพื่อตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างทักษะแรงงาน สร้างแพลตฟอร์มอย่างเหมาะสม และคุ้มค่ากับการลงทุน  โดยโมเดลกระบวนการผลิตขั้นสูงแบบครบวงจรจะเริ่มตั้งแต่การสั่งสินค้า ผลิตตัวอย่างสินค้า และจัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติ  นอกจากนี้ที่ศูนย์ฯ มีการจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเสริมทักษะด้านดิจิทัล  มีบริการให้คำปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับกระบวนการผลิตที่ทำได้จริง  การช่วยหาแหล่งเงินเพื่อลงทุนจากภาครัฐ และเป็นพื้นที่ทดสอบต้นแบบและนวัตกรรมของ EEC เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์                   

ศูนย์ ฯ แห่งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 150 ล้านบาท แบ่งเป็น บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ให้งบประมาณในการสนับสนุนประมาณกว่า 100  ล้านบาท  EEC ให้งบสนับสนุนประมาณ 20-30 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยบูรพา สนับสนุนประมาณ 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีพาร์ทเนอร์ต่างๆ เข้ามาร่วมทำงานในศูนย์ฯ แห่งนี้มากมายอีกกว่า 30 บริษัท เพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัปและสร้างงานในประเทศไทย

 

หลงใหลหุ่นยนต์ตั้งแต่ยังเด็ก  

สู่การจัดตั้ง  FIBO จุดประกายหุ่นยนต์ให้เยาวชนไทย

ชิต ย้อนรอยว่า ตนเองเป็นเด็กต่างจังหวัด เคยเห็นหุ่นยนต์ในการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ฝันตั้งแต่ยังเด็กว่ามีเพื่อนเป็นหุ่นยนต์ฝังใจมาตลอด  เมื่อสำเร็จการศึกษา ป.ตรี ก็ขอทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่นก่อนเลย 2 ปี เพราะคิดว่าการศึกษาที่นี่จะมีอะไรให้ศึกษามาก การตัดสินใจด้านการเรียนของผมเกิดจากความสนใจของตนเองทั้งสิ้น   ถึงตรงนี้จึงอยากแนะนำผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาสมัครสอบที่ FIBO ต้องเริ่มที่ความชอบของเด็กจริงๆ สานต่อความฝันให้คนรุ่นใหม่

“เมื่อเรียนสำเร็จระดับ  ป.เอก สามารถหางานที่สหรัฐอเมริกาได้ แถมรายได้ดี แต่อาจจะไม่มีคุณค่าเหมือนกับการกลับมาที่ประเทศไทย แม้จะมีความยากลำบากตลอดช่วงระยะเวลาที่วางรากฐานวิทยาการหุ่นยนต์ไทย แต่ก็เกิดดอกผลสู่คนรุ่นต่อมาแล้ว มีการวางแผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สร้าง Incentive Packages ให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และตอนนี้ผมเห็นคนรุ่นใหม่ไปไกลกว่าผมมาก มีเด็กไทยที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีนี้มากพอสมควร ความสามารถของเด็กรุ่นใหม่มีมาก ผมมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้แน่นอน สำหรับสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานคือ ได้รับทราบพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงงานอย่างหนักมาก ผมจึงต้องทำงานหนักให้ได้อย่างน้อย 1 ใน 100 ของพระองค์ท่าน ผมคิดว่าเรื่องที่ทำก็มีอยู่ 3 เรื่อง 1.คือใจมาก่อน 2.เกิดการพัฒนาขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ผมภูมิใจที่สอนแล้วมีอภิชาติศิษย์ที่ไปได้ไกลกว่าอาจารย์  3.มีต้นแบบที่ดี ประเทศไทย เรามีในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงงานเป็นตัวอย่าง พอจะคิดว่าลำบากเมื่อไรก็ดูรูปพระองค์ท่าน ถือเป็นการสร้างพลังอย่างดี”

 

เบื้องหลังความสำเร็จของ FIBO

ชิต เล่าว่า  ช่วงกลับมาทำงานในไทย ลักษณะงานในเมืองไทยจะมีระดับความแตกต่างกับที่ต่างประเทศ เมื่อครั้งที่อยู่สหรัฐอเมริกาผมอยู่ในทีมสร้างหุ่นยนต์ไปดาวอังคาร เมื่อกลับมาประเทศไทยผมทำหุ่นยนต์ให้อุตสาหกรรม บางคนอาจมีคำถามว่าทำไมผมถอยหลัง  แต่ที่จริงแล้วในแง่ของวิทยาการเหมือนกัน การทำหุ่นยนต์ไปดาวอังคารนั้นดูเลิศหรู แต่เราทำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็จะเป็นความรู้สึกอีกแบบ ทำหุ่นยนต์ไปดาวอังคารมีความใหม่ ขณะที่การทำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสมัย 20 ปีก่อนก็มีความใหม่สำหรับประเทศไทยเหมือนกัน  

“เคล็ดลับที่ผมพยายามบอกกับคนทำงานหุ่นยนต์คือ ทำงานกับภาครัฐให้น้อยแต่ทำงานกับภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุดเพื่อเรียนรู้การขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง  ถ้าเราอยู่ในระบบราชการ กฎเกณฑ์บางอย่างอาจเป็นอุปสรรค สมัยที่เริ่มก่อตั้ง FIBO ผมอนุญาตให้เพื่อนร่วมงาน และนักศึกษา เข้ามาทำงานได้ 7 วัน 24 ชั่วโมงไม่มีวันปิด ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยไปรายงานต่ออธิการบดี มจธ. สมัยนั้นคือ รศ.ดร. หริส สูตะบุตร ว่า  FIBO ทำงานเกินเวลา ไฟฟ้าห้องแลปเปิดตลอดเวลา  ท่านอธิการบดีก็บอกว่าผมทำผิดระเบียบ ดังนั้นเราต้องแก้ระเบียบเพื่อให้อาจารย์ชิตทำงานได้  คนอื่นอาจจะไม่โชคดีอย่างผมที่มี ท่านอาจารย์หริส เป็นคนคอยช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเวลาใครชมเชยผมว่าเป็น Founder แห่ง FIBO นั้น ผมจะพูดเสมอว่า ไม่ใช่ผมหรอก อาจารย์หริส เป็นคนสร้าง FIBO เพราะถ้าไม่มีอาจารย์หริส ผมก็สร้าง FIBO ไม่ได้  ปัจจุบันผมพยายามบอกน้อง ๆ บอกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆว่าที่ผ่านมาถ้าเจออะไรไม่ดี ให้แก้เสีย อย่าทำให้คนที่ตามมาเจอปัญหาเดียวกันเหมือนเดิม” 

 

FIBO จัดการเรียนการสอนแบบโมดูล

แหล่งผลิตบุคลากรด้านหุ่นยนต์ชั้นนำของประเทศ

ขณะนี้การเรียนสอนของ FIBO มีทั้ง Online และ On Site โดย On Site  จะเป็นการทำ Workshop  ในช่วงก่อน COVID-19  สิ่งที่หลักสูตร FIBO ทำได้ดี คือ จัดการเรียนการสอนเป็นโมดูล   ในหนึ่งโมดูลจะประกอบด้วย 2-3 วิชา ผู้เรียน จะเห็นประโยชน์ และสามารถเชื่อมโยงความรู้ของแต่ละวิชาได้   ผู้เรียนที่เรียนจบโมดูลหนึ่งแล้วจึงจะไปเรียนโมดูลต่อไปที่ต่อเนื่องกัน  ปัจจุบัน FIBO ผลิตบุคลากรทางด้านหุ่นยนต์ปริญญาตรีปีละ 80 คน ปริญญาโทประมาณ 20 คน และปริญญาเอกประมาณ 10 คน นักศึกษาปริญญาตรีส่วนหนึ่งมีความสนใจเป็นสตาร์ทอัปกันตั้งแต่เรียนปริญญาตรีปี 3 โดยรวมกลุ่มกันพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม

ถ้าอุตสาหกรรมไทยไม่นำหุ่นยนต์มาใช้ก็ตกเทรนด์ หุ่นยนต์ไม่ได้แตกต่างจากเทคโนโลยีอื่น แต่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เป็นไฟลท์บังคับ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วหุ่นยนต์ยังเป็นเทคโนโลยีทางเลือก ผมตัดสินใจทำพื้นฐานไว้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงทำได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)  ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์บังคับจากภายนอกประเทศ แต่ประเทศไทยก็สามารถปรับตัวได้เพราะมีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่ง ”

 

ภูมิใจในความเป็น FIBO 

บรรจงปั้นมากับมือ

ในฐานะผู้ก่อตั้ง และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ FIBO  จนถึงตำแหน่งล่าสุดการเป็นที่ปรึกษาของ FIBO  ส่วนตัว ชิต มีความพึงพอใจที่ได้สร้างบุคลากรในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม  และมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้กับประเทศ  

“ตอนนี้ผมพอใจกับบทบาทของ FIBO ผมบริหารงานในตำแหน่งผู้อำนวยการอยู่สองสมัย  จากนั้นผมลงจากตำแหน่งอย่างไม่ลังเล เพราะต้องการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน และผมยังช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ได้   สำหรับผู้อำนวยการท่านใหม่ที่มาแทนผมคือ รศ.ดร. สยาม เจริญเสียง ทำงานได้ดีมาก ท่านสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับส่วนงานในและนอก มจธ. ทำให้คนรู้จัก FIBO มากขึ้น”

“ถ้าจะให้นิยามตัวเองในเรื่องหุ่นยนต์ ผมคิดว่าผมเป็น Facilitator ทางด้านหุ่นยนต์ ชั่วชีวิตนี้ทำแต่หุ่นยนต์ เพื่อนๆ ที่เรียนจบวิศวกรรมมาด้วยกันบ้างก็ผันตัวไปทำงานด้านอื่นเพราะสิ่งที่เรียนมานั้นไม่ตรงกับงานที่มีขนาดนั้น ผมรู้ว่ามีเด็กไทยที่ชอบเทคโนโลยี ผมก็ยินดีกับการทำหน้าที่ครู ให้ความรู้คำแนะนำกับพวกเขามาโดยตลอดจนถึงวันนี้ วันที่ประเทศไทยมีบุคลากรที่พร้อมทำหุ่นยนต์ได้อย่างต่อเนื่องภายในประเทศได้”  ชิต กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าฟัง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save