“ตุ๊กตาสัตว์แก้บน” หนึ่งในความเชื่อพื้นบ้านที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน ใช้เพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการขอพรเกี่ยวกับโชคลาภ การงาน ความรัก หรือ สุขภาพ หรือใช้เพื่อ “แก้บน” เมื่อสิ่งที่ร้องขอเป็นผลสำเร็จตามที่ได้บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ ในบรรดาตุ๊กตาสัตว์แก้บนที่มีอยู่หลายชนิด ม้าลายถือเป็นสัตว์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์รูปม้าลายขนาดเล็กใหญ่มีผู้นิยมนำไปตั้งถวายไว้ตามศาล และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน “ตุ๊กตาสัตว์แก้บน” ได้สร้างปัญหาด้านภูมิทัศน์ ทั้งภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ ยิ่งกว่านั้นยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 ที่เกิดจากการนำซากตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์จำนวนมหาศาลไปย่อยสลายและทำลายทิ้ง
อิทธิพล พรหมฝาย ผู้จัดการโครงการเพื่อนสวนพฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาข้างต้นถือเป็นแรงบันดาลใจให้ริเริ่มโครงการเพื่อนสวนพฤกษ์ เพราะเรามั่นใจว่าจะต้องมีวิธีที่สามารถเปลี่ยนตุ๊กตาสัตว์เหล่านั้นให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เพิ่มปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามสุขภาพของประชาชนในขณะนี้
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับโครงการเพื่อนสวนพฤกษ์ (Forest Friends Project) และบริษัท เดนท์สุ ครีเอทีฟ ประเทศไทย ได้พัฒนาต้นแบบตุ๊กตาแก้บน “ZERO POLLUTION ZEBRA” ที่พัฒนาจากวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรขึ้นมา
ดร. นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค ให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของ ZERO POLLUTION ZEBRA คือ สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นแร่ธาตุให้ดิน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้ต่อยอดโครงการสู่อุตสาหกรรมการผลิตตุ๊กตาสัตว์แก้บนนี้และสินค้าอื่นๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไปได้
ด้านสุบรรณ โค้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ (Chief Creative Officer) บริษัท เดนท์สุ ครีเอทีฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ZERO POLLUTION ZEBRA ถือเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการถวายเครื่องสักการะให้ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศ ZERO POLLUTION ZEBRA ผลิตจากกระบวนการและเทคโนโลยีที่ใส่ใจกับผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบในการผลิต จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นผลิตภัณฑ์