กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย เปิดตัว “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ โครงการไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA)” ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยลดโลกร้อน แต่เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน สร้างการรับรู้ “ชาวนารักษ์โลก” นำร่องใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน
โครงการไทย ไรซ์ นามา นำร่องใน 6 จังหวัดภาคกลาง ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน
ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน หรือ โครงการไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA)” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 530 ล้านบาท จากรัฐบาลเยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์กและสหภาพยุโรป ผ่านกองทุน NAMA Facility ที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2566
โดยมีพื้นที่นำร่องใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ตั้งเป้าพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน โดยอาศัยเทคโนโลยี 4 อย่าง คือ 1. การปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ให้พื้นที่นาเรียบเสมอกัน2. การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำชลประทานได้กว่าร้อยละ 20-50, การใช้ปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดินที่ใช้เพาะปลูก ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และ 4. การแปรรูปตอซังให้เป็นผลผลิตอื่นทดแทนการเผาทำลายแร่ธาตุบนผิวดินและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ก่อเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่บริเวณศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวไม้ซุง ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกร ทั้งที่เข้าร่วมโครงการแล้วมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวตามเทคนิค เทคโนโลยีของผู้เชี่ยวชาญในโครงการเพื่อให้ผลผลิตข้าวดียิ่งขึ้น
เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต -ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน
Georg Schmidt เอกอัครราชทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงคาดเดาได้ยากทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นกลุ่มแรกๆ ดังนั้นจึงได้มีการริเริ่มโครงการไทย ไรซ์ นามา ขึ้น เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญเรื่องการปลูกข้าวเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ก่อให้เกิดผลประโยชน์องค์รวมแก่เกษตรกรทั้งเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน และเพื่อให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบเชื่อมโยงตลาด รวมถึงการขยายผลในพื้นที่ทำนาของเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
5 เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการไทย ไรซ์ นามา
สุริยัน วิจิตรเลขการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการไทย ไรซ์ นามา ได้วางแผนการบริหารโครงการแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคี โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีร่วมมือกันทำงานให้ผลประโยชน์ทั้งหมดตกแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการอย่างแท้จริง
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ประกอบด้วย 1.เทคนิคการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ ช่วยทำให้หน้าดินเรียบเสมอกัน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถประหยัดค่าสูบน้ำมากถึง 50% 2.เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยให้ระบบรากข้าว การแตกกอ และความสมบูรณ์ของข้าวดีขึ้น ลดการใช้น้ำในการปลูกบริเวณชลประทานถึงร้อยละ 20-50 และลดการใช้เชื้อเพลิงได้กว่าร้อยละ 30, 3. เทคนิคการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ตามชนิดดิน ใส่ปุ๋ยในบริเวณที่ถูกต้องและใส่ปุ๋ยให้ถูกตามจังหวะของการเจริญเติบโตตามหลักวิชาการจะช่วยลดต้นทุนการใช้ปริมาณปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น และรักษาแร่ธาตุในดิน สร้างสมดุลของแร่ธาตุทำให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น ที่สำคัญลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวให้น้อยลง และ5. การจัดการฟางและตอซัง ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรหยุดเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในนาข้าว ลดฝุ่นละอองและหมอกควันที่พัดมากับลม ลดการทำลายธาตุอาหารบริเวณหน้าดินที่ถูกเผาไหม้
นอกจากนี้ฟางและตอซังสามารถเป็นอินทรียวัตถุธาตุอาหารในดินแก่พืช ทั้งธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแทสเซียม และสามารถนำเอาฟางข้าวออกจากแปลงนาเพื่อนำไปอัดเป็นก้อนสำหรับเป็นอาหารสัตว์ได้อีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ของการนำโครงการนี้เข้ามาแนะนำยังมีเกษตรกรที่ไม่มั่นใจแต่เมื่อการทำงานที่มุ่งมั่น นำหลักวิชาการและติดตามผลการทำงานทุก ๆ เดือน สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรในพื้นที่ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี
เงินทุนหมุนเวียนในโครงการไทยไรซ์ นามา
สำหรับเงินทุนที่ได้รับ จะถูกนำมาบริหารจัดการโครงการเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนประมาณ 50%โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับเงินและเป็นผู้จัดการเงินทุนดังกล่าว เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนช่วยเหลือชาวนาและกลุ่มชาวนาที่เข้าร่วมในการนำไปใช้ชำระค่าบริการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ ซึ่งชาวนาที่ได้รับการอนุมัติและเข้าร่วมการใช้เงินทุนจะได้รับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่มีดอกเบี้ยและได้รับการบริการจากผู้ให้บริการมืออาชีพ ส่วนการชำระเงินคืนกองทุนนั้นสามารถผ่อนชำระคืนภายหลังได้ในระยะเวลา 3 ฤดูปลูก เงินทุนหมุนเวียนนี้จะเชื่อมโยงกับสินเชื่อสีเขียวของ ธ.ก.ส. พร้อมให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อเครื่องจักรกลมาใช้ในกิจกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรพึงพอใจในผลผลิต -รายได้เพิ่มขึ้น
วิทย์ หอมยามเย็น หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันทำนา40 ไร่ ข้าวพันธุ์กข43 มีทั้งทำนาปรังและนาปี ก่อนที่จะมาเข้าร่วมโครงการนี้นั้นไม่มีความรู้ในการทำนาตามหลักวิชาการ อาศัยความชำนาญในการทำนาจากประสบการณ์มากกว่า แต่ภายหลังที่เข้าร่วมโครงการมากว่า 3 ปีแล้วนั้นได้รับรู้ข้อมูลการพักดินก่อนลงมือปลูกข้าว การไถปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ราคาไม่แพงแถมได้หน้าดินเรียบ ทำให้ปลูกข้าวสม่ำเสมอกัน รวมทั้งไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งทำให้การทำนามีต้นทุน ส่วนการหันมาใช้สารชีวภาพน้ำหมักชีวภาพตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ อาจจะยุ่งยาก แต่ต้นทุนต่ำช่วยให้ข้าวงอกงามและผลผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดก็จะสามารถขายได้ราคาที่สูง ขณะที่การไถกลบตอซังข้าวเพื่อเพิ่มปุ๋ยในดิน โดยไม่เผาซังข้าวตอข้าว ทำให้แร่ธาตุหน้าดินไม่หายไปและไม่ก่อมลพิษทางอากาศด้วยควันที่เผา
“การที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำสอนและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำนาที่มีผลผลิตที่ดี มีโอกาสต่อรองขายข้าวแก่พ่อค้ามากขึ้นสร้างความสามัคคีในชุมชน มีเงินทุนสำรองไว้ทำนาปรังในช่วงที่ขายข้าวนาปีไม่ได้ราคา ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือเรื่องการเปิด-ปิดน้ำของชลประทานในช่วงเวลาทำนา เนื่องจากปัจจุบันการเปิดน้ำค่อนข้างที่จะน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาไม่เพียงพอ ทำนาไม่ได้ผลผลิตต้องขุดบ่อบาดาลไว้สำหรับสำรองน้ำ เพิ่มค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงขึ้น รวมทั้งช่วยควบคุมราคาข้าวเปลือกให้มีราคาที่สูงขึ้นเพื่อให้ชาวนาอยู่ได้” วิทย์ กล่าว
ด้าน สมใจ คำแผง เกษตรกรอีกรายที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันทำนา 35 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวพันธุ์กข43 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ทางราชการส่งเสริมให้ปลูกแม้จะได้ราคาดี แต่ประสบปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้เพาะปลูกทำนา เนื่องจากชลประทานปล่อยน้ำมาน้อย ไม่เพียงพอต่อการทำนาปีละ2 ครั้ง คือนาปีและนาปรัง อีกทั้งก่อนหน้านี้มีการใช้สารเคมีเยอะเพราะต้องการข้าวที่ออกมาได้ผลผลิตดีแต่ทำลายสุขภาพของคนทำนาให้เจ็บป่วยบ่อย แต่พอมีเจ้าหน้าที่จากโครงการเข้ามาแนะนำในเรื่องการใช้ปุ๋ย ให้หันมาใช้ปุ๋ยจากตอซัง ปุ๋ยจากชีวมวล ทำให้ตอนนี้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงไปกว่า 80% นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแนะนำการใส่ปุ๋ยว่าควรใส่ช่วงเวลาใดถึงจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดี ผลผลิตที่ได้ก็เป็นที่ต้องการของตลาด มีพ่อค้ามาซื้อถึงแปลงปลูกข้าว สร้างรายได้เพิ่มขึ้น